คุมเข้มผู้ใช้บัตรเครดิต กำหนดดบ.ไม่เกิน18%


ผู้จัดการรายวัน(29 ตุลาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

ธปท.ย้ำคุมเข้มคุณภาพผู้ใช้บัตร ป้องกันปัญหาหนี้เสีย รายย่อยกลายเป็นวงจรอุบาทว์ปัญหาหนี้สินเกินตัวจนนำไปสู่ปัญหาสังคม ย้ำแบงก์ต้องตรวจสอบคุณสมบัติก่อนให้คลังอนุมัติ เอาจริงมาตรการคุมเข้มบัตรเครดิตนอนแบงก์ ระบุกรอบเบื้องต้นกำหนดเพดานดอกเบี้ยไม่เกิน 18% ด้านวงการบัตรเครดิต ชี้มาตรการรัฐไม่สัมฤทธิผล เพราะ ผู้ประกอบการจะหันไปเพิ่มรายได้ ส่วนอื่นมากขึ้น ขณะที่ "อิออนธนทรัพย์" ยันไม่กระทบรายได้บริษัท

หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศ ไทย (ธปท.) กล่าวถึง หลักเกณฑ์ในการควบคุมธุรกิจบัตรเครดิตของ สถาบันการเงินอื่นที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (นอนแบงก์) ว่า ทางการจะให้ความสำคัญในการกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิทำบัตรเครดิตมากกว่าการกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากไม่ต้องการ ให้คนที่มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ทำบัตร เครดิต แล้วมาใช้บัตรเครดิตต้องมาเป็นหนี้สินและกลายเป็นหนี้เสีย

"เราไม่อยากให้คนที่มีรายได้ ไม่ถึงเข้ามาใช้บัตรเครดิต จนกลาย เป็นหนี้ ถูกตัดเงินเดือน และตกงาน จะกลายเป็นปัญหาสังคม ซึ่งจะดูถึง ความเหมาะสมและให้ความสำคัญมากกว่าเรื่องอัตราดอกเบี้ย"

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็น เพียงกรอบเบื้องต้น ซึ่งจะได้มีการหารือและตกลงในรายละเอียดกับกระทรวงการคลัง และรอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ก่อนที่จะออกประกาศเป็นกฎกระทรวงเพื่อบังคับ ใช้ต่อไป โดยเอาหลักเกณฑ์เบื้องต้นจะเป็นมาตรฐานเดียวกันกับธนาคารพาณิชย์ เพียงแต่แตกต่างกันในรายละเอียดเท่านั้น

สำหรับอัตราดอกเบี้ย เบื้องต้นไม่น่าจะเกิน 6 สลึงต่อเดือน หรือ ไม่เกิน 18% ต่อปี ซึ่งถือว่าไม่สูงหรือต่ำเกินไป ขณะที่หนี้เสียจากการใช้บัตรเครดิตในปัจจุบันยังมีไม่มากนัก

ด้านการปล่อยสินเชื่อนั้น ขณะนี้ทางการพยายามให้มีการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น แม้ว่าอัตราเพิ่มของเงินฝากจะมีมากกว่าอัตราการปล่อยสินเชื่อ แต่ไม่ได้หมาย ความว่าธุรกิจจะไม่โต ทั้งนี้อัตราเงิน ฝากที่เพิ่มขึ้นมาจากรายได้ภาคการ เกษตรที่เพิ่มขึ้น

ส่วนกระแสข่าวเกี่ยวกับภาวะ เงินฝืดที่มีออกมาในระยะนี้ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ไม่เคยวิตกถึงภาวะเงินฝืด โดยอัตราเงินเฟ้อได้ผ่านจุดต่ำสุดมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาแล้ว

คลังคุมเข้มบัตรนอนแบงก์ เพดานดอกเบี้ยไม่เกิน18%

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ข้อ สรุปเบื้องต้นเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การดูแลธุรกิจบัตรเครดิตของสถาบันการเงินอื่นที่ไม่ใช่ธนาคาร พาณิชย์แล้ว โดยคาดว่าจะสรุปออกเป็นประกาศ การคลังได้หลังจากส่งเรื่องให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบ ประมาณต้นเดือนพฤศจิกายน โดยหลักเกณฑ์เบื้องต้นจะควบคุมอัตราดอกเบี้ย ไว้ไม่เกิน 18% ขณะเดียวกันจะควบคุมคุณสมบัติ ของผู้มีสิทธิทำบัตรเครติดด้วย

"เมื่อเช้าผมได้หารือกับทางแบงก์ชาติแล้ว ได้ข้อสรุปในบางประเด็น คาดว่าจะสรุปออกเป็น ประกาศกระทรวงการคลังได้ต้นเดือนหน้า แต่ต้องให้ครม.รับทราบก่อน โดยหลักเกณฑ์จะควบคุมเรื่องอัตราดอกเบี้ย และคุณสมบัติของผู้ใช้บัตร ต้องมีเงินเดือน และเป็นคนมีอาชีพหลัก"

การออกประกาศหลักเกณฑ์ควบคุมการใช้บัตรเครดิต หลักเกณฑ์การออกบัตรเครดิตของสถาบันการเงินอื่นที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ เพื่อ ดูแลให้เกิดความเป็นธรรมของผู้ใช้บัตรเครดิต และไม่ให้เกิดความเสียหายในระยะยาว รวมทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ

สำหรับอัตราเงินเดือนของผู้มีสิทธิทำบัตรเครดิต ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป แต่เบื้องต้นจะต้อง ให้มีการปรับตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ส่วนทุนจดทะเบียนของบริษัทที่จะออกบัตรเครดิตได้นั้น เรื่องนี้ได้มีการหารือไม่น่าจะเป็นปัญหา

นายสมคิด ยืนยันว่า การเข้าไปควบคุมธุรกิจบัตรเครดิตของสถาบันการเงินอื่นที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ ได้ดูในความเหมาะสมในทุกด้าน แล้ว โดยกฎที่ออกมาทางการทำเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของสังคม

รัฐบาลมีนโยบายคุมการใช้บัตรเครดิต ของธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-bank) ซึ่งอัตราดอกเบี้ยของบัตรเครดิตที่สถาบันการเงินต่างๆ ออกมา และมีอัตราดอกเบี้ยสูงส่วนใหญ่เป็นธนาคารพาณิชย์ ต่างประเทศ เช่น ธนาคารซิตี้แบงก์มีอัตราดอกเบี้ย 26.50% ถึง 29%

ธนาคารเอชเอสบีซี หรือฮ่องกงเซี่ยงไฮ้แบงก์มีการคิดอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 26% ธนาคาร สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด นครธน คิดอัตราดอกเบี้ย 24% ธนาคารยูโอบีรัตนสิน 24% ธนาคารเอเชีย 16-19.75% ธนาคารกรุงศรีอยุธยา คิดดอกเบี้ยบัตรเครดิต 17.50%

นอกจากนั้นในส่วนของผู้ออกบัตรเครดิตที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) เนื่องจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดอัตรา ดอกเบี้ยสูงสุดที่จะคิดได้ไว้ไม่ เกิน 15% ต่อปี ดังนั้นบริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงินซึ่งปล่อยกู้สินเชื่อแบบเช่าซื้อ หรือประกอบธุรกิจบัตรเครดิต จึงมีค่าใช่จ่ายอื่นซึ่งนอกเหนือจากอัตราดอกเบี้ยที่ประกาศไว้ด้วย ทำให้ต้นทุนดอกเบี้ยโดยรวมที่ผู้ถือบัตรต้องจ่ายจริงสูงกว่า 18%

ชี้เกณฑ์คุมบัตรเครดิตเหลว เชื่อหาช่องขูดรีดค่าธรรมเนียม

นายสุขดี จงมั่นคง ประธานชมรมบัตรเครดิต และกรรมการผู้อำนวยการ บริษัทบัตรเครดิตกรุงศรี จำกัด กล่าวให้ความเห็นว่า หากทางการมีการกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยการใช้บัตรเครดิตที่ 18% ทางผู้ประกอบการก็คงต้อง หาทางลดต้นทุนหรือกลับมาคิดค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่ได้เคยยกเว้น เช่น ค่าธรรมเนียมรายปี ฯลฯ

ขณะที่ในส่วนของรายได้ที่อาจจะลดลงคง จะไม่ส่งผลกรทบมากนัก เพราะผู้ประกอบการคงจะหารายได้ชดเชยจากทางอื่น หรือลดรายการ ส่งเสริมการขายลง

"เรื่องนี้ยังไม่รู้รายละเอียด คงพูดไม่ได้มากว่าเงื่อนไขที่แท้จริงเป็นอย่างไร แต่หากกฎหมายออกมามีการบังคับก็อาจทำให้ภาวะการ แข่งขันของบัตรเครดิตลดลงหรืออาจ ไม่ต้องแข่งขันก็ได้ เช่นกรณีขอราคาน้ำมันที่ในอดีตการ กำหนดตายตัวทำให้ไม่มีการแข่งขัน แต่ปัจจุบันเมื่อปล่อยราคาน้ำมันลอยตัว ทุกปั้มต่างก็มีการจัดโปรโมชั่น และมีการลดราคาเกิดขึ้น ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับต้นทุนแต่ละแห่งเอง"

สำหรับบัตรเครดิตกรุงศรีปัจจุบันคิดดอกเบี้ยที่ 10% ต่อปี และคิดว่าธรรมเนียมการใช้วงเงินอีก 1.1% ต่อเดือน เฉลี่ยรวมดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 23% ต่อปี ซึ่งก็ยังไม่รู้รายละเอียดที่แท้จริงจะรวมการคำนวณค่าธรรมเนียมอื่นๆ เข้าไป ด้วยหรือไม่ เนื่องจากหากรวมทั้งหมดก็จะส่งผล กระทบกับรายได้ของแบงก์ได้

ส่วนประเด็นกำหนดเพดานฐานเงินเดือนผู้ขอบัตรเครดิตอีกนั้น ก็ยังไม่ชัดเจนคงต้องรอกฎหมาย เพราะธปท.ก็เพิ่งยกเลิกการกำหนดรายได้ขั้นต่ำไม่เมื่อเดือนเมษายนเอง

ในส่วนของบริษัทบัตรที่มีทุนจดทะเบียน 25 ล้านบาท ซึ่งไม่ถึงตามเกณฑ์ที่กฎหมายใหม่ระบุนั้น นายสุขดี กล่าวว่า จะไม่ส่งผลกระทบกับบริษัท เนื่องจากบริษัทมีแผนที่จะเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 100 ล้านบาท ก่อนที่กฎหมายจะกำหนดอยู่แล้ว

ด้านนายนิวัตต์ จิตตาลาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดีที่จะกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ 18% เพราะจะสร้างความชัดเจนและเสมอภาคเท่าเทียมกันเพื่อให้สถาบันการเงินและนอนแบงก์ ทุกฝ่ายอยู่ภายใต้กฎกติกาเดียวกัน จากเดิมที่ฟ้องลูกค้าได้ลำบาก พอมีความชัดเจนทำให้สามารถดำเนินการได้ง่ายขึ้น และการกำหนดอัตราดอกเบี้ยในระดับเดียวกันก็จะส่งผลดีกับผู้บริโภคที่สามารถเลือกใช้บริการได้มากขึ้น รวมทั้งยังจะส่งผลดีกับลูกค้าที่กู้เงินนอกระบบอยู่

ส่วนการที่ทางการจะกลับมาใช้หลักเกณฑ์ การกำหนดรายได้ขั้นต่ำผู้สมัครจากที่ปัจจุบันไม่กำหนดวงเงินรายได้มาเป็นกำหนดให้ผู้สมัคร มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาทนั้น เชื่อว่าไม่น่าจะเป็นไปได้เพราะเท่ากับว่าเป็นการถอยหลังเข้าคลอง ซึ่งการกำหนดรายได้ขั้นต่ำไม่ได้เป็นตัวชี้วัดคุณภาพของผู้ถือบัตร แต่ขึ้นอยู่กับการบริหาร ความเสี่ยงของสถาบันการเงินที่แต่ละแห่งจะมีเครดิตสกอริ่งอยู่แล้ว รวมถึงการดึงข้อมูลของเครดิตบูโร แต่ทางการควรหันมาดูแลเรื่องของการกำกับเรื่องการบริหารความเสี่ยงของแบงก์ให้มีมาตรฐาน

นายอภิชาต นันทเทิม กรรการบริหาร อิออนธนสินทรัพย์ กล่าวว่ากล่าวว่าบริษัทยินดีที่จะปฏิบัติตามกฎหมายที่ทางการกำหนด โดยในขณะนี้ธนาคารยังไม่มีการพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยลงตามที่เป็นข่าวจนกว่ากฎหมายดังกล่าวจะมีความชัดเจนและมีผลบังคับใช้ ซึ่งผลกระทบในส่วนของรายได้ดอกเบี้ยที่จะต้องรับลดลงนั้นเชื่อว่าจะไม่ได้รับผลกระทบกับบริษัทมากนัก เนื่องจากรายได้หลักของบริษัทเป็นรายได้จากสินเชื่อเช่าซื้อ โดยรายได้จากบัตรเครดิตมี เพียง 20% ของรายได้รวมเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม บริษัทคงต้องขยายฐานลูกค้า มากขึ้นเพื่อชดเชยหากรายได้จะต้องสูญเสียไป ซึ่งฐานบัตรของประเทศไทยยังสามารถขยายได้อีกมากถึง 20 ล้านบาทภายใน 5 ปีจากที่ปัจจุบัน มีบัตรเครดิตในระบบประมาณ 3 ล้านบัตร ในส่วนบริษัทขณะนี้ธนาคารมีฐานบัตรเครดิตอยู่ประมาณ 7 แสนบัตร และคาดว่าในเดือนกุมภาพันธ์บริษัทจะสามารถขยายฐานบัตรได้ถึง 8 แสนบัตร

นักวิเคราะห์ชี้มาตรการคุมบัตร ระยะสั้นไม่กระทบ "AEONTS"

นายกวี ชูกิจเกษม นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) พัฒนสิน จำกัด หรือ CNS กล่าวว่า การกำหนดหลักเกณฑ์การดูแลธุรกิจบัตรเครดิตของสถาบันการเงินอื่นที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (นอนแบงก์) โดยควบคุมอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 18% ในระยะสั้น คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของบริษัท อิออนธนสินทรัพย์ จำกัด (มหาชน) หรือ AEONTS เพียง เล็กน้อย

ทั้งนี้ เนื่องจากโดยเฉลี่ยการคิดอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตของนอนแบงก์จะอยู่ประมาณ 20% กว่า ดังนั้น การควบคุมอัตราดอกเบี้ยที่ 18% ถือว่ายังมีส่วนต่างกำไร และไม่ส่งผลกระทบต่อรายได้ลดลงมากนัก

"เรื่องนี้คงกระทบบ้างเล็กน้อย แต่หาก MLR ยังอยู่ในระดับต่ำ ก็คงไม่เป็นปัญหา เพราะอัตรา 18% ยังมีส่วนต่างของกำไรอยู่ ถ้าจะลดลงคงเป็นส่วนกำไรที่คงลดไม่มาก มองว่าระยะสั้นยังไม่เป็นปัจจัยลบ"

อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวหากอัตราดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้น โดยอัตรา MLR สูงขึ้นกว่าปัจจุบัน แต่อัตราดอกเบี้ยยังถูกกำหนดไว้ที่ 18% ขณะที่ต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จะส่งผลกระทบรายได้ค่อนข้างมาก เพราะนอนแบงก์มีต้นทุนค่า ใช้จ่ายสูง เนื่องจากไม่มีการะดมเงินฝากเหมือนธนาคารพาณิชย์

"มองว่าการกำหนดอัตราดอกเบี้ยควรอิงกับ MLR มากกว่า เช่น MLR บวกเท่าไร เพื่อให้ยืดหยุ่นได้ เพราะโดยปกติการคิดดอกเบี้ยของนอนแบงก์จะอิงกับ MLR อยู่แล้ว แต่หากไปกำหนดคงที่ไว้เมื่อ MLR ขึ้นไปสูง ธุรกิจแบงก์ก็ต้องแบกรับภาระมาก"

ทั้งนี้ การกระทรวงการคลังได้กำหนด หลักเกณฑ์การดูแลธุรกิจบัตรเครดิตของสถาบัน การเงินอื่นที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ โดยหลักเกณฑ์เบื้องต้นจะควบคุมอัตราดอกเบี้ยไว้ไม่เกิน 18% ขณะเดียวกันจะควบคุมคุณสมบัติของผู้มีสิทธิทำบัตรเครติดด้วย

สำหรับความเคลื่อนไหวราคาหุ้นAEONTS วานนี้ ราคาหุ้นได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นปิดที่ 170 บาท เพิ่มขึ้นจากวันก่อน 3 บาท หรือเพิ่มขึ้น 1.79% มูลค่าการซื้อขาย 17.79 ล้านบาท



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.