"รัฐ"ประกาศฟื้นธุรกิจดอทคอม


ผู้จัดการรายวัน(28 ตุลาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

หมอเลี้ยบ" ประกาศปลุกผี "ธุรกิจดอทคอม" ให้กลับมาสดใสอีกครั้ง ด้วยการใช้นโยบาย e-Thailand เป็นยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อน พร้อมเดินเครื่องการจัดซื้ออิเล็กทรอนิกส์เต็มสูบและเร่งศึกษากฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการทำงาน ส่วนการแปรสัญญาโทรคมนาคมขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่า ทางเลือกที่ 3 จะใช้ได้หรือไม่ ต้องรอผลการศึกษาทางกฎหมายที่ส่งไปให้กฤษฎีกาตีความ

หากเทียบกับกระทรวงอื่นๆ แล้วดูเหมือน ว่า กระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ(ไอซีที) จะเป็นที่จับตามองมากที่สุด เพราะนอกจากเป็น กระทรวงใหม่ที่มีความเกี่ยวพันกับธุรกิจของ "ตระกูลชินวัตร-โพธารามิก และเจียรวนนท์" แล้ว ยังมีภารกิจและปัญหามากมายรอให้แก้ไขอยู่จำนวนมาก

ไม่ว่าจะเป็นการขับเคลื่อนนโยบาย e-Thailand ที่ถือเป็นหมากเด็ดในการปลุกผีธุรกิจดอทคอมในประเทศไทย การแปร สัญญาโทรคมนาคมที่คาราคาซังมาเนิ่นนาน กรณีความขัดแย้งเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตที่เกิดขึ้นกับ ทศท คอร์เปอเรชั่น และการสื่อสารแห่งประเทศไทย รวมทั้งคลื่น 1900 ที่ผู้ถือหุ้น ทั้ง 2 รายทะเลาะกันไม่เลิก ฯลฯ

นับจากวันแรกที่ "น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี" เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงนี้ในวันที่ 3 ตุลาคม จนกระทั่งถึงปัจจุบัน เรื่องราว ทั้งหมดได้คลี่คลายและตกผลึกไปแล้วเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ซึ่ง "ผู้จัดการรายวัน" มีโอกาสได้สัมภาษณ์และรับทราบแนวคิดทั้งหมดอย่างรอบด้าน ขีดเส้นตาย e-thailand

น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เปิดเผยว่านโยบาย e-thailand นั้นเป็นนโยบายที่ พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้ตั้งเป้าหมาย ที่จะให้ประเทศไทยขับเคลื่อนไปในทิศทางดังกล่าว โดยช่วงที่ผ่านมาได้มีการจัดทำแผนแม่ บทไอที 2010 และแผนแม่บท 5 ปี เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงาน

โดยเฉพาะแผนแม่บท 5 ปี ได้มีการนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เมื่อเดือนกันยายน 2545 ที่ผ่านมา พร้อมทั้งมีการอนุมัติออกมาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งกระทรวงไอซีทีได้รับนโยบายดังกล่าวมาปฏิบัติและทำหน้าที่เป็น "เจ้าภาพ" ในการผลักดันให้บรรลุผลสัมฤทธิ์

อย่างไรก็ตาม การเป็นเจ้าภาพไม่ได้หมายความ ต้องจะทำทุกอย่างเองทั้งหมดแต่การเป็นเจ้าภาพในทีนี้หมายถึงการทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานและอำนวยความสะดวกให้กับหน่วยงานราชการ ตลอดรวมถึงภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานและผลักดันในนโยบาย "SE" (e-society,e-citizen, e-government,e-commerce และ e-industry) ให้ประสบความสำเร็จ

"ตอนนี้กระทรวงไอซีทีกำลังวางทีมงานที่จะเข้า มารับผิดชอบในแต่ละ e เพราะถ้าไม่แบ่งชัดเจน งานก็อาจจะไม่มีใครผลักดัน โดยในแต่ละทีมงานก็จะมีทั้งฝ่ายนโยบายฝ่ายการเมือง นักวิชาการและภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับภาคเอกชนนั้น ผมอยากให้เข้ามามีส่วนร่วมให้มาก เพราะเรื่องเกี่ยวกับการผลักดันไอซีที ผมมองว่าเอกชนน่าจะเป็นกำลังหลักที่จะทำให้เรื่องหลาย ๆ ที่ภาครัฐมักทำเอง และทำให้เกิดปัญหาในการปฏิบัติดีขึ้น จากนั้นก็จะมีการพิจารณาในแง่มุมของกฎหมายว่าเป็นอุปสรรคหรือไม่ อย่างไรถ้ามีเราก็ต้องแก้

"สำหรับกำหนดเวลาในการดำเนินงานให้เห็นเป็นรูปธรรม ขึ้นอยู่กับความพร้อมเป็นหลัก ไม่ได้มีการขีดเส้นตายเอาไว้ตายตัว แต่เรื่องที่จะเห็นผลเร็ว ที่สุดก็คือ e-government เพราะรัฐบาลต้องการทำให้หน่วยงานราชการก้าวเข้าสู่ยุคอิเล็กทรอนิกส์"

น.พ.สุรพงษ์ ขยายความในเรื่องของ e-government ใหัฟังว่า e-government ถือเป็นการก้าวเจ้าสู่ยุคที่ 2 ของการปฏิรูประบบราชการ โดยแต่ ละกระทรวงจะมีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการในการเก็บและรวบรวมข้อมูลด้านต่างๆ ซึ่งขณะนี้บางกระทรวง ได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว เช่นกระทรวงการคลังหรือ กระทรวงเกษตรฯ "National Operation Center"

ทั้งนี้ ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดก็คือจะนำไปสู่การวางแผนหรือวางนโยบายในระดับประเทศได้อย่างครบวงจร ยกตัวอย่างเช่น เมื่อต้องการแก้ปัญหาพืช ผลทางการเกษตรก็สามารถใช้ภาพถ่ายดาวเทียมมาวิเคราะห์พื้นที่เพาะปลูกต่าง ๆ และพิจารณาถึงราคา ขาย ณ ปัจจุบันทั้งในประเทศและต่างประเทศได้

ขณะเดียวกันทุกกระทรวงและทุกกรมจะต้องจัดทำเว็บไซต์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลในด้านต่าง ๆ ให้กับประชาชนและประชาชนสามารถติดต่อกับกระ ทรวงผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้ในทันที ซึ่งจะทำให้ลดขั้นตอนในการให้บริการได้

"รัฐบาลต้องการทำให้ประเทศไทยก้าวสู่ความเป็น e-society เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึง การเรียนรู้และการสร้างโอกาสให้กับตัวเอง ถ้าหากเราสร้างเครือข่ายโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ตไปถึงในพื้นที่ที่ห่างไกล ให้คนที่อยู่ในพื้นที่เหล่านั้นสามารถที่จะเรียนรู้ได้ก็จะทำให้ปัญหาเรื่องการขาดโอกาสในการนร้างคุณภาพชีวิตและรายได้ทั้งหมดไป

"ผมได้ให้นโยบายกับทศท คอร์เปอร์เรชั่นไปว่า เรื่องเกี่ยวกับการขยายโครงข่ายโทรศัพท์พื้นฐานขอให้ทำให้ครบถ้วนกับทุกโรงเรียนซึ่งมีอยู่ประมาณ 4 หมื่นแห่งภายใน 2 ปี แต่ก็บางแห่งอาจติดปัญหาเรื่อง ไฟฟ้า ก็ต้องไปคิดต่อว่าจะทำยังไง เช่น อาจใช้โซลาเซลล์ เป็นต้น" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีอธิบาย

ฟื้นคืนชีพธุรกิจ "ดอทคอม" แก้กม. รับจัดซื้ออิเล็กทรอนิกส์

ในส่วนของ e-procurement หรือการจัดซื้อ-การเปิดประมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ที่หลายฝ่ายกำลังจับตามองอยู่นั้น น.พ.สุรพงษ์กล่าวว่า สาเหตุที่รัฐบาล นำมาใช้ก็เพราะต้องการทำให้การจัดซื้อมีความโปร่ง ใส สามารถสื่อสารได้ทั้งสองทางพร้อมทั้งเปิดโอกาส ให้ธุรกิจเล็กๆ เข้ามาร่วมประมูลได้ด้วย ซึ่งท้ายที่สุด แล้ว จะสามารถขจัดปัญหาในเรื่องของการ "ฮั้ว" ให้ลดลงกว่าเดิม

ทั้งนี้ทางกระทรวงฯ กำลังเตรียมการที่จะแก้ไข ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการพัสดุเพื่อให้ สอดรับกับดำเนินงาน โดยปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี รับเป็นเจ้าภาพในการประสานงานกับกระทรวงการคลัง

อย่างไรก็ตาม น.พ.สุรพงษ์ยอมรับว่าในระยะ เริ่มต้นคงดำเนินการในโครงการขนาดเล็กก่อน เช่น การซื้อปากกา ดินสอ กระดาษ ฯลฯ เพราะสามารถทำได้ง่ายและไม่มีความสลับซับซ้อน จากนั้นเมื่อมีความคล่องตัว มีความชำนาญและมีความเข้าใจในระบบมากขึ้นก็จะขยายไปสู่โครงการขนาดใหญ่ต่อไป

"ถ้าหากเราเซตระบบไว้ดี ทุกอย่างจะมีความชัดเจน ใครอยากจะดูก็ดูได้หมดเหมือนกับมีสปอร์ต ไลต์ส่องจับไว้อยู่บนเวที เพราะฉะนั้นปัญหาที่เคยเป็นมาในอดีตในเรื่องความไม่โปร่งใสมันก็จะไม่เกิด ขึ้น อย่างที่อิตาลีซึ่งมีข่าวเรื่องความไม่โปร่งใสมาก พอ มี e-procurement ก็ทำให้ปัญหาคอร์รัปชั่นหายไป เยอะเลย เราจะนำร่องในทุกกระทรวง และมีการตรวจ สอบตลอดเวลาว่ากระทรวงไหนทำได้มากน้อยแค่ไหน

"คือเมื่อรัฐบาลประกาศใช้นโยบาย e-procurement ก็จะทำให้ภาคเอกชนมีความคุ้นเคยในการทำธุรกรรมผ่านอินเทอร์เน็ตมากเป็นลำดับ จากนั้นผลในระยะที่สองที่รัฐบาลต้องการให้เกิดขึ้นก็คือ การพัฒนาให้เกิด "การซื้อ-ขาย" ผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งนั่นหมายความว่า จะกลายเป็นชนวนที่จะทำให้ "ธุรกิจดอทคอม" ฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้อีกครั้ง ซึ่งผมเชื่อว่ามีสินค้าหลายตัวในประเทศไทยที่สามารถใช้ธุรกิจ ดอทคอมเข้ามาช่วย อย่างไทยเจมส์ดอทคอมก็เป็นเว็บไซต์ที่ขายอัญมณีและมียอดการขายสูงพอสมควร"

น.พ.สุรพงษ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับเรื่องใหญ่ อีกเรื่องหนึ่งคือ e-industry นั้น ต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาเป็นการเติบโตโดยที่ไม่มีการสนับสนุนจากภาครัฐ อย่างเต็มที่ ซึ่งเท่าที่ได้พูดคุยกับสมาคมอุตสาหกรรม ซอฟต์แวร์ไทยก็ได้เห็นประเด็นปัญหาที่จะต้องเร่งดำเนินการในหลายเรื่อง

ยกตัวอย่าง เช่น การพัฒนากำลังคนที่ยังขาด แคลนและต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ดังนั้น ถ้าหาก จะส่งเสริมในเรื่องอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ในช่วงแรก คงต้องมีกระบวนการอำนวยความสะดวกในเรื่องของ การเดินทางและการทำงานพอสมควร ขณะเดียว กันก็จะต้องมีการส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรภาย ในประเทศไปพร้อม ๆ กันด้วย

ทั้งนี้ ในระยะอันใกล้จะมีการตั้งคณะกรรมการ ชุดหนึ่งชื่อ Software Industry Promotion Agency หรือ CIPA เพื่อทำหน้าที่ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์

"ถ้าเรามียุทธศาสตร์ในการพัฒนาอุตสาหกรรม ซอฟต์แวร์จริง ๆ คาดว่าภายในระยะเวลา 5 ปี มูลค่าธุรกิจจะเพิ่มเป็นแสนล้านบาท จากเดิมที่ขณะนี้มีประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาท และทำให้สัดส่วนที่คนไทยเข้าไปลงทุนในธุรกิจนี้เพิ่มเป็นประมาณ 50% จากที่อยู่ประมาณ 30%

ขณะที่ทางด้าน "e-citizen" นั้น น.พ.สุรพงษ์ยอมรับว่า ปัญหาใหญ่ในเรื่องนี้ก็คือมีคณะกรรมการ หลายชุดเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้มีความเห็นที่หลากหลายต่างกัน ซึ่งขณะนี้กระทรวงไอซีทีกำลังที่จะบูรณาการคณะกรรมการที่มีอยู่ทั้งหมดให้ทำงานร่วม กันและคาดว่าภายใน 2 สัปดาห์นี้จะสามารถเห็นภาพ ชัดเจนขึ้น

แปรสัญญาโทรคมนาคมลูกผีลูกคน

นอกเหนือจากเรื่อง e-Thailand แล้ว ประเด็นสำคัญที่ถือเป็นงานร้อนไม่แพ้กันก็คือ "แปรสัญญาโทรคมนาคม" ที่ยืดเยื้อยาวนานและยังไม่มีทีท่าว่าจะ จบสิ้นลงได้อย่างไร ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาทางกระทรวงไอซีทีก็ได้มีการคิดใหม่ทำใหม่ โดยเสนอเป็น"ทางเลือกที่ 3" ในการแก้ปัญหา และมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ตามมามากมาย

น.พ.สุรพงษ์อธิบายว่า จุดเริ่มต้นที่ทำให้ต้องมี การแปรสัญญาก็เพราะเมื่อมีคณะกรรมการกำกับกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เกิดขึ้น กทช. จะต้องทำหน้าที่ในการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันทางด้านกิจการโทรคมนาคมอย่างเป็นธรรม

ทว่าสถานการณ์ก่อนหน้าที่จะมาถึงในปัจจุบัน องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท) และการสื่อสารแห่งประเทศไทย(กสท.) นั้น สวมหมวก 2 ใบ โดยใบหนึ่งทำหน้าที่ผู้ให้บริการ ขณะที่อีกใบหนึ่งก็ทำหน้าที่กำกับดูแลและได้รับส่วนแบ่งรายได้ เช่น ภาคเอกชนที่ทำสัญญาร่วมการงานจะทำอะไรก็ต้องมีการรายงานเข้ามาก่อน ทำให้การแข่งขันไม่เป็นธรรม ดังนั้น จึงมีแนวคิดที่จะแปรสัญญาเพื่อให้การสวมหมวก 2 ใบหมดไป

อย่างไรก็ตาม เมื่อได้มีการศึกษาเพื่อนำไปสู่การ แปรสัญญาโดย 2 หน่วยงาน คือ ทีดีอาร์ไอและสถา-บันทรัพย์สินทางปัญญา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีความเห็นที่คล้ายกันคือเมื่อต้องการให้ไม่มีปัญหาจำเป็นที่จะต้องหยุดสัญญา

แต่ทั้งสองแห่งก็มีความเห็นที่แตกต่างกันในรายละเอียด กล่าวคือ ทีดีอาร์ไอเห็นว่าเมื่อหยุดสัญญาในขณะที่สัญญาเดิมยังมีอายุต่อไปอีกประมาณ 10 ปีก็ให้นำการคาดการณ์รายได้ที่จะเกิดขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้าคิดออกมาเป็นส่วนแบ่งรายได้และให้ภาคเอกชนจ่าย ณ วันที่มีการหยุดสัญญา

ขณะที่ทางสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาเสนอว่า เรื่องส่วนแบ่งรายได้ไม่สามารถคิดคำนวณออกมาได้เพราะเป็นเพียงการคาดการณ์ ไม่มีใครรู้ว่าอีก 10 กว่าปีข้างหน้ารายได้จะเป็นอย่างไร ดังนั้น จึงไม่ควรมีการจ่ายรายได้ แต่ให้มาซื้อทรัพย์สินไปแทน

ทว่าทั้งสองแนวทางก็มีเสียงคัดค้านและไม่เห็นด้วย จนกระทั่งไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้

"ผมเห็นว่าถ้าจะแก้ปัญหาเรื่องหมวกสองใบ ไม่ ได้หมายความว่า จะต้องโยนหมวกทิ้งทันที ผมจึงเสนอทางเลือกที่ 3 ออกมาคือเปลี่ยนเอาหมวกใบหนึ่งไปให้คนอื่นสมแทนได้ไหม มันก็แก้ปัญหาได้แล้ว คือไม่หยุดสัญญาแต่เปลี่ยนผู้รับส่วนแบ่งรายได้ ซึ่งอาจจะเป็นกระทรวงการคลังหรือ หน่วยงานไหนก็ได้ แล้วก็จ่ายไปจนกระทั่งหมดอายุสัญญา"

น.พ.สุรพงษ์กล่าวถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยว กับผลกระทบที่จะเกิดกับทศท ว่า ก่อนอื่นต้องเข้า ใจก่อนว่า เมื่อได้ทำสัญญาร่วมการงาน ความหมายไม่ได้อยู่เพียงแค่ว่า ทศท จะแบมือขอส่วนแบ่งรายได้ อย่างเดียว ทศท ต้องลงทุนขยายเครือข่ายของตนเอง เพื่อรองรับเอกชนที่จะมาต่อเชื่อมสัญญาณด้วย

ดังนั้นเมื่อหน่วยงานรัฐอื่นที่จะมารับส่วนแบ่งรายได้ ก็จะต้องชดเชยส่วนที่ ทศท ต้องลงทุนขยาย เครือข่ายในช่วงที่ผ่านมาด้วย ซึ่งถามว่าราคาหุ้นจะลดลงไหม แน่นอนว่าอาจจะมีผลกระทบบ้างจากส่วน แบ่งรายได้ที่หายไป แต่ก็จะมีส่วนที่ถูกชดเชยเข้ามาเป็นตัวประคับประคองราคาหุ้นเช่นเดียวกัน

"ยังไม่มีใครรู้ อันไหนจะมาก อันไหนจะน้อย หรืออาจจะเท่ากัน แต่ผมไม่คิดว่ามูลค่าหุ้น ทศทกับ กสท. จะลดฮวบไปเพียงด้านเดียวขาเดียว เพราะจะ มีเงินเข้ามาชดเชยด้วย ส่วนเรื่องการจัดการทรัพย์สินเป็นเรื่องที่จะต้องมาคุยกันในรายละเอียดต่อ ไปว่าจริงๆ แล้วทรัพย์สินมูลค่าอยู่ที่เท่าไหร่ และเมื่อครบสัญญาแล้วมูลค้าจะเป็นยังไง รวมทั้งเรื่องเกี่ยวกับว่า เมื่อหน่วยงานรัฐอื่นมารับส่วนแบ่งรายได้แทน การแข่งขันจะเป็นธรรมจริงหรือเปล่า เพราะในขณะที่เอกชนซึ่งทำสัญญาร่วมการงานกันยังจ่ายส่วนแบ่ง รายได้ให้กับหน่วยงานรัฐ แต่ ทศทและกสท.ไม่ต้อง จ่ายหรือ เอกชนรายใหม่ไม่ต้องจ่าย นี่ก็เป็นเรื่องที่ไม่จบง่ายๆ เพราะฉะนั้นถ้าใครบอกว่าผมจะสรุปแล้ว ขอโทษ ยังอีกเยอะ อีกยาวไกล ยังมีหลายประเด็นที่ต้องขบคิดต่อ

"อีกปัญหาหนึ่ง ก็คือ สมมติว่าผมสรุปกรอบแปรสัญญาที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันไม่มีใครคัดค้าน ผมจะแปรฯ ได้เลยไหม อาจทำไม่ได้เพราะติดปัญหา เรื่องข้อกฎหมาย คือ พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทร-คมนาคม ระบุไว้ในบทเฉพาะการว่า การประกอบกิจการใดๆ ก็ตามที่ทำก่อน พ.ร.บ.ประกาศใช้ให้ทำต่อไป แต่รายใหม่ไม่ให้ ต้อรอกทช.ก่อน ดังนั้นถ้าเราแปรสัญญาปุ๊บ จะหมายความได้ไหมว่า สัญญาเดิมถูกยกเลิก หรือหมายความว่าทุกอย่างที่ทำก่อน พ.ร.บ.ประกาศใช้ยกเลิกไปหมด ถ้าเป็นการทำสัญญา ใหม่นั่น หมายความว่าทำหลังจากกฎหมายประกาศใช้แล้ว เอกชนไม่มีสิทธิประกอบกิจการโทรคมนาคม เพราะไม่มีใครออกใบอนุญาตให้ "ก็แปรฯไม่ได้อีก ซึ่ง ผมกำลังให้ทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาศึกษาข้อมูลในเรื่องนี้อยู่ และคาดว่าในเดือนธ.ค. คงจะรู้เรื่องเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ที่สนใจเข้ามาลงทุนใน กสท.และ ทศท"

น.พ.สุรพงษ์กล่าวเพิ่มเติมว่า จริงๆ แล้วโจทย์ ใหญ่อีกเรื่องของการเข้ามารับหน้าที่ในกระทรวงไอซีที ก็คือ ปัญหาปัญหาความซ้ำซ้อนระหว่างกสท. และทศท เพราะเป็นสิ่งที่พูดกันมานาน และถือเป็นภารกิจ สำคัญที่ต้องจัดการ

ทั้งนี้นโยบายที่ต้องการเห็นก็คือ การทำให้ กสท. และทศท ทำงานในลักษณะของการเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน อันจะทำให้การพัฒนาภารกิจโทรคมนาคมของประเทศก้าวกระโดดไปได้เร็วกว่านี้ ซึ่งขณะนี้กำลังพิจารณาในรายละเอียด



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.