อุ๋ยเรียกร้องก.ล.ต.เข้มปั่นหุ้น


ผู้จัดการรายวัน(13 ตุลาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

“ม.ร.ว.ปรีดิยาธร” ห่วงบริษัทหลักทรัพย์ร่วมมือกับลูกค้าขาใหญ่ตั้งก๊วนปั่นหุ้นยากตรวจสอบ เหตุซับซ้อนกว่าทุจริตกู้เงินแบงก์ เรียกร้องก.ล.ต.ดูแลเข้ม “ธีระชัย” ยันถ้าตรวจพบผิดจะเล่นงานไม่ไว้หน้า ขณะที่สินเชื่อบุคคลหลอกลวงลูกค้าระบาดหนัก ธปท.ฮึ่มจัดการเด็ดขาด ด้านโครงการประชานิยมใหม่แก้หนี้ภาคประชาชนได้ข้อสรุปตัดหนี้บัตรเครดิตออก คลังเรียกสมาคมแบงก์ถกวันนี้

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวในงาน สัมมนา เรื่อง “แนวทางพัฒนามาตรการบังคับใช้กฎหมายสถาบันการเงิน” ซึ่งธปท.ร่วมกับสถาบันกฎหมายอาญา สำนักงานอัยการสูงสุด จัดขึ้น ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ วานนี้(12 ต.ค.) ว่า เป็นห่วงการตรวจสอบทุจริตที่เกี่ยวข้องกับบริษัทหลักทรัพย์(บล.)ซึ่งร่วมมือกับลูกค้าสร้างราคาหุ้นหรือเป็นหัวเรือใหญ่ในการปั่นหุ้น เช่น บล.ศรีมิตรที่เกิดขึ้นในอดีต หรือ บางรายในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินจัดทำใบเสนอขายหุ้นในการเสนอขายหลักทรัพย์ โดยเสนอข้อมูลของบริษัทลูกค้าที่ดีเกินความเป็นจริง เพื่อดันราคาหุ้นที่เสนอขายต่อประชาชนให้สูงขึ้น เป็นการเอาเปรียบนักลงทุนให้ได้รับหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าต่ำกว่าความเป็นจริง

ทั้งนี้ การกระทำความผิดของบล.มีขั้นตอนซับซ้อนกว่าการทุจริตจากการกู้เงินธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์( ก.ล.ต.)ที่จะต้องเข้ามาตรวจสอบ แต่การกระทำส่วนหนึ่งจะผ่านระบบธนาคารพาณิชย์ ธปท.จึงอยากจะประสานก.ล.ต.ในเรื่องนี้

สำหรับในการกำกับดูแลสถาบันการเงิน ผู้ว่าการธปท. ระบุว่า ช่วงจากนี้ หาก ธปท.ตรวจพบพฤติกรรมการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินที่มีเจตนาส่อไปในทางทุจริต หรือหาประโยชน์ให้กับตนเองหรือผู้อื่นก็จะดำเนินการฟ้องร้องทางคดีกับผู้บริหารสถาบันการเงินนั้นทันทีโดยจะไม่รอให้เกิดปัญหาหนี้เสียหรือติดตามหนี้ไม่ได้ แล้วค่อยดำเนินการฟ้องร้องเหมือนในอดีตที่ผ่านมา เพราะหากรอเวลา ความเสียหายอาจมีมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า การดำเนินการดังกล่าวสร้างความยากลำบากในการกล่าวโทษให้ตำรวจและอัยการมากขึ้น

“การพิจารณาว่าผิดหรือไม่จะดูจากการปล่อยสินเชื่อครั้งแรกว่ามีเจตนาเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่นหรือไม่ ถ้าใช่ก็ถือว่าผิดแม้ว่าจะได้เงินคืนก็ตาม”

วัตถุประสงค์ในการสัมมนาครั้งนี้ ธปท.จะประสานความร่วมมือกับสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันในการตีความกฎหมาย เพื่ออุดช่องโหว่หลังจากที่คดีที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินหลายคดีที่ยกฟ้อง ซึ่งคาดว่าผลในการสัมมนาจะนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ครอบคลุม และเท่าทันต่อการทุจริตที่มีกระบวนการซับซ้อน เพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรมโดยอยากให้อัยการมองในเรื่องการเอาเปรียบสังคม และการหาประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้องมากกว่าการกระทำความผิดตามข้อเท็จจริงที่ระบุในกฎหมาย

ขณะที่นายวีระชาติ ศรีบุญมา ผู้อำนวยการฝ่ายคดี กล่าวสรุปว่า ขณะนี้คดีที่ ธปท.ฟ้องร้องกล่าวโทษผู้บริหารสถาบันการเงินยังเหลืออยู่ทั้งสิ้น 39 คดี มูลหนี้จำนวนรวม 53,346.69 ล้านบาท

ก.ล.ต.เชียร์แบงก์ชาติ

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า เห็นด้วยกับผู้ว่าการธปท.ที่ต้องเข้มงวดการปั่นหุ้น เพราะ ธุรกรรมในตลาดทุนมีความซับซ้อนกว่าการกู้ยืมเงินของธนาคารพาณิชย์มาก มีผู้ที่ได้รับและเสียประโยชน์จากการขึ้นลงของราคาหุ้น ทั้งทางตรงและทางอ้อมจำนวนมาก

“หากพบว่า มีการกระทำความผิด ก.ล.ต. จะดำเนินการทันที อย่างเข้มงวด เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ”เลขาธิการก.ล.ต.ยืนยัน

แก้หนี้สรุปตัดหนี้บัตรเครดิต

ด้าน นายบุญศักดิ์ เจียมปรีชา อธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะประธาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชน ว่า ขณะนี้ คณะทำงานของกระทรวงการคลัง ได้สรุปกรอบการแก้ไขปัญหาหนี้ไว้เรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยในรายละเอียดได้ เพราะต้องรอหารือกับทางสถาบันการเงินเจ้าหน้าก่อน อย่างไรก็ตาม แนวทางที่ได้วางไว้ จะเป็นเกณฑ์กลางที่ธนาคารทุกแห่งจะต้องถือปฏิบัติเหมือนกัน โดยในช่วงบ่ายของวันนี้(13 ต.ค.) จะนำสมาคมธนาคารไทย เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อสรุปในรายละเอียดทั้งหมด

สำหรับกรอบในการแก้ไขปัญหา จะยังอยู่ในกรอบเดิม คือ เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)ที่อยู่ระหว่างการฟ้องร้อง ดำเนินคดี ที่เป็นสินเชื่อส่วนบุคคล มูลหนี้ไม่เกิน 200,000 บาท ซึ่งมีลูกหนี้อยู่ทั้งหมดประมาณ 100,000 ราย มูลหนี้เงินต้นรวม 7,000 ล้านบาท โดยจะตัดดอกเบี้ยค้างชำระตามกฎหมายจำนวน 20,000 ล้านบาททั้งหมด ขอลดเงินต้นเหลือ 50% และให้ลูกหนี้ผ่อนชำระให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน อย่างไรก็ตามจะต้องหารือในรายละเอียดกับธนาคารอีกครั้ง เช่น เรื่องสัดส่วนเงินต้นที่ขอลด หรือระยะเวลาการผ่อนชำระที่อาจจะมีการขยายมากกว่า 6 เดือน ตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ เป็นต้น

ส่วนหนี้ บัตรเครดิต จะไม่รวมอยู่ในโครงการแก้หนี้ในครั้งนี้ เพราะหลักการค่อนข้างชัดแล้วว่า จะแก้ไขเฉพาะหนี้ส่วนบุคคลที่เกิดขึ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจ แต่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือดูแล

นายบุญศักดิ์ กล่าวว่า หลังจากได้ข้อสรุปที่ชัดเจนแล้ว ประชาชน จะไม่สับสนกับวิธีการปฏิบัติ เพราะจะกำหนดชัดเจน เช่น ระยะเวลาที่จะให้มาลงทะเบียน หรือ เงื่อนไขในการผ่อนชำระหนี้ และยืนยันว่าการแก้ไขปัญหาในครั้งนี้ จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาพฤติกรรมการเบี้ยวหนี้ เพราะจะเป็นการแก้ไขปัญหาครั้งเดียว ซึ่งตัดหนี้เอ็นพีแอล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2548 จะไม่มีการแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.