|
ขอดเกล็ด'ประชานิยม' ทักษิโณมิกส์
ผู้จัดการรายวัน(10 ตุลาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ชำแหละ "นโยบายประชานิยม" รัฐบาลทักษิณว่าด้วยการแก้หนี้เน่าสินเชื่อบุคคล-บัตรเครดิต "โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์" งงเหตุมาตรการคลุมเครือ นักวิชาการชี้เป็นการลากเกมการตลาดเข้าสู่การเมืองขยายฐานเสียงรัฐบาล ส่งผลเสียต่อวัฒนธรรมการชำระหนี้ ท้ายที่สุดต้องดึงเงินภาษีมาโปะหนี้ ระบุแสดงให้เห็นถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากนโยบายประชานิยม เหตุก่อนหน้าส่งเสริมให้คนเป็นหนี้ แล้วตามลดหนี้ ทีดีอาร์ไอเตือนอย่าออกมาตรการเหวี่ยงแห เชื่อแบงก์ไม่โง่ขายหนี้ดีออกจากพอร์ต
ความพยายามของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการแก้ปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในส่วนของหนี้รายย่อยที่เกิดจากสินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิตที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจจนถึงเดือนมิถุนายน 2548 กำลังนำรายละเอียดเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่18 ตุลาคมนี้ กลายเป็นคำถามที่คนในแวดวงธนาคารหรือนักวิชาการต้องการ หาคำตอบว่าท้ายที่สุดแล้วจะออกมาในรูปแบบไหน จะส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมการชำระหนี้ (Moral Hazard) และจะตกเป็นภาระงบประมาณหรือไม่ ที่สำคัญมาตรการดังกล่าวเป็นเพียง "นโยบายประชานิยม" ตัวใหม่ของรัฐบาลทักษิณ เพื่อหวังผลทางการเมือง
ในเบื้องต้น กระทรวงการคลัง และ ธปท. มีแนวคิดที่จะลดหนี้เงินต้นของสินเชื่อบุคคลและบัตร เครดิตที่มีปัญหา โดยเป็นหนี้วงเงินไม่เกิน 200,000 บาท จะลดหนี้เงินต้นในสัดส่วน 50% ส่วนดอกเบี้ยไม่คิด แต่ลูกหนี้จะต้องชำระหนี้ทั้งหมดคืนภายใน 6 เดือน ทั้งนี้ เป็นหนี้ที่อยู่ระหว่างการฟ้องร้องหรือการ บังคับคดี ก่อนเดือนมิถุนายน 2548 สำหรับตัวเลขหนี้ที่อยู่ในนิยามเบื้องต้นพบว่า เป็นเงินต้น 7 พันล้านบาท ดอกเบี้ย 2 หมื่นล้านบาท
โดยรัฐบาลจะนำมาใช้นำร่องคือการให้บรรษัท บริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน (บบส.) ก่อนขยายไปสู่การรับซื้อหนี้จากธนาคารพาณิชย์ที่ต้องการขายหนี้และลดหนี้ตามเงื่อนไข
จากการรวบรวมข้อมูลของ "ผู้จัดการรายวัน" พบว่าหลังการเข้ามาบริหารประเทศของรัฐบาลภายใต้ การนำของพรรคไทยรักไทยในช่วงที่ผ่านมาพบว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก
แหล่งข่าวแบงก์พาณิชย์กล่าวว่า ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของรัฐบาล ทักษิณหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ล่าสุดกระทรวงการคลังเปิดให้สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (นอนแบงก์) ทำธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพิ่มขึ้นอีก 6 แห่ง นโยบายดังกล่าวจึงถือเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่จริงใจนอกจากหวังผลเป็นคะแนนเสียงทางการเมืองจากประชาชน
"มาตรการนี้เป็นเพียงการเสนอตัวของรัฐในการเป็นคนกลางเจรจาหนี้ ทั้งๆ ที่หนี้ดังกล่าวอยู่ในกระบวนการติดตามและฟ้องร้อง จะเห็นได้ว่านายธนาคารส่วนใหญ่ไม่กล้าแสดงความเห็นหรือบอกว่าให้ความร่วมมือ เพราะมองไม่เห็นประโยชน์ นอกจากส่วนลดหนี้ 50% แต่ประชาชนที่เป็นหนี้ในส่วนดังกล่าวส่วนใหญ่ไร้ความสามารถในการชำระหนี้ จึงเชื่อว่าประโยชน์ของมาตรการมีน้อยและมีประชาชนที่ได้อานิสงส์ไม่กี่คน"
แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า ยังไม่เข้าใจถึงเจตนารัฐบาลนโยบายรับซื้อหนี้เอ็นพีแอลรายย่อยมากนัก ว่าต้องการที่จะช่วยเหลือธนาคารพาณิชย์และลูกหนี้อย่างไร และคงไม่เหมือนกับการรับซื้อหนี้เอ็นพีแอล ของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) เพราะเป็นคนละเรื่องและคนละเวลา เพราช่วงบสท.ธนาคารพาณิชย์มีปัญหาเอ็นพีแอล เศรษฐกิจและภาวะตลาดเงินตลาดทุน ไม่เอื้ออำนวยต่อการระดมทุนและดำเนินธุรกิจ เอ็นพีแอลจึงเป็นภาระ ทั้งเกณฑ์การตั้งสำรอง รวมทั้งเงื่อนไขของเงินทุนที่จะขยายสินเชื่อใหม่ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องตัดขายเอ็นพีแอลออกไปจากธนาคาร และปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อดำเนินธุรกิจในอนาคต แต่ตอนนี้ไม่ใช่
"การรับซื้อหนี้ครั้งนี้ รัฐบาลจะต้องพิจารณาให้รอบคอบถึงผลได้ผลเสีย รวมทั้งการที่จะนำเงินภาษีของประชานโดยรวมมาช่วยเหลือได้หรือไม่"
นางชาลอต โทณวณิก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า รัฐบาลต้องทำความเข้าใจกับประชาชนว่า ไม่ใช่ทุกรายที่จะได้รับการแก้ไข เพราะขึ้นอยู่กับความสมัครใจของสถาบันการเงินที่ให้กู้ แต่ความครอบคลุมจะไปถึงบริษัท AMC ที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนา ระบบสถาบันการเงินเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ ที่สำคัญไม่ใช่เป็นการยกหนี้ให้ฟรีๆ และต้องดูกันต่อไปว่าลูกหนี้เหล่านั้นยังมีอาชีพ/รายได้ พอที่จะจ่ายหนี้หรือไม่
ส่วนผลกระทบต่อสถาบันการเงินของเอกชน น่าที่จะไม่มีเพราะเป็นความสมัครใจว่าสถาบันการเงินจะเข้าร่วมหรือไม่ ซึ่งหากจะตอบว่าสนใจหรือไม่สนใจคงจะต้องดูว่ามีหลักเกณฑ์อะไรบ้าง
นางชาลอตเชื่อว่า หนี้มีจำนวนไม่มาก เพราะในช่วงปี 2540-2541 ไม่ได้มีการบูมเรื่องสินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิต ดังนั้น ส่วนใหญ่หนี้ดังกล่าวได้รับการแก้ไขหรือไม่ก็มีการตัดหนี้สูญกันไป จนเกือบสูญพันธุ์หมดแล้ว พวกที่ติดค้างอยู่คงเป็นพวกที่มีปัญหาจริงๆ ที่หากมีมาตรการนี้ออกมา อาจทำให้ลูกหนี้พอจะชำระได้
ทั้งนี้ หนี้สินภาคประชาชนที่มีจำนวนมากขณะนี้เป็นหนี้ใหม่ที่มาบูมในช่วง 4-5 ปีหลังมากกว่า และหากเป็นหนี้ที่มีปัญหาตอนนี้น่าจะมาจากวินัยการใช้เงินซึ่งไม่ใช่ปัญหาเดียวกับในช่วงวิกฤต แต่การกำหนดว่าลูกหนี้ที่เข้าข่ายคือ ที่ถูกฟ้องก่อน 30 มิถุนายน 2548 ก็น่าที่จะมีบางส่วนเป็นหนี้ใหม่ในช่วงสินเชื่อบูมกัน
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นโยบายของรัฐบาลในการเข้ามาซื้อ หนี้เอ็นพีแอลจากธนาคารพาณิชย์ครั้งนี้ ยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งรัฐบาลจะให้เอเอ็มซีหรือหน่วยงานใดเข้ามาซื้อ และนำเงินไปทำอะไรนั้น ยังไม่มีความเข้าใจ อย่างไรก็ตาม ธนาคารพาณิชย์จะมองตรงที่เงื่อนไขของการซื้อหนี้มากกว่า เพราะปัจจุบันมีการปรับโครงสร้างและเรียก เก็บหนี้ได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้ตั้งสำรองไว้ครบแล้ว
นักวิชาการชี้เกมการตลาด
นายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า การดำเนินการของรัฐบาลในครั้งนี้ใครได้รับประโยชน์ ถ้าหากมองในแง่ประเด็นการเมือง เรื่องนี้ถือเป็น การตลาดทางการเมืองเพราะการให้ความช่วยเหลือกลุ่มลูกค้าที่เป็นหนี้บัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคลเป็นการขยายกลุ่มจากเดิมที่รัฐบาลลงไปเล่นในระดับ รากหญ้า ผ่านโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ซึ่งถือว่าฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ที่รัฐบาลเข้าไปช่วยเหลือมีฐานเสียงเพิ่มขึ้นเป็นแสนคน
อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่ของเศรษฐกิจการเมืองแล้วกลุ่มคนเหล่านี้หากได้รับความช่วยเหลือ ซึ่งเดิมต้องมีภาระหนี้จากการกู้ยืมเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าตัว หากสามารถแก้ปัญหาได้สำเร็จจริงก็จะทำให้คนกลุ่มนี้มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
"มองอีกด้านหนึ่งของเหรียญเงินที่นำมาใช้ในการแก้ปัญหาหนี้ คงหนีไม่พ้นเงินที่มาจากภาษีของประชาชนแน่นอน ซึ่งจุดนี้จะส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมการชำระหนี้ (MoralHazard) และทำให้คนใช้จ่ายเกินตัว ถือเป็นการนำเงินจากคนที่เป็นลูกหนี้ที่ดีไปคืนหนี้ให้กับคนที่สร้างปัญหาในการคืนหนี้ เพราะใช้จ่ายฟุ่มเฟือยจึงเกิดคำถามตามมาว่าสมควร หรือไม่" นายสมชายกล่าว
นอกจากนี้ อาจทำให้เกิดปัญหาในอนาคตได้ เพราะคนที่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยอาจจะมองว่า ท้ายที่สุดแล้วเมื่อเกิดปัญหาการคืนหนี้รัฐบาลก็จะเข้ามาจัดการแก้หนี้ให้ถ้าไม่เบี้ยวหนี้แล้วจะสู้เบี้ยวหนี้ไม่ได้ ซึ่งจุดนี้ค่อนข้างไม่เห็นด้วย เพราะเป็นเรื่องของจริยธรรมและเป็นการนำเงินภาษีของประชาชนมาใช้แก้ปัญหา และหนักใจแทน ธปท. ที่พยายามเข้ามากำกับดูแลการก่อหนี้ ทั้งในส่วนของหนี้ที่เกิดขึ้นจากบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เพราะอยู่ในฐานะผู้กำกับดูแล
นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษา การค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ถือเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากนโยบายประชานิยมของรัฐบาล ที่ก่อนหน้าส่งเสริมให้คนจับจ่ายใช้สอยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่สุดท้ายแล้วเมื่อเกิดปัญหารัฐบาลก็ต้องเร่งหาแนวทางเข้ามาช่วยเหลือด้วยการลดหนี้ให้ ซึ่งถือเป็นนโยบายที่แปลก
นอกจากนี้ ยังเห็นว่า ธปท.ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลต้องรับผิดชอบในความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ด้วยเช่นกันเพราะก่อนหน้านี้เปิดทางให้ธนาคารพาณิชย์ หรือนอน-แบงก์มีการออกบัตรเครดิตได้ง่าย ซึ่งทำให้ฐานลูกค้าบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก
ไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหาหนี้ที่เกิดขึ้นจากบัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคลเพราะเป็นการใช้จ่ายในสินค้าประเภทฟุ่มเฟือยและที่สำคัญหากรัฐยังคงเดินหน้าที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ท้ายที่สุดแล้วคนจะหันมาทำบัตรเครดิตมากขึ้น
นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การเข้ามาดำเนินการเรื่องนี้ของรัฐบาลต้องระมัดระวังและไม่ควรช่วยเหลือแบบเหวี่ยงแห เพราะการดำเนินธุรกิจของธนาคารพาณิชย์แล้วคงไม่โง่พอที่จะขายหนี้ที่ดีคืนให้กับรัฐบาลในอัตราที่มีส่วนลด และควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทราบถึงปัญหานี้ดีเข้ามาดูแลแทนการเข้าไปทำหน้าที่ตัวกลางของรัฐบาลที่ยังขาดความเชี่ยวชาญ
คลังหวังลูกหนี้หลุดแบล็กลิสต์
นายทนง พิทยะ รมว.คลัง ยืนยันว่า จำเป็นต้องมีมาตรการออกมาช่วยเหลือรายย่อย เนื่องจากเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นมานานกว่า 10 ปีแล้วแต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลได้ตั้งบสท. ขึ้นมาแก้ไขปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เกิดจากวิกฤต เศรษฐกิจในปี 2540 ซึ่งได้มีการเข้าไปและที่ผ่านมาก็ได้มีการเข้าไปแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ดังนั้น ณ ขณะนี้เท่ากับว่าได้มีการเข้าไปดูแลลูกหนี้ทุกกลุ่มยกเว้นหนี้ของประชาชนรายย่อย โดยเฉพาะพนักงาน ที่มีรายได้ประจำและข้าราชการที่มีมูลหนี้เงินต้นไม่เกิน 200,000 บาท ดังนั้น การแก้ไขปัญหาในครั้งนี้ จึงตีกรอบการแก้ไขหนี้ส่วนบุคคลกลุ่มนี้
"การแก้ไข จะทำให้ลูกหนี้เหล่านี้ หลุดพ้นจากสภาพความเป็นหนี้ เท่ากับหลุดจากแบล็กลิสต์ของแบงก์ซึ่งหากเข้ากระบวนการปรับโครงสร้างหนี้และสามารถชำระหนี้ได้ตามปกติ ก็ย่อมมีสิทธิ์ที่จะได้รับเครดิตจากสถาบันการเงิน เหมือนบุคคลปกติ"
สำหรับข้อกังวลเรื่องปัญหาพฤติกรรมการเบี้ยวหนี้ที่เกิดจากการใช้กลไกในการแก้ไขปัญหาหนี้ ของภาครัฐนั้นนายทนง กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้คำนึงถึงและเข้าใจประเด็นนี้ดีแต่อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า
ปรัชญาของการแก้ไขปัญหา คือการเข้าไปดูแลกลุ่มลูกหนี้ที่ยังไม่เคยได้รับการดูแลและจะเป็นการแก้ไขที่เกิดขึ้นในอดีต ไม่ใช่ในอนาคต ดังนั้น คนที่คิดจะเบี้ยวหนี้ในช่วงนี้ ไม่สามารถทำได้แต่หากมองว่า ประชาชนจะเชื่อว่า หากเกิดปัญหารัฐจะเข้ามาช่วยเหลืออยู่แล้วนั้น โดยส่วนตัวยังเชื่อว่าคงไม่มีใครที่คิดอยากเป็นหนี้ และพฤติกรรมการเบี้ยวหนี้เกิดขึ้นน้อยมากในหมู่คนจน เห็นได้จากตัวเลขหนี้เอ็นพีแอลโครงการหนี้ภาคประชาชนของธนาคาร ออมสิน
เปรียบเทียบบัตรเครดิตปี 2545 กับ 2548
ณ มกราคม 2545
จำนวนบัตร 2.61 ล้านใบ
ยอดสินเชื่อคงค้าง 3.86 หมื่นล้านบาท
ณ มกราคม 2548
จำนวนบัตร 9.34 ล้านใบ
ยอดสินเชื่อคงค้าง 1.28 แสนล้านบาท
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|