คลังเล็งลดภาษีศุลกากร1.4พันรายการ หนุนเอสเอ็มอี เพิ่มความสามารถการแข่งขัน


ผู้จัดการรายวัน(12 ตุลาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

คลังเล็งลดโครงการภาษีนำเข้าสินค้าวัตถุดิบสำหรับผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กว่า 1,400 รายการ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มเอสเอ็มอีกลุ่มผลิตชิ้นส่วน ให้บีโอไอสรุปอีกรอบจันทร์หน้า ขณะที่สศค.เตรียมสรุปภายในสัปดาห์หน้า

นายสมชัย สัจจพงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการปรับโครงสร้างภาษีศุลกากร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ว่า ขณะนี้ สศค. และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม การลงทุน หรือบีโอไอ ได้หารือแนวทางการปรับโครงสร้างภาษีศุลกากรนำเข้าสินค้าวัตถุดิบที่ใช้สำหรับการผลิตสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยทีมของ สศค. ได้ทำโมเดลในการปรับโครงสร้างภาษีให้บีโอไอนำกลับไปหาข้อมูลเพิ่มเติมและนำกลับมาเสนอในวันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม 2548 นี้

ทั้งนี้ โมเดลที่ สศค. ทำไว้ คือ จะแยกกลุ่มสินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 1,692 รายการย่อย ออกเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. กลุ่มวัตถุดิบ พื้นฐาน 2. กลุ่มวัตถุดิบ 3. กลุ่มสินค้า ประเภทชิ้นส่วนและส่วนประกอบ และ 4. กลุ่มสินค้าสำเร็จรูป ซึ่ง สศค. ต้องการให้มีการปรับภาษีนำเข้าสินค้า ใน 2 กลุ่มแรก ซึ่งมีอยู่ประมาณกว่า 1,400 รายการ ให้เป็น 0% ทั้งหมด

"เราทำตุ๊กตาไว้ให้เขาแล้ว โดย เราอยากให้ 2 กลุ่มแรก มีภาษีเป็น 0% แต่ก็ให้เขากลับไปดูข้อมูลเพิ่มเติมว่า สามารถทำได้หรือไม่ มีรายการใดบ้างที่เป็นปัญหา ก็ให้เขาแจ้งกลับมาอีกครั้งในวันจันทร์หน้า" นายสมชัย กล่าว

นายสมชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การปรับโครงสร้างภาษีในครั้งนี้ จะแก้ไขปัญหาความลักลั่นของโครงสร้างภาษีระหว่างสินค้าต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งหลังการปรับโครงสร้างภาษีแล้ว จะทำให้เกิด ประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมกลุ่มนี้ใน 3 ด้านหลัก คือ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิตสินค้าประเภทเครื่องใช้ฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ การส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอ็สเอ็มอี) ในประเทศให้มีมากขึ้น และ 3. ทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตในภูมิภาค

ส่วนรายได้ภาษีที่ต้องสูญเสียจากการปรับโครงสร้างภาษีในครั้งนี้ คิดเป็นเม็ดเงินไม่สูงมาก และจะไม่กระทบต่อเป้ารายได้ภาษีของกรมศุลกากรในปีงบประมาณ 2549 นี้ อย่างไรก็ตาม ในการปรับโครงสร้าง ภาษี 3 กลุ่ม คือ กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มชิ้นส่วนและยานยนต์ และกลุ่มอาหารแปรรูป ที่มีพิกัดอยู่เกือบ 5,000 รายการนั้น ครอบคลุมรายได้นำเข้าภาษีของกรมศุลกากรเกือบทั้งหมด ซึ่งภายใน 15 ปี รายได้ภาษีศุลกากรที่จัดเก็บอยู่ประมาณ 1 แสนล้านบาท ในปัจจุบันจะหายไปทั้งหมด

สำหรับการดำเนินการปรับโครงสร้างภาษีศุลกากรครั้งนี้ สืบเนื่องจากนายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กำชับให้มีการศึกษาโครงสร้างภาษีอย่างเร่งด่วน หลังจากที่ประเทศสหรัฐฯ ได้ประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนที่จะให้มีการลดภาษีศุลกากรขาเข้าให้เหลือ 0% ภายในปีค.ศ. 2015 หรือ พ.ศ. 2558 ขณะที่สหภาพยุโรปเองเห็นด้วยกับจุดยืนดังกล่าวแล้ว แต่จะต้องมีการทบทวนอีกครั้ง ดังนั้นประเทศไทยเองจะต้องมีการปรับปรุงโครงสร้างเพื่อเตรียมรับมือกับเหตุการณ์ดังกล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.