แบงก์เล็งขนดบ.อีกระลอก หลังธ.กรุงเทพนำร่องขึ้นฝาก-กู้0.25-0.50%


ผู้จัดการรายวัน(12 ตุลาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ลูกค้าเงินกู้แบงก์เตรียมแบกรับภาระดอกเบี้ยเพิ่ม หลังธนาคารกรุงเทพนำทัพปรับขึ้น ดอกเบี้ยเงินฝากประจำและเงินกู้อีก 0.25-0.50% ส่งผล ให้ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งเตรียมปรับตามภายในสัปดาห์นี้ ขณะที่ดอกเบี้ยเงินฝากยังทรงตัวจนถึงสิ้นปีนี้ ด้านโบรกเกอร์ ชี้การขึ้นดอกเบี้ยไม่ได้ทำให้แบงก์กำไร เพิ่มขึ้นเพราะปรับทั้งฝากและกู้ พร้อมแนะลงทุนหุ้น แบงก์ใหญ่ "BBL-KBANK-TMB"

ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25-0.50% โดยมีผลตั้งแต่วานนี้ (11 ต.ค.) โดยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากแบบกำหนดวงเงินฝากเป็น 2 ประเภท คือ เงินฝากที่ต่ำกว่า 5,000,000 บาท กับเงินฝากตั้งแต่ 5,000,000 บาทขึ้นไป ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือน จากเดิมที่ระดับ 1.50% ขึ้นเป็น 1.75-2.00% อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 6 เดือน จาก 1.75% เป็น 2-2.25% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน ได้ปรับจาก 2% เป็น 2.25-2.50% และอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ประจำ 24 เดือนจาก 2.50% เป็น 2.75%

ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ได้ปรับขึ้น 0.25% ทำให้อัตรา ดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (เอ็มแอลอาร์) จาก 6.00% เป็น 6.25% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (เอ็มอาร์อาร์) จาก 6.50% เป็น 6.75% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้วงเงินเบิกเกินบัญชี (เอ็มโออาร์) จาก 6.25% เป็น 6.50%

จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ครั้งนี้ ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ของธนาคารกรุงเทพปรับตัวขึ้นไปอยู่ในระดับที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 3 แห่ง คือ ธนาคารกรุงไทย ธนาคาร กสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ (ดูตารางประกอบข่าว)

นายบรรลือศักดิ์ ปุสะรังศี รองผู้อำนวยการฝ่าย วิจัย ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า แนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีนโยบายที่ชัดเจนในการดันอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงกลับเป็นบวก เพื่อกระตุ้นให้เกิดเงินออมภายในประเทศเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันเงินออมในประเทศมีสัดส่วนน้อยมาก คืออยู่ที่ 30% ของ จีดีพี โดยเชื่อว่ารัฐบาลต้องการที่จะเพิ่มสัดส่วนเงินออมเป็น 32-33% ของจีดีพีในระยะใกล้นี้

ขณะเดียวกัน ธปท.ใช้นโยบายการเงินที่จะดูแลให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับเป้าหมาย จึงมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่มีอัตราเร่ง ขึ้น ซึ่งการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท.ดังกล่าว จึงมีแรงกดดันส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ของ ธนาคารพาณิชย์ปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ต้องระดมเงินฝาก

ในขณะที่ต้องบริหารต้นทุนจึงปรับดอกเบี้ยขึ้นทั้งดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากด้วย อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคาร พาณิชย์นั้นจะค่อยๆ ปรับขึ้นอย่างช้าๆ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อลูกค้าเงินฝากและเงินกู้ โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำได้ทยอยปรับขึ้นตามดอกเบี้ย พันธบัตรรัฐบาลที่อยู่ในระดับที่สูง ขณะที่อัตรา ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับเดิมภายในปีนี้ เพราะเป็นฐานเงินฝากที่ใหญ่ที่สุดในระดับประมาณ 60-70% ของเงินฝากทั้งหมด ดังนั้น หากมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ จะมีผลต่อต้นทุนของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นชัดเจน

ด้านสภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ ขณะนี้เริ่มทยอยปรับลดลงอย่างต่อเนื่องจากการออก พันธบัตรของรัฐบาล และยังมีโครงการเมกะโปรเจกต์ ที่จะต้องใช้เม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 200,000-300,000 ล้าน บาท ทำให้สภาพคล่องส่วนเกินในระบบปัจจุบันเหลือ 300,00-400,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มที่จะปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นในปีหน้าจะเห็นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ทยอยปรับเพิ่มขึ้นต่อไป

ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดนั้น คาดว่าจะยังคงปรับขึ้นอีกจนมาอยู่ที่ระดับ 4.50-5.00% จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 4.25% และธปท.เองคงจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายหรืออาร์/พี 14 วันตามดอกเบี้ยเฟด โดยคาดว่าจะอยู่ในระดับที่สูงกว่าดอกเบี้ยเฟดเล็กน้อย เพื่อดูแลไม่ให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากนัก

ไทยพาณิชย์-กรุงศรีฯเล็งปรับสัปดาห์นี้

คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการผู้จัดการ ใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB กล่าวว่า ภายในสัปดาห์นี้ธนาคารอาจจะพิจารณาปรับ ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำและเงินกู้ในอัตราที่ใกล้เคียงกับธนาคารกรุงเทพ (BBL) ที่ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากประจำและเงินกู้ไปเมื่อวานนี้

สำหรับเงินฝากออมทรัพย์ธนาคารยังไม่มีนโยบายที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นในขณะนี้ เนื่องจาก ยังไม่มีความจำเป็น ซึ่งจะปรับเมื่อไหร่นั้นต้องรอดูระดับเงินฝากให้มีความเหมาะสม

ด้านนางชาลอต โทณวณิก ผู้ช่วยกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY กล่าวว่า ธนาคารอยู่ระหว่างการพิจารณา อัตราดอกเบี้ยของธนาคารอยู่ว่าจะมีการปรับขึ้นหรือไม่ หลังจากธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ได้ปรับขึ้น อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ไปแล้ว โดยธนาคารฯ จะพิจารณาจากสภาพคล่องของธนาคารฯเป็นหลัก ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ปัจจัยภาวะตลาดการเงินโดยรวม เพราะแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขณะนี้อยู่ในช่วงขาขึ้น และต้องมีการปรับขึ้นอย่างแน่นอน แต่น่าจะเป็นในลักษณะการทยอยปรับขึ้น 0.25% ต่อครั้ง ซึ่งต้องรอดูความเคลื่อนไหวในตลาดเงินอีกระยะหนึ่ง นักวิเคราะห์ชี้แบงก์อื่นแห่ตามแน่

ด้านนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ให้ความเห็นเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกรุงเทพว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยไม่ได้ทำให้ธนาคารมีกำไรเพิ่มขึ้น แต่อย่างใด เพราะเป็นการปรับขึ้นตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และปรับขึ้นทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ รวมทั้งคาดว่าธนาคารพาณิชย์แห่งอื่นจะทยอยประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแน่นอน เพื่อให้สอดคล้อง กับทิศทางดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้น

ขณะที่ราคาหุ้นของธนาคารกรุงเทพ และธนาคาร อื่นๆ ในช่วงเช้าได้ปรับตัวขึ้นมาเล็กน้อย แต่มีปริมาณ การซื้อขายไม่คึกคักมากนัก โดย BBL ปรับตัวขึ้นไป ทำราคาสูงสุดและปิดที่ 101 บาท เพิ่มขึ้นจากวันก่อน 1 บาท หรือคิดเป็น 1% ปริมาณการซื้อขายรวม 2,151,100 หุ้น มูลค่าการซื้อขายตลอดวัน 215.99 ล้านบาท

โดยนักวิเคราะห์ได้แนะนำให้ซื้อหุ้นกลุ่มธนาคารกรุงเทพเพื่อการลงทุน โดยเฉพาะหุ้น BBL มีราคาเป้าหมายที่ 137 บาท ธนาคารกสิกรไทย ราคา เป้าหมายที่ 77 บาท ธนาคารทหารไทย ราคาเป้าหมาย ที่ 5.30 บาท และธนาคารนครหลวงไทย ราคา เป้าหมายที่ 34 บาท


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.