ธุรกิจSMEsกับการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด


ผู้จัดการรายวัน(25 ตุลาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SMEs ของไทยเป็นธุรกิจที่มีกระจายอยู่ทั่วไป ใช้เงินลงทุนจำนวนไม่สูงมากนัก ส่วนใหญ่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นปัจจัยในการผลิต กิจการมีขนาดเล็ก จึงมีความคล่องตัวในการบริหารมากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ ทำให้ธุรกิจ SMEs มีเป็นจำนวนมากคือกว่าร้อยละ 90 ของธุรกิจทั้งหมด การที่ธุรกิจ SMEs สามารถเริ่มต้นประกอบธุรกิจได้ง่ายกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ ก่อให้เกิดการแข่งขันกันอย่างเสรีของผู้ประกอบการและลดการผูกขาดในการประกอบธุรกิจ ธุรกิจ SMEs จึงเป็นแหล่งสร้างรายได้และการจ้างแรงงานรวมถึงการพัฒนาทักษะแรงงานที่สำคัญของประเทศ เพราะธุรกิจ SMEs ในประเทศไทยมีโครงสร้างการผลิตที่ใช้แรงงานมาก (Labor Intensive) โดยทำหน้าที่เป็นทั้งผู้ผลิต ผู้ให้บริการ และผู้จัดจำหน่ายสินค้าไปพร้อมๆ กับผลักดันให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องดำเนินไปได้ด้วยดีซึ่งเอื้อต่อการเจริญเติบโต ทางเศรษฐกิจของประเทศมาโดยตลอด ในด้านการจ้างงานแรงงาน จากผลการศึกษาของมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ระบุว่า เมื่อเปรียบ เทียบกับธุรกิจขนาดใหญ่แล้วในปี 2542 ธุรกิจ SMEs มีสัดส่วนการจ้างงานถึง 79% ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่มีเพียง 21% และในปี 2544 SMEs ก่อให้เกิดมูลค่าต่อ GDP (นอกภาคเกษตร) ถึง 1.7 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็นภาคการผลิต 6.02 แสนล้านบาท ภาคการค้าทั้งค้าส่งและค้าปลีก 5.05 แสนล้านบาท และภาคบริการ 5.68 แสนล้านบาท

ภาครัฐกับการสนับสนุน SMEs ในการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด

ภาครัฐได้ตระหนักถึงความสำคัญของ SMEs ที่มีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศจึงกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อช่วยเหลือ SMEs ให้สามารถแข่งขันและอยู่รอดได้ในระยะยาวหรือเป็นการพัฒนา SMEs อย่างยั่งยืน ด้วยการเสริมขีดความสามารถการแข่งขัน โดยการปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อเพิ่มผล ผลิตในทุกสาขาและการพัฒนา SMEs ในอนาคตจะต้องสอดคล้องกับทิศทาง การพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545-2549) ในส่วนของ SMEs ได้กำหนดให้มีการ พัฒนา SMEs เป็นระบบครบวงจรผ่านสถาบันเฉพาะทาง ที่ได้รับการพัฒนาให้เข้มแข็งควบคู่ไปกับการปรับใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มผลผลิตและประสิทธิภาพการบริหารจัดการ พัฒนาทักษะแรงงาน คุณภาพผลผลิต และผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานเพื่อให้สามารถแข่งขันได้อย่างแท้จริง โดยภาครัฐได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนา SMEs ช่วงระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2543-2547) ในแผนแม่บทการพัฒนา SMEs ในส่วนของภาคการผลิตเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่ง ประสิทธิภาพ และความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ซึ่งประกอบด้วยกลยุทธ์ต่างๆ อาทิ กลยุทธ์ในการยกระดับขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยีและการจัดการ สร้างและขยายโอกาสด้านการตลาด เพิ่มขีดความสามารถของสถาบันการเงินและสร้างกลไกเสริมทางการเงินเพื่อสนับสนุน SMEs ตลอดจนสร้างความเชื่อมโยงและพัฒนากลุ่มวิสาหกิจครบวงจร เป็นต้น

นอกจากการให้ความช่วยเหลือด้านสินเชื่อแก่ธุรกิจ SMEs ของสถาบันการเงินทั้งภาครัฐและเอกชนตามมาตรการให้ความช่วยเหลือของทาง การแล้ว ภาครัฐยังได้ให้การสนับสนุนแหล่งเงินทุนแก่ธุรกิจ SMEs ด้วยการ จัดตั้งกองทุนเพื่อร่วมลงทุนในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ กองทุน SMEs (SMEs Venture Capital Fund) ล่าสุด ทางการได้เตรียมการจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการปล่อยกู้และลงทุนแก่ SMEs วงเงิน 40,000 ล้านบาท โดยการระดมทุนจากสถาบันการเงินของรัฐประมาณ 10 แห่ง ธุรกิจ SMEs ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในการปล่อยกู้ ได้แก่ SMEs ที่มีความสามารถในการแข่งขันซึ่งผลิตสินค้าที่มีมาตรฐานและได้รับคำสั่งซื้อ SMEs ที่มีปัญหา NPL แต่ไม่มีปัญหาในการทำตลาดซึ่งส่งผลให้ขาดเงินทุนซื้อวัตถุดิบ และ SMEs ที่ยังผลิตสินค้าไม่ได้มาตรฐานส่งออกแต่ยังพอมีแนวทางในการปรับปรุงคุณภาพสินค้าให้เป็นที่ต้องการของตลาดได้

รัฐบาลยังได้จัดสรรเงินจากงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ 58,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ในส่วนของโครงการด้าน SMEs ที่ได้รับอนุมัติจาก ครม. 7 โครงการ ( ณ มี.ค. 45) รวมวงเงินทั้งสิ้นประมาณ 2,274.95 ล้านบาท

ธุรกิจ SMEs กับการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด

การปรับตัวทางด้านการตลาด การตลาดของ SMEs ส่วนใหญ่ยังอยู่ในวงจำกัดเมื่อเทียบกับสินค้าของธุรกิจขนาดใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งหาก เป็นกรณีการผลิตและจำหน่ายสินค้าประเภทเดียวกับธุรกิจขนาดใหญ่ เนื่อง จากมีศักยภาพและความพร้อมในการขยายตลาด/เจาะตลาดได้น้อยกว่า และมีความเสียเปรียบในด้านต้นทุนการผลิตแบบประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) ขาดการวิจัยด้านการตลาดและพัฒนาสินค้า/ผลิต ภัณฑ์ทำให้สินค้าที่ผลิตออกมาไม่มีตลาดรองรับที่แน่นอน เมื่อภาวะการค้าและการตลาดของโลกเปลี่ยนไป ธุรกิจ SMEs จึงต้องแสวงหาแนวทางในการ พัฒนาและจำหน่ายสินค้าใหม่ๆ เพื่อเพิ่มยอดขายและรายได้รวมทั้งเพื่อตอบ สนองความต้องการของตลาด ดังนั้น ผู้ประกอบการ SMEs ควรปรับและพัฒนาคุณภาพสินค้าให้มีความโดดเด่น แปลกใหม่กว่าสินค้าอื่น ซึ่งเป็น การเพิ่มมูลค่าให้สินค้าหรืออาจจะผลิตเป็นสินค้าใหม่ที่ดีกว่าสินค้าเดิม (Niche and Innovation) เพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคเกิดความสนใจในสินค้านั้น เช่น การพัฒนายี่ห้อหรือตราสินค้า (Branding) ให้กับผลิตภัณฑ์ของตนเองโดยตราสินค้าเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความแตกต่างระหว่างสินค้าของผู้ผลิต นั้นๆ แต่กระนั้นที่ผ่านมาผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ส่วนหนึ่งได้มีการพัฒนาตราสินค้าจนถึงขั้นติดตลาดโลกมาแล้ว และ SMEs ที่ประสบความสำเร็จในการตลาดมักจะมีตราสินค้าที่จดจำง่ายด้วยการใช้สัญลักษณ์หรือโลโก้ของ สินค้าที่เด่นสะดุดตาควบคู่การพัฒนาคุณภาพของสินค้าอย่างต่อเนื่อง

ผู้ประกอบการ SMEs หลายรายได้นำอินเทอร์เน็ตมาใช้ในการดำเนิน ธุรกิจ เช่น ใช้ในการโฆษณาสินค้า ขยายฐานลูกค้า เพิ่มช่องทางการสื่อสารเพื่อการจำหน่ายสินค้ารวมถึง การส่งออกผ่านระบบ EDI ซึ่งเป็นระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้คอมพิวเตอร์ในการเรียกรับ/ส่งข้อมูลได้ทันที เป็นที่นิยมมากในการใช้ผ่านพิธีการสินค้าในประเทศอื่นๆ มีจุดเด่น คือมีมาตรฐานข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ (UN/EDIFACT) ที่ชัดเจนและมีเอกภาพในการสื่อสารถึงกัน เป็นการเพิ่มรายได้และเพิ่มโอกาสในการขยายตัวทางการตลาดได้ส่วนหนึ่ง เนื่องจากสามารถเข้าถึงลูกค้าหรือผู้บริโภคได้ง่าย และรวดเร็วกว่าการใช้สื่อประเภทอื่น ผลจากการสำรวจของสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมกับ บอย. ที่กล่าวแล้วข้างต้น ระบุว่า "ผู้ประกอบการ SMEs มีการปรับตัวโดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ 70% ของผู้ประกอบการ (ทำการสำรวจ 12 กลุ่มธุรกิจ จำนวน 1,080 ราย) และ 60% มีเว็บไซต์และมีการใช้สื่ออินเตอร์เน็ตในการดำเนินธุรกิจ"

สรุป

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการค้าโลกที่เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้เข้ามามีบทบาทในธุรกิจการค้าแทบทุกประเภท ธุรกิจ SMEs ซึ่งเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในแต่ละประเทศรวมทั้งไทย จึงมีความจำเป็นต้องปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อความอยู่รอด และเพื่อรองรับการแข่งขันที่จะทวีเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ในส่วนของประเทศไทยนอกจากการปรับตัวของผู้ประกอบธุรกิจ SMEs แล้ว การสนับสนุนจากภาครัฐในด้านต่างๆ เช่น ด้านการเงิน การตลาด เทคโนโลยีการผลิต ฯลฯ นับเป็นพลังผลักดันสำคัญที่จะเสริมสร้างให้ธุรกิจ SMEs ก้าวไปอย่างมั่นคงและอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ธุรกิจ SMEs ยังมีปัญหาพื้นฐานหลายประการที่ควรได้รับการแก้ไขให้สำเร็จลุล่วงไปอย่าง เร่งด่วน เช่น การขาดแคลนเงินทุน แรงงานฝีมือ ความรู้ความสามารถในการ ผลิตและการเข้าถึงตลาด เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้ปัจจัยที่เคยเป็นอุปสรรคปัญหากลับกลายมาเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ธุรกิจ SMEs สามารถปรับตัวอยู่รอดได้อย่างราบรื่น และทำหน้าที่เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืนต่อไป



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.