ปี พ.ศ.2534 นี้ ศจ.ยุกต์ ณ ถลาง ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตหมายเลขหนึ่งก็จะล้างมือในอ่างทองคำขณะที่มีอายุ
78 ปี เหลือไว้แต่ตำแหน่งประธานกรรมการเอสจีวีกร๊ปเท่านั้น แต่งานบริหารส่วนใหญ่ได้วางมือสิ้นเชิงให้กับประธานกรรมการบริหารคนใหม่ชื่อ
มาริษ สมารัมภ์ ผู้บริหารหนุ่มไฟแรงพร้อมกับทีมงานบริหารซึ่งเป็นศิษย์ก้นกุฏิดูแล
"เอสจีวีกรุ๊ป" สำนักงานสอบบัญชีและที่ปรึกษาธุรกิจเก่าแก่อายุ
24 ปีแห่งนี้
"การแต่งตั้งผู้บริหารใหม่ในครั้งนี้ก็เพื่อให้สอดคล้องกับการเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มสำนักงาน
อาร์เธอร์ แอนเดอร์เซ่นซึ่งเป็นสำนักงานให้บริการด้านวิชาชีพสอบบัญชีและปรึกษาธุรกิจระดับโลก
ซึ่งจะทำให้สำนักงานสามารถขยายบริการใหม่ได้เหมาะสม" ศจ.ยุกต์เล่าให้ฟัง
เมื่อ 6 ปีที่แล้วนับตั้งแต่ที่เอสจีวีได้เข้าเป็นสมาชิกในกลุ่มอาเธอร์
แอนเดอร์เซ่น ทิศทางการปรับขายแนวธุรกิจที่แตกตัวจากการเป็นสำนักงานตรวจสอบบัญชีเอสจีวีได้เกิดขึ้นชัดเจนในปีนี้
เป็นบริการที่ปรึกษาด้านภาษีอากร เทคโนโลยี การสรรหาผู้บริหารเข้าลักษณะบริการครบวงจรแบบยิงนกหลายตัวด้วยกระสุนนัดเดียว
"หลังจากนั้นเมื่อเราเริ่มต้นศึกษาโครงการให้ลูกค้าแล้วเขาตัดสินใจมาลงทุน
ทางเราก็จะส่งต่อให้คุณนิกร์กานต์รับจดทะเบียนบริษัท และถ้าหากเขาต้องการวางระบบบัญชีเข้ากับกฏหมายไทยก็จะส่งงานนี้ต่อไปให้คุณธวัช
รวมทั้งให้คำปรึกษาเกี่ยวกับธุรกิจหรือจัดหาคนให้เขา ในขั้นต่อไปถ้าเขาจะเข้าตลาดหุ้น
เราก็ทำคำร้องตามกฏระเบียบของตลาด ฯ ได้หรือจะขอส่งเสริมจากบีโอไอเราก็ทำให้ได้"
นี่คือบริการที่ศจ.ยุกต์เล่าให้ฟัง
แนวโน้มของการให้คำปรึกษาเชิงธุรกิจเช่นว่านี้ได้เกิดขึ้นเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา
โดยอาเธอร์ แอนเดอร์เซ่นซึ่งจัดว่าเป็นยักษ์ใหญ่หนึ่งในหกของโลกและมีกิจการสำนักงานสอบบัญชี-ที่ปรึกษาธุรกิจทั่วโลก
50 แห่ง ปีที่แล้วสามารถทำรายได้จากกลยุทธ์การดำเนินงานนี้ประมาณ 104 พันล้านบาท
การเข้ามาร่วมกับเอสจีวีในไทยเป็นการเพิ่มความแข็งแกร่งด้านมาตรฐานบริการและผลประโยชน์ให้กับเอสจีวีอย่างมาก
ประการแรก อาเธอร์ แอนเดอร์เซ่นมีความเป็นเลิศในเรื่อง Information system
หรือเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก เอสจีวีสามารถใช้จุดเด่นบริการด้านนี้ขยายกิจการบริษํทให้ครอบคลุมกว้างขวางขึ้นได้
"เรามีซอฟท์แวร์แมคแพค-ของอาเธอร์ แอนเดอร์เซ่นที่นำมาดัดแปลงให้เข้ากับความต้องการของลูกค้า
อย่างเช่นเราทำให้กับลีเวอร์บราเธอร์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการผลิตตั้งแต่นำเข้าวัตถุดิบค่าแรง
โสหุ้ยต่าง ๆ จะได้ข้อมูลที่ทันสมัยและรวดเร็วมาก เหมาะสำหรับการบริหารและการตัดสินใจ"
ศจ.ยุกต์ เน้นถคงบทบาทของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ในข้อมูลที่จำเป็นและมีประสิทธิภาพ
ประการที่สอง-เอสจีวีสามารถใช้ลักษณะ NETWORK WORLDWIDE ของอาเธอร์ แอนเดอร์เซ่นที่มีผู้เชี่ยวชาญและข้อมูลอยู่ทั่วโลก
50 แห่ง เกื้อหนุนการให้บริการคำปรึกษาแก่ลูกค้าที่เป็นนักลงทุนไทยหรือนักลงทุนต่างประเทศได้กว้างขวาง
"สมมุตว่าลูกค้าคนไทย เช่น แบงก์พาณิชย์ที่อยากจะขยายไปเปิดสาขาหรือสำนักงานตัวแทนแบงก์ที่ยุโรปตะวันออก
เราก็มีสำนักงานอยู่ที่บรัสเซลส์และที่อื่นอีก 12 ประเทศ บริการคำปรึกษาให้เขาหรือจุไปลงทุนเมืองจีนก็เช่นเดียวกัน
เรามีข้อมูลและผู้เชี่ยวชาญพร้อม" ศจ.ยุกต์เล่าให้ฟังถึงเครือข่ายที่ให้บริการรอบโลกของอาเธอร์แอนเดอร์เซ่น
นอกจากนี้การเป็น MEMBER FIRM ของอาเธอร์ แอนด์เดอร์เซ่นยังนำมาซึ่งลูกค้าที่เป็นบริษัทข้ามชาติ
(MULTINATIONAL) อีกด้วย เช่น คาลเท็กซ์ แบงก์มิตซุยและแบงก์อเมริกา การได้ทำงานตวจสอบบัญชีที่มีมาตรฐานระดับโลกก็จะเป็นการช่วยพัฒนาคนของเอสจีวีกรุ๊ปได้ในเวลาเดียวกัน
"ผมส่งคนไปเรียนและทำงานตรวจสอบบัญชีที่เมืองนอกเช่นผมส่ง สมคิด เตียตระกูลไปทำงานที่โอกลาโฮมาเพื่อให้เขาซาบซึ้งกับการทำงานด้านแก๊สกับน้ำมัน
หรือธีระพงษ์ แก้วรัตนปัทมาไปทำงานแบงก์ที่นิวยอร์ก นอกจากนั้นยังส่งประสิทธิ์
มุสิกพันธุ์ไปออสเตรเลียและคนอื่น ๆ เช่นประภาศรีไปทำงานที่ญี่ปุ่น เพื่อเขาจะได้มีประสบการณ์กว้างขึ้น
นี่เป็นค่าใช้จ่ายที่ผมถือว่าเป็นการลงทุนเพื่ออนาคร" ศจ.ยุกต์เล่าให้ฟัง
และประการสุดท้ายในฐานะเอสจีวีกรุ๊ปเป็นยักษ์เล็กแห่งภูมิภาคเอเซียที่มีสำนักงานบัญชีระหว่างประเทศใน
10 บริษัทได้แก่สำนักงานที่ฟิลิปปินส์ ไทย ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลี
ศรีลังกา มาเลเซีย อินโดนีเซียและบูรไนเอสจีวีรู้จักตลาดและปกครองคนในภูมิภาคนี้ได้ดีกว่า
ซึ่งเสริมให้อาเธอร์ แอนเดอร์เซ่นขยายตลาดในภูมิภาคเอเซียได้กว้างขวางขึ้น
ในประเทศไทย เอสจีวีกรุ๊ปมีด้วยกัน 4 บริษัท โดยแต่ละบริษัทมีสี่ขุนพลหนุ่มที่
ศจ.ยุกต์ได้วางใจตั้งให้เป็นผู้บริหารชุดใหม่นี้ ประกอบด้วยธวัช ภูษิตโภยไคยเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท
สำนักงาน เอส-จีวี-ณ ถลาง ธวัชเป็นผู้สอบบัญชีรุ่นบุกเบิกทำงานกับศจ.ยุกต์มาไม่ต่ำกว่า
23 ปี มีผลงานเป็นที่ปรากฏมากมาย โดยเฉพาะในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
เอสจีวี ณ ถลางมีลูกค้าระดับใหญ่ที่ใช้บริการมากถึง 38 ราย
ขุนพลคนที่สองคือ นิกร์กานต์ สุจริตเวสส์ ได้เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท
SGV-N TAX & CORPORATION SERVICE ไม่ว่าจะเป็นการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับภาษีอากรและกฎหมายธุรกิจ
จดทะเบียนตั้งบริษัทหรือขอบัตรส่งเสริมการลงทุนสำหรับบริษัทต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยหรือคนไทยที่ไปลงทุนต่างประเทศ
คนที่สามก็คือเกียรติศักดิ์ โอสถศิลป์ ลูกหม้อเก่าที่ทำงานให้ ศจ.ยุกต์ไม่ต่ำกว่า
20 ปีก็ได้ถูกวางตัวเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท SGV-N ARTHUR ANDERSEN CONSULTING
ที่เน้นเป็นที่ปรึกษาวางแผนจัดระบบการบริหารด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (INFORMATION
SYSTEM)
และผู้บริหารคนที่สี่ก็คือ JESS BALLESTEROS ผู้บริหารชาวฟิลิปปินส์ที่ดูแลกิจการบริษัทด้านจัดหาบุคลากรระดับสูงให้แก่องค์กรธุรกิจทั่งในและนอกประเทศภายใต้ชื่อว่าบริษัทSGV
EXECUTIVE RECRUITMENT SERVICES
ประธานกรรมการบริหารคนใหม่ (CHAIRMAN OF EXECUTIVE BOARD) ที่เพิ่งจะเริ่มเกิดขึ้นปีนี้เพื่อรองรับการบริหารงานในช่วงเวลาต่อไปของเอสจีวีกรุ๊ปก็คือ
มาริษ สมารัมภ์ ลูกหม้อเก่าแก่ที่ทำงานกับศจ.ยุกต์ 23 ปีตั้งแต่รุ่นบุกเบิกตั้งบริษัทสำนักงาน
เอสจีวี ณ ถลางยุคต้น ๆ ทีเดียว มาริษ หรือเรียกสั้น ๆว่า "มาร์"
นอกจากเป็นประธานคณะกรรมการบริหารทำหน้าที่ประสานงานในกรรมการบริหารที่มีอยู่
5 คนแล้ว มาริษยังต้องควบตำแหน่งรองประธานเอสจีวีกรุ๊ป 4 บริษัทนี้ด้วย โดยมีศจ.ยุกต์เป็นประธานกรรมการ
โครงสร้างคณะกรรมการบริษัทจะมีอยู่สองบอร์ด คือ บอร์ดใหญ่ประกอบด้วยกรรมการ
15 คนซึ่งมีศจ.ยุกต์ ณ ถลางเป็นประธานบอร์ดใหญ่นี้แหละในปลายปี 2533 เพิ่งจะมีการประกาศ
EXECUTIVE BOARD ซึ่งมีมาริษ สมารัมภ์เป็นประธานกรรมการชุดนี้เอง
"การบริหารสี่บริษัทนี้จะมี EXECUTIVE BOARD โดยมีคุณมาร์เป็นประธานและมีกรรมการบริหาร
5 คนคือคุณธวัช นิกส์ เกียรติศักดิ์ JESS และผมด้วย นโยบายทั้งหลายจะต้องเข้าบอร์ดนี้โดยโยงการตัดสินใจของคณะกรรมการบริหารทั้งสี่บริษัทเข้าด้วยกัน"
ศจ.ยุกต์เล่าถึงการปรับโครงสร้างที่มีลักษณะ POOL สี่บริษัทขึ้นมาเพื่อรองรับสถานการณ์การแข่งขันที่ให้บริการแก่ลูกค้าได้ดีขึ้น
"นโยบายการบริหารงานคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ ก็เหมือนชุดเดิม เราเชื่อว่าการทำงานของเราต้องได้มาตรฐานวิชาชีพนั้น
ๆ ทั้งมาตรฐานต่างประเทศและในไทยและทำงานได้โดยอิสระเที่ยวธรรม ไม่เข้าใครออกใคร"
ศจ.ยุกต์เล่าถึงปรัชญาการบริหารงานของกลุ่มเอสจีวี
ช่วงเวลาต่อไปของเอสจีวีกรุ๊ปคือการขยายสำนักงานสาขาภายในประเทศไทยให้เพิ่มมากขึ้น
ตามการเติบโตของภาวะเศรษฐกิจ และการลงทุนที่เกิดขึ้นมากตามภูมิภาคต่าง ๆ
ของไทย โดยเฉพาะโครงการแถบชายฝังทะเลภาคตะวันออก (EASTERN SEABOARD PROJECT)
เช่นแหลมฉบัง มาบตาพุด เป็นต้น
"ต่อไป เรากำลังจะพิจารณาว่าจะไปเปิดสาขาที่ระบองตามโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดซึ่งมีโครงการใหญ่เช่นอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
ขณะนี้เราก็ทำให้กับบริษัทปิโตรเคมีแห่งชาติ การไปเปิดสาขาที่นั่นก็เพื่อจะได้ใกล้ชิดลูกค้ามากขึ้น
"ศจ.ยุกต์เปิดเผยการขยายตัวในอนาคตของเอสจีวีกรุ๊ปซึ่งปัจจุบันมีสองสาขาคือเอสจีวีที่เชียงใหม่และเอสจีวีที่หาดใหญ่
"การที่เราเป็น MEMBER FIRM ของอาเธอร์ แอนเดอร์เซ่น ทำให้เราได้ประโยชน์ถ้าหากว่าในเมืองไทยเราจะใช้ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม
ซึ่งเป็นระบบเดียวกับที่อาเธอร์ แอนเดอร์เซ่น เคยทำให้แล้วที่นิวซีแลนด์
เราก็จะเสนอตัวไปว่าเอสจีวี ณ ถลางกับอาเธอร์ แอนเดอร์เซ่นคอนซัลติ้งจะรับทำงานนี้ให้
ซึ่งดีกว่าที่เขาจะไปปรับปรุงระบบเองโดยต้องเสียค่าใช้จ่ายและเสียเวลานาน"
ศจ.ยุกต์ ณ ถลาง ได้เปรียบให้ฟังถึงการวางระบบ TURNKEY ของระบบบัญชีภาษีมูลค่าเพิ่มที่ทางนี้มีผู้เชี่ยวชาญ
บัดนี้ศจ.ยุกต์ ณ ถลาง คนนี้ต้องอยู่ในฐานะผู้ใหญ่ที่เป็นที่ปรึกษาผู้ยิ่งใหญ่แห่งเอสจีวีกรุ๊ป
หลังจากได้ประสบความสำเร็จในการสร้างฐานรากเกี่ยวกับคนและวิชาชีพทางธุรกิจตรวจสอบบัญชีในประเทศไทยมาตลอด
และก้าวใหม่ของเอสจีวีในอนาคตที่มีอาเธอร์ แอนเดอร์เซ่นก็จะมีวิวัฒนาการที่กว้างไกลสู่มาตรฐานระดับโลก