|

ทีโอทีพึ่งกรรมาธิการฯต่อรองกทช. สหภาพฯหมดน้ำยาปกป้ององค์กร
ผู้จัดการรายวัน(10 ตุลาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
กรรมาธิการสื่อสารและโทรคมนาคม ยื่นมือเข้าช่วยทีโอทีกับกสท เจรจากทช.วันที่ 11 ต.ค.นี้ เรื่องค่าธรรมเนียมมหาโหด ที่ทำกสทถึงกับเจ๊งและทีโอทีถึงกับเอียง ด้านพนักงาน ทีโอทีกดดันสหภาพฯ ล่า 400 รายชื่อหวังเปิดประชุมใหญ่ถอดถอนประธาน หลังสหภาพฯละเลยปกป้องผลประโยชน์องค์กร แตกแยกทะเลาะวิวาทถึงกับกรรมการวางมวยกันเอง
นายวิชิต ปลั่งศรีสกุล ประธานคณะกรรมาธิการสื่อสารและโทรคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่าในวันนี้ (10 ต.ค.) คณะกรรมาธิการฯจะเข้าหารือกับบริษัท กสทโทรคมนาคม เกี่ยวกับปัญหาต่างๆที่เกิดจากภาระค่าธรรมเนียมตามใบอนุญาตของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ภายหลังจากที่หารือกับบริษัท ทีโอที เมื่อวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งในส่วนของทีโอทีได้ฝากเรื่องให้คณะกรรมาธิการฯไปหารือกับกทช.ในหลายๆประเด็นสำคัญอย่างภาระที่เกิดขึ้นตามใบอนุญาตที่ทีโอทีและกสทได้รับจากกทช.ตั้งแต่วันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่ามีภาระที่ต้องจ่ายมากเกินไป โดยทีโอทีในปีแรกต้องจ่ายราว 5 พันล้านบาท จากเงื่อนไขค่าธรรมเนียมใบอนุญาต 3% จากรายได้ค่าธรรมเนียม การให้บริการโทรคมนาคมทั่วถึงหรือ USO 4% จากรายได้ค่าธรรมเนียมเลขหมายปีละ 12 บาทต่อเลขหมายรวมทั้งค่าธรรมเนียมความถี่
นายวิชิตกล่าวว่า ทีโอทีเห็นว่าค่าธรรมเนียมต่างๆเมื่อรวมกันแล้วมากเกินไป ซึ่งคณะกรรมาธิการจะเข้าพบกทช.ในวันที่ 11 ต.ค.ที่จะถึงนี้ ก็เพื่อหาคำตอบและให้กทช. อธิบายถึงแนวทางการคิดค่าธรรมเนียมว่ามีเหตุผลเช่นไร แต่ประเด็นสำคัญคือเงินจำนวน มากที่เรียกเก็บจาก 2 บริษัทนั้น กทช. มีแผนจะนำเงินไปใช้อย่างไร นอกจากนี้ตามข่าวที่ออกมาก่อนหน้านี้ กทช.บอกว่าหากเงินเหลือก็จะนำส่งกระทรวงการคลัง ซึ่งทีโอทีและกรรมาธิการฯก็มีความเห็นตรงกันว่าเป็นเรื่องซ้ำซ้อน เพราะกระทรวงการคลังก็ถือหุ้นใหญ่ในทีโอทีอยู่แล้ว
ทีโอทีนำเงินส่งคลังปีละกว่า 1 หมื่นล้านบาท หากกทช.บอกจะเก็บค่าธรรมเนียมจำนวนมาก ถ้าไม่ได้ใช้จะส่งกลับคลัง ผมว่ามันซ้ำซ้อนและไม่จำเป็นและเป็นการเพิ่มภาระให้หน่วยงานมหาศาล
ทีโอทียังฝากกรรมาธิการฯไปถามเรื่องบริการไทยโมบาย ที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตจาก กทช. หลังจากที่ทีโอทีได้ให้ข้อมูลกทช.ไปหมดแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้คำตอบจาก กทช. นอกจากนี้กรรมาธิการฯยังได้หารือกับทีโอทีเรื่องค่าเชื่อมโครงข่ายหรืออินเตอร์คอนเนกชัน ชาร์จ ที่เตรียมจะนำมาใช้ว่ามีแนวทางและอัตราเหมาะสมเช่นไร เพราะที่ผ่านมาค่าเชื่อมโครงข่ายได้ถูกศึกษาจากกรมไปรษณีย์เดิมมา ระยะหนึ่งจนกระทั่งมาถึง กทช.ได้ให้ทีโอที และกสทในฐานะผู้รับใบอนุญาตเจรจาหารือซึ่งได้ตกลงกันในเบื้องต้นแล้ว ในอัตรา 1.07 บาทต่อนาทีสำหรับรายได้ของโครงข่ายที่รับ ทราฟิกเข้า
ด้านนายธีรวิทย์ จารุวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ทีโอทีกล่าวว่าทีโอทีให้ข้อมูลกรรมาธิการฯไปตามความเป็นจริง ซึ่งถือว่ากรรมาธิการฯก็ปฏิบัติตามหน้าที่ ซึ่งทีโอทียืนยันว่า กทช.เก็บเงินมากเกินไปและไม่มีแผน การใช้เงินที่ชัดเจนนอกจากนี้การที่ กทช.บอกว่าเงินส่วนที่เก็บไปแล้วไม่ได้ใช้จะนำส่งให้คลัง ก็เป็นเรื่องไม่จำเป็นและซ้ำซ้อนเพราะทีโอทีส่งเงินเข้าคลัง 40% หรือ 1 หมื่นล้านบาทรวมภาษี นิติบุคลอีก 4-5 พันล้านบาท รวมแล้วทีโอทีส่งเงินให้คลังปีละ 1.4-1.5 หมื่นล้านบาท
ประเด็นคือบริษัทไหนมีค่าใช้จ่ายเพิ่มอีกปีละ 5 พันล้านบาท มันก็ไปไม่รอด ทางแก้ปัญหาคือกทช.ควรมองภาพรวมอุตสาห-กรรมโทรคมนาคมทั้งระบบในระยะ 3-4 ปีข้างหน้า ต้องคิดในเชิงพาณิชย์ประกอบด้วยว่า จะมีผู้ประกอบการกี่รายและควรคิดค่าธรรมเนียมภาพรวมเท่าไหร่ ซึ่งอาจเหลือเพียง 1 หรือครึ่งเปอร์เซ็นต์เท่านั้น "ค่าธรรมเนียมควรเหมาะสม 5 พันล้านมันมากไป สัก 500 ล้านพอรับได้ อย่าลืมว่า ทีโอทีมีคลังถือหุ้น 100% เป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน ถ้า กทช.เก็บค่าธรรมเนียมอย่างนี้ กสทเจ๊ง ทีโอทีก็เอียง แล้วกทช.พอใจอย่างนั้นใช่หรือไม่"
นายธีรวิทย์กล่าวว่าส่วนเรื่องการใช้อินเตอร์คอนเนกชันชาร์จ ต้องเริ่มจากขั้นแรกก่อนคือการจัดระเบียบโครงข่ายที่ กทช. สามารถทำได้ทันที โดยสั่งการผ่านมายังทีโอทีซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาต ซึ่งการจัดระเบียบโครงข่ายจะทำให้รู้ว่าทราฟิกส่งไปมามีปริมาณ เช่นไร จากโอเปอเรเตอร์รายไหนไปรายไหน ซึ่ง จะทำให้แก้ปัญหาการบล็อกสัญญาณระหว่างกันได้ รวมทั้งยังเป็นการป้องกันทราฟิกเถื่อนซึ่งปัจจุบันยังมีการลักลอบจำนวนมากที่ทำให้รัฐเสียประโยชน์จากนั้นขั้นที่ 2 จึงประกาศใช้อัตราอินเตอร์คอนเนกชันชาร์จ อินเตอร์คอนฯ ที่ใช้ไม่ได้สักที เพราะไม่มีการจัดระเบียบโครงข่ายก่อน ซึ่งแทนที่กทช.จะมาทำเรื่องนี้ก่อน ก็ไม่ทำ
พนักงานกดดันสหภาพฯไร้น้ำยา
พนักงานทีโอทีรายหนึ่งซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพฯทีโอทีกล่าวว่า สมาชิกสหภาพฯกำลังรวบรวมชื่อให้ครบ 400 คนเพื่อขอให้สหภาพฯ เปิดประชุมใหญ่เนื่องจากพนักงานได้รับความเสียหายจากนายจ้างฝ่ายบริหารทีโอทีและองค์กรภายนอกมาแทรกแซง บ่อนทำลายผลประโยชน์เกี่ยวกับสภาพการจ้างมากมายเช่น การขึ้นขั้นเงินเดือน การคิดโบนัส ปัญหากองทุนบำเหน็จ หรือไม่รักษาผลประโยชน์ของทีโอที ยอมให้บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่นมาแย่งงานในสนามบินสุวรรณภูมิ โดยสหภาพฯได้ละเลยการแสวงหาคุ้มครองผลประโยชน์เกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือไม่รักษาผลประโยชน์ดังกล่าว รวมทั้งไม่เปิดประชุมชี้แจงทำความเข้าใจในแต่ละเรื่องให้แก่สมาชิกทราบจนถึงปัจจุบัน ถือว่าเป็นการดำเนินงานที่ขัดต่อข้อบังคับและกฎหมาย
หลังจากยื่นหนังสือแล้ว สหภาพฯต้องเปิดประชุมใหญ่ภายใน 30 วันตามกฎหมาย พนักงานทนไม่ไหวแล้วกับการบริหารสหภาพฯ แบบสมัครเล่น มือไม่ถึง แตกความสามัคคีถึง กับมีเหตุทะเลาะวิวาทชกต่อยระหว่างกรรมการ ด้วยกันเอง แล้วอย่างนี้จะมาทำอะไรเพื่อพนักงานและองค์กรได้ ซึ่งคาดว่าจะมีการเสนอวาระถอดถอนประธานสหภาพฯด้วย
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|