การประกาศตัวเลขผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ 13 แห่ง (รวมธนาคารธนชาต) ในไตรมาสที่
3 ของปี 2545 ปรากฎว่า หลายธนาคารยังมีผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี
2544 โดยในไตรมาส 3 ธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิประมาณ 10,888.54 ล้านบาท เทียบกับกำไรสุทธิ
6,240.60 ล้านบาทในช่วงเดียวกันปีก่อน
หากพิจารณาช่วง 9 เดือน ธนาคารพาณิชย์มีกำไรประมาณ 29,120.82 ล้านบาท เทียบกับ
42,168.88 ล้านบาท กำไรที่ลดลงของธนาคารจำนวน 36,387 ล้านบาท สาเหตุสำคัญเกิดจากเดือนมิถุนายน
44 ธนาคารมีการโอนลูกหนี้ด้อยคุณภาพไปบริษัทบริหารสินทรัพย์ เพชรบุรี จำกัด
ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในกรณีนี้ธนาคารได้โอนสำรองกลับเป็นรายได้ของธนาคาร
จำนวน 45,229 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาผลกำไรของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3 จะพบว่า มีเพียงธนาคารทหารไทย
(TMB) ที่กำไรติดลบถึง 1,625.7 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ค่อนข้างมาก
ซึ่งถือว่าไม่สู้ดีนักในสายตาของนักวิเคราะห์
เนื่องจากธนาคารประกาศรายได้สุทธิในไตรมาส 3 ออกมาที่ 1,336.5 ล้านบาทลดลงถึง
18.30% จากไตรมาสที่ผ่านมา สาเหตุหลักมาจากรายได้จากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง
แต่รายจ่ายจากอัตราดอกเบี้ยกลับเพิ่มขึ้นอย่างมาก นอกจากนี้รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยปรับตัวลดลง
14.03% รวมถึงการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นอีก 1,322 ล้านบาทในไตรมาส 3
สำหรับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) KTB ค่อนข้างจะเป็นธนาคารที่เหมาะสมต่อการลงทุนในระยะยาว
หลังจากเคลียร์ปัญหากับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินและการล้างขาดทุนสะสมกว่า
70,000 ล้านบาทหมดไป
โดยในไตรมาสนี้ธนาคารมีกำไรสุทธิ 2,679 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
17.35% รายได้จากดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4,970 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 2.01%
เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน
ส่วนสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากปรับตัวดีขึ้น โดยมีอัตราการเติบโตของสินเชื่อ
3.17% ในไตรมาส 3 แม้ว่าในส่วนของเงินฝากก็ปรับตัวสูงขึ้น 2.09% เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน
แต่จากที่สินเชื่อเพิ่มขึ้นอัตราที่สูงกว่าจึงทำให้อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากปรับตัวดีขึ้นจาก
77.85% ในไตรมาส2ปีนี้เป็น 78.68% ในไตรมาส 3
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ปัญหาหนี้เสียของธนาคารพาณิชย์จะได้รับการเยี่ยวยาจนระดับของหนี้เสียปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งสิ้นเดือนก.ย.45 ตามข้อมูลของธปท.หนี้เสียคงค้างอยู่ที่ 4.4 แสนล้านบาท
หรือ 11.12% ต่อสินเชื่อ ซึ่งเป็นตัวเลขเฉพาะที่ค้างในธนาคารพาณิชย์เท่านั้น
แต่สิ่งสำคัญแล้ว หนี้เสียในระบบจะสูงกว่าตัวเลขที่ธปท.ประกาศ รวมแล้วมีหนี้เสียไม่ต่ำกว่าล้านล้านบาท
และปัญหาดังกล่าวถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อธนาคารพาณิชย์ที่อาจจะต้องเสริมความแข็งแกร่งเกี่ยวกับการกันสำรองเพิ่มขึ้น
ประกอบกับหากการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของไทยยังคงได้รับความเสี่ยงจากปัจจัยแวดล้อมภายนอกประเทศ
ไม่ว่า สถานการณ์น้ำมัน การเกิดสงคราม และความไม่เต็มที่ของความช่วยเหลือจากภาครัฐผ่านทางงบประมาณรายจ่ายในปี
2546 ที่จะไม่เต็มที่เหมือนปีก่อนๆ มา
ทำให้ภาคเอกชนหรืออุตสาหกรรมต่างๆ ต้องระมัดระวังในการบริหารธุรกิจและเตรียมความพร้อมกับเหตุการณ์ไม่คาดคิด
แบงก์ยังต้องเหนื่อยอีกนานต้องถนัดเฉพาะด้าน-เพิ่มค่าฟี
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและวางแผน ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด
(มหาชน) หรือ BT เปิดเผยว่า การประกาศตัวเลขผลกำไรของระบบธนาคารยังไม่สามารถบอกได้ว่าธนาคารได้ฟื้นตัว
เพราะยังมีปัญหาที่แต่ละธนาคารจะต้องสะสางคือปัญหาตัวเลขการขาดทุนสะสมที่มีอยู่จำนวนมาก
แต่โดยรวมเมื่อเทียบกับช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ถือว่าดีขึ้นอย่างมาก
ทั้งในเรื่องของตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ทุนสำรอง ความสามารถในการทำกำไรดีขึ้นตามลำดับ
ทั้งนี้ในไตรมาส 3 ภาพรวมไม่ว่าการปล่อยสินเชื่อส ค่าธรรมเนียมต่างๆ ดอกเบี้ยการแก้ไขหนี้เสียในบริษัทบริหารสินทรัพย์
(เอเอ็มซี) ของธนาคารก็อยู่ในสถานการณ์ที่ดีขึ้นรวมถึงในไตรมาสที่ 4 หากภาวะเศรษฐกิจขยายตัวและอัตราดอกเบี้ยทรงตัว
จะทำให้ลูกหนี้จะพออยู่ได้
“แต่ประเด็นที่ต้องคำนึงคือ เรื่องความสามารถในการแข่งขันจะต้องปรับตัวดีขึ้นกว่านี้
เพราะในอนาคตการแข่งขันจะทวีความรุนแรง แม้แต่แบงก์ต่างประเทศที่มีสาขาแห่งเดียวในไทยยังมีความสามารถในการทำธุรกิจได้มากและรุกตลาดได้แรง
และหากแบงก์ไหนไม่คิดที่จะปรับตัวโดยการปรับโครงสร้างองค์กรคงลำบากแน่ แต่เราต้องเข้าใจว่าบางแบงก์ที่เข้มแข็งได้
ส่วนหนึ่งรัฐต้องเข้ามาดูแลเพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ในระยะยาวแล้วรัฐคงไม่สามารถดูแลแบงก์ได้ตลอดไป
หนทางเดียวคือแบงก์นั้นๆ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงที่สามารถรองรับการสภาพตลาดที่จะพลิกเปลี่ยนอย่างมาก
โดยเฉพาะต้องระวังธนาคารต่างประเทศที่มีความได้เปรียบทั้งด้านต้นทุนเครือข่ายที่เชื่อมโยงไปทั่วโลก
ตัวอย่างมีให้เห็นอย่างธนาคารเอเชีย ธนาคารดีบีเอสไทยทนุทั้งหมดทั้งปวงแล้ว
แบงก์ของไทยจะต้องอาศัยเวลาในการปรับตัวและรัฐต้องพิจารณาเวลาที่เหมาะสมในการถอยการดูแล”นายอนุสรณ์กล่าว
สำหรับสถานการณ์ภายนอกประเทศขณะนี้ นายอนุสรณ์มองว่าผลกระทบต่อธนาคารพาณิชย์คงไม่รุนแรงเพราะธนาคารมีการเตรียมความพร้อมมาอย่างต่อเนื่อง
“แม้ข้างนอกจะมีเชื้อโรค คิดว่าแบงก์พอมีภูมิคุ้มกันเชื้อโรคได้เมื่อเทียบกับอดีตที่เราอ่อนแอทำให้รับเชื้อได้ง่าย
หากพิจารณาเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย เศรษฐกิจไทยถือว่าดีแต่เทียบกับจีนและเกาหลีไม่ได้ส
”นายอนุสรณ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายอนุสรณ์กล่าวว่า เมื่อดูสภาพเศรษฐกิจและแนวโน้มอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์แล้ว
ทุกคน ยังต้องทำงานหนักและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะระบบธนาคารในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่
ทั้งในระดับโครงสร้างรูปแบบการดำเนินงานและประเภทธุรกรรม
ทั้งนี้บทบาทของธนาคารในระบบการเงินจะมีการเปลี่ยนแปลงไป บางบทบาทจะลดลง
เนื่องจากการทยอยลดลงของส่วนแบ่งทางการตลาดของการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์สู่ภาคการผลิต
และภาคธุรกิจ การเคลื่อนย้ายของการกู้ยืมของภาคธุรกิจ (Corporate Sector
Borrowing) สู่ตลาดตราสารหนี้ (Commercial Paper Markets หรือ Debt Instrument
Market) การลดลงของการออมเงินของประชาชนในระบบธนาคารพาณิชย์ และการเติบโตของ
Non-Bank Financial Institution เช่น บริษัทหลักทรัพย์ ประกันภัย
“ปัจจุบันการปล่อยสินเชื่อจะทำได้ค่อนข้างยาก อีกทั้งแบงก์ต้องลงทุนในด้านเทคโนโลยีสูงจึงต้องคิดค่าบริการ
ค่าธรรมเนียมต่างๆ กับลูกค้าและประชาชน ซึ่งแต่ละแห่งต้องปรับตัวภายใต้การแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น
ธุรกิจธนาคารไม่ใช่เสือนอนกินอีกต่อไป และธนาคารจะต้องแสวงหารายได้ที่เป็น
Fee-Based Incomeมากขึ้น แทนที่จะพึ่งพิงแต่รายได้จากส่วนต่างดอกเบี้ยที่แคบลงเรื่อยๆ”
นายอนุสรณ์ มองว่า ทิศทางการเงินในศตวรรษที่ 21 เรื่องของนวัตกรรมใหม่ๆ
ทางการเงินจะทันสมัยมากมี re-package Product ที่หลากหลาย ธนาคารและสถาบันการเงินในอนาคตจะต้องมีความโปร่งใส
สุจริต และเป็นที่เชื่อถือมากขึ้นกว่าเดิม เพราะลูกค้าต้องมั่นใจว่าเงินที่นำไปฝากแล้วจะได้คืน
เนื่องจากรัฐจะเลิกการค้ำประกันเงินฝาก
ดังนั้น ธนาคารต้องเลือกลงทุนและบริหารความเสี่ยงเป็น ต้องวางตำแหน่งให้ชัดเจน
คือจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ก็ต้องใหญ่ไปเลยหรือถ้าเป็นธุรกิจขนาดเล็กต้องมีความชำนาญเฉพาะด้าน