|

MFCตั้งกองทุนคันทรีฟันด์ ดึงเงินนอกลุยเมกะโปรเจกต์
ผู้จัดการรายวัน(12 ตุลาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
เอ็มเอฟซีเตรียมคลอดคันทรีฟันด์ 2 กอง ระดมทุนจากต่างประเทศลุยเมกะโปรเจกต์ ประเดิม "กองทุนไทยแลนด์ อินฟราสตรัคเจอร์ฟันด์" มูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาท ระดมเงินลงทุนจากตะวันออกกลางและยุโรป ร่วมลงทุนในโครงการยักษ์และหุ้น ไอพีโอรัฐวิสาหกิจ เผยอนาคต เตรียมออกกองทุนแมทชิ่งฟันด์ระดมเงินทั้งไทยและเทศเป็นกองต่อไป หนุนรัฐตั้ง "ซูเปอร์โฮลดิ้ง" คุมการบริหารจัดการทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพ
นายพิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFC กล่าวว่า สำหรับกองทุนไทยแลนด์อินฟราสตรัคเจอร์ฟันด์ (Thailand Inflastructure Fund) มูลค่าโครงการ 1.5 หมื่น ล้านบาท ที่ได้รับการอนุมัติไฟลิ่ง จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับ หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ไปแล้วนั้น เป็นกองทุน ประเภทคันทรีฟันด์ที่ระดมทุนจากต่างประเทศ เพื่อนำเงินที่ระดมทุนมาได้ไปลงทุนในโครง- การสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) ของรัฐบาล รวมทั้งการลงทุนหุ้นไอพีโอของรัฐวิสาหกิจที่จะเข้าไปจดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วย
ทั้งนี้ กองทุนดังกล่าวจะเน้นการระดมทุนในประเทศแถบตะวันออกกลางเป็นหลัก รวมถึงประเทศในแถบยุโรปด้วย ซึ่งจากการเดินทางไปโรดโชว์ในประเทศแถบตะวันออกกลางในช่วงที่ผ่านมา ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างดี ส่วนจะระดมทุนในช่วงใดนั้น คงต้องรอดูความชัดเจนของโครงการเมกะโปรเจกต์อีกครั้งทั้งในเรื่องของนโยบาย และการเริ่มต้นการลงทุน
"กองทุนไทยแลนด์อินฟราสตรัคเจอร์ฟันด์ จะเน้นลงทุนในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน ของประเทศ ซึ่งจะเป็นการช่วยพัฒนาประเทศอีกทาง หนึ่งด้วย นอกจากนี้ ยังลงทุนในหุ้นไอพีโอของรัฐวิสาหกิจ ที่กำลังจะเข้าจดทะเบียนด้วย" นายพิชิต กล่าว
สำหรับกองทุนไทยแลนด์อินฟราสตรัคเจอร์ฟันด์ เป็นกองทุนที่จัดตั้งเพื่อส่งเสริมการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศซึ่งมีความเชื่อมั่นในพื้นฐานเศรษฐกิจและต้องการลงทุนในตราสารทางการเงินใน ประเทศโดยกองทุนอาจลงทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์หรือลงทุนโดยตรงกับบริษัท โดยจะเน้นการลงทุนในบริษัทที่มีปัจจัยพื้นฐานดีและมีแนวโน้มการเจริญเติบโตสูง รวมทั้งลงทุนในตราสารทางการเงินที่ให้ผลตอบแทนสูงเพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีแก่กองทุนและกระจายความเสี่ยงให้อยู่ในระดับเหมะสม
ส่วนนโยบายการลงทุนของกองทุนเปิดไทยแลนด์อินฟราสตรัคเจอร์ฟันด์ จะกระจายเงินลงทุนในตราสารทุน ตราสารหนี้ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน หรือเงินฝากตลอดจนหลักทรัพย์และทรัพย์สินอื่นหรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่นที่สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.กำหนด โดยสัดส่วนการลงทุนในตราสารทุนตั้งแต่ 0% ถึง 100% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของ กองทุน
ทั้งนี้ การลงทุนในหลักทรัพย์ของกองทุนจะเน้นลงทุนในหลักทรัพย์ของกิจการที่มีปัจจัยพื้นฐาน ดีและมีแนวโน้มการเติบโตสูงทั้งบริษัทจดทะเบียนและไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งลงทุนในตราสารทางการเงินที่ให้ผลตอบแทนสูงโดยกองทุนอาจซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ซื้อในช่วงเวลาการเสนอขายครั้งแรกหรือลงทุนโดยตรงกับบริษัทนั้นๆ
อย่างไรก็ตาม นอกจากกองทุนไทยแลนด์ อินฟราสตรัคเจอร์ฟันด์ที่ระดมทุนเพื่อมาลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์แล้ว บริษัทยังมีแผนจัดตั้งกองทุนแมทชิ่งฟันด์ ซึ่งเป็นการระดมเม็ดเงินจากนักลงทุนไทยผสมกับนักลงทุนต่างชาติ โดยมีนโยบายลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่ากองทุนดังกล่าวจะมีมูลค่าโครงการเท่าใด
ปัจจุบันเอ็มเอฟซีมีกองทุนคันทรี่ฟันด์ทั้งหมด 7 กอง มูลค่ารวมกันประมาณ 2 หมื่นล้านบาท โดย แบ่งเป็นกองทุนที่ระดมเงินจากยุโรป 2 กองทุน จาก ญี่ปุ่น 2 กองทุน จากฮ่องกง 2 กองทุน และจากอเมริกา 1 กองทุน โดยบริษัทมีแผนเพิ่มจำนวนกองทุนประเภทนี้เพิ่มขึ้นในอนาคต
สำหรับความคืบหน้าการจัดตั้งกองทุนซูคุก (SUKUK) ซึ่งเป็นกองทุนที่ลงทุนตามหลักศาสนาอิสลาม นายพิชิต กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้าจะเข้าไปหารือกับเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต.อีกครั้ง หลังจาก ที่การจัดตั้งกองทุนดังกล่าวยังไม่ได้รับความเห็นชอบ จากก.ล.ต. ซึ่งในการหารือครั้งนี้ คาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปว่าจะสามารถจัดตั้งกองทุนดังกล่าวได้หรือไม่
นายพิชิต กล่าวถึงแนวทางการจัดตั้งบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติหรือซูเปอร์โฮลดิ้งของกระทรวงการคลังว่า เป็นแนวคิดที่ดีในการบริหารจัดการทรัพย์สินของรัฐบาลที่มีอยู่เดิมให้เกิดประโยชน์สูงสุด จากเดิมที่ปล่อยทิ้งไว้อย่างเดียว ซึ่งการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าว จะช่วยให้รัฐวิสาหกิจเองวิ่งไปข้างหน้าได้เร็วขึ้น
ทั้งนี้ รูปแบบของการจัดตั้งเป็นซูเปอร์โฮลดิ้ง นั้น จะแยกตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจของแต่ละรัฐวิสาหกิจ เช่น พลังงาน คมนาคม การขนส่ง การเงิน โดยที่จะมีซูเปอร์โฮลดิ้งเป็นผู้ควบคุมอีกครั้ง ส่วนจะ เลือกมาเฉพาะรัฐวิสาหกิจเชิงพาณิชย์หรือเป็นรัฐวิสาหกิจ ที่ทำกำไรหรือไม่นั้น ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนดังกล่าว
สำหรับทรัพย์สินที่จะครอบคลุมถึงการบริหารจัดการของซูเปอร์โฮลดิ้ง จะเป็นทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจทั้งหมดเช่น ที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ หลักทรัพย์ รวมทั้งทรัพย์สินอื่นๆด้วย ซึ่งในส่วนของ การบริหารจัดการทรัพย์สินที่เป็นที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างนั้น ในกรอบทางกระทรวงการคลังคงจะให้ทาง กรมธนารักษ์เป็นผู้ดูแล
ส่วนทรัพย์สินที่เป็นหลักทรัพย์ซึ่งรัฐวิสาหกิจมีอยู่ ก็จะให้ซูเปอร์โฮลดิ้ง เป็นผู้ดูแลทั้งหมด โดยรวมไปถึงหลักทรัพย์ที่รัฐวิสาหกิจถืออยู่ และหลักทรัพย์ที่ไม่ได้ถือโดยรัฐวิสาหกิจด้วย ส่วนรัฐวิสาหกิจ ที่จะเข้ามาอยู่ภายใต้ซูเปอร์โฮลดิ้งนั้น ในเบื้องต้นคาดว่าน่าจะมีประมาณ 10 บริษัท จาก 60 กว่าบริษัท ทั้งที่จดทะเบียนและไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งในการนำรัฐวิสาหกิจเข้ามาคงจะเริ่มต้นจากเล็กไปก่อน แล้วค่อยทยอยเข้ามาเพื่อให้มีขนาด ใหญ่ขึ้น โดยในการบริหารจัดการซูเปอร์โฮลดิ้ง คง จะมีการนำหลักการสมัยใหม่เข้ามาใช้ในลักษณะที่ บริษัทเอกชนใช้อยู่
นายพิชิต กล่าวว่า สำหรับความมุ่งหวังของรัฐบาลที่จะได้จากการจัดตั้งซูเปอร์ โฮลดิ้งนั้น คือ การ ได้มาซึ่งผลตอบแทนในรูปของเงินมากขึ้น รวมทั้งลด ภาระด้านการคลังของรัฐบาล ในขณะที่รัฐวิสาหกิจเองก็สามารถสร้างผลตอบแทนทางสังคมได้อีกทาง ซึ่ง ในการบริหารจัดการ เข้าใจว่าอนาคตจะใช้รูปแบบการแต่งตั้งคณะกรรมการในการดูแลรัฐวิสาหกิจโดยการใช้พื้นฐานด้านคุณสมบัติเป็นหลัก โดยจะลดการแทรกแซงทางการเมืองลง
นอกจากนี้ ยังจะมีการแบ่งแยกงบออกเป็นสัดส่วน โดยแยกเป็นบัญชีทางธุรกิจ และบัญชีทางสังคมออกจากกันอย่างชัดเจน ซึ่งจะทำให้เรื่องการสนับสนุนจากภาครัฐสามารถวัดได้อย่างชัดเจน และรวมไปถึงการวัดประสิทธิภาพการบริหารจัดการของรัฐวิสาหกิจด้วย
"การจัดตั้งซูเปอร์โฮลดิ้งมีผลดีในแง่คุณภาพ ของรัฐวิสาหกิจ และส่งผลดีต่อประชาชนผู้รับบริการ ขณะที่ภาครัฐก็ส่งผลดีในแง่การลดภาระทางการคลัง ซึ่งรัฐเองก็สามารถใช้รัฐวิสาหกิจให้เป็น ประโยชน์เชิงสังคมด้วย"นายพิชิตกล่าว
สำหรับกองทุนวายุภักษ์ที่ร่างกฎหมายครอบ คลุมไปด้วยนั้น นายพิชิตกล่าวว่า เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะรวมเข้าไปในการบริการจัดการของซูเปอร์โฮลดิ้งด้วย ซึ่งปัจจุบันกองทุนวายุภักษ์เองมีผู้ดูแลโดยสำนักวายุภักษ์อยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม หากจะรวมเข้าไปด้วยนั้น คงต้องพิจารณาถึงเป้าหมายทางสังคมด้วยว่า ในแง่ นโยบายของภาครัฐจะเข้ามาดูแลอย่างไร
นายพิชิต กล่าวว่า สำหรับการเข้าไปจดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์ฯของซูเปอร์ โฮลดิ้งนั้น ในอนาคตก็มีความเป็นไปได้ ซึ่งหากก็จะได้ประโยชน์ในการระดมทุน แต่คงต้องดูความต้องการของซูเปอร์ โฮลดิ้งด้วยว่าต้องการระดมทุนเพื่อขยายการลงทุนในรัฐวิสาหกิจเพิ่มหรือไม่ อย่างไรก็ตาม สำหรับรัฐวิสาหกิจที่มีอยู่ในปัจจุบันก็สามารถเข้าไประดมทุน ในตลาดหลักทรัพย์ได้เองอยู่แล้ว
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|