|

นักวิเคราะห์นครหลวงไทยออกยกทีม สมาคมฯย้ำเร่งเพิ่มจำนวนนักวิเคราะห์
ผู้จัดการรายวัน(10 ตุลาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
นักวิเคราะห์ค่าย บล.นครหลวงไทยยกทีมออก "สุภกร-อรุณรัตน์" นำทีมเข้าร่วมงานกับ บล.ทีเอสอีซี ระบุจากกันด้วยดี "บิ๊กนครหลวงไทย" ชี้ไม่กระทบ เตรียมหาทีมใหม่เข้าเสียบแทน "ก้องเกียรติ" นายก ส.นักวิเคราะห์ ย้ำต้องเร่งเพิ่มนักวิเคราะห์ ล่าสุด มีเพียง 300-400 คนเมื่อเทียบกับนักลงทุนเกือบ 2 แสน ด้าน "สาธิต" ชี้นักลงทุนไทยชอบซื้อขายหุ้นรายตัว เชื่ออนาคตจะครอบคลุมความเสี่ยง-ปัจจัยบวกมากขึ้น
แหล่งข่าวจากบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทีเอสอีซี จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทได้รับนักวิเคราะห์หลักทรัพย์จาก บล.นครหลวงไทยเข้ามา เพราะ บริษัทมีแผนที่จะมุ่งพัฒนางานวิเคราะห์ให้เกื้อหนุนในงานเกี่ยวกับไอที ที่กำลังพัฒนา โดยขณะนี้บริษัทได้พัฒนาเว็บไซต์ของบริษัท ซึ่งภายในเว็บไซต์จะนำบทวิเคราะห์เข้าไปอยู่เพื่อให้นักลงทุนได้รับทราบข้อมูล และถ้ามีข่าวหรือปัจจัยใดที่มีผลกระทบต่อหุ้นก็จะมีการเปิดเผยในเว็บไซต์ให้นักลงทุนได้รับรู้ ซึ่งรวมถึงการแนะนำหุ้นที่น่าสนใจ ซึ่งจะช่วย สนับสนุนเกี่ยวกับการซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ตเทรดดิ้งได้ในอนาคต
ทั้งนี้ บริษัทมีแผนที่จะมีนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ให้ครอบคลุมกลุ่มต่างๆ ให้มากที่สุด นอกจากนี้ ภายในเว็บไซต์ของบริษัทนั้นจะเห็น ทั้งภาพและเสียงของนักวิเคราะห์ที่จะมาให้ข้อมูล รวมถึงยังจะมีเสียงพากย์หุ้นเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นอย่างเรียลไทม์ โดยบริษัท จะเปิดตัวเว็บไซต์อย่างเป็นทางการภายในงาน SET in the City
นางสาวอรุณรัตน์ จิรวางกูร ผู้อำนวยการนักวิเคราะห์ บล.ทีเอสอีซี จำกัด เปิดเผยว่า ตน และนางสาวสุภากร สุจิรัตน์วิมล และฝ่ายข้อมูล อีก 2-3 คนได้ตัดสินใจย้ายจาก บล.นครหลวงไทย มาทำงานที่ บล.ทีเอสอีซี ถือเป็นการย้ายงานตามปกติ ซึ่งทาง บล.นครหลวงไทยก็ให้ความเห็นชอบสามารถย้ายงานได้ซึ่งไม่มีปัญหาอะไร
ทั้งนี้ ทางฝ่ายวิเคราะห์ของ บล.นครหลวงไทยก็ยังคงมีนักวิเคราะห์ที่ทำหน้าที่อยู่ แต่เพียงยังไม่สามารถให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อได้เท่านั้น
นายวิกิต ขจรณรงค์วณิช กรรมการผู้จัดการ บล.นครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการลาออกของเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิเคราะห์หลัก-ทรัพย์ในทีมของบริษัทว่า เรื่องดังกล่าวไม่ส่งผลต่อบริษัท โดยทีมที่มีอยู่ในปัจจุบันยังถือว่าสามารถดูแลในส่วนของการวิเคราะห์ให้ลูกค้าของบริษัทได้
ทั้งนี้ ตอนนี้อยู่ระหว่างการเตรียมหารือกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิเคราะห์ ที่อื่นเพื่อเข้ามาแทนทีมที่มีการลาออกไป
อย่างไรก็ตาม บริษัทพร้อมที่จะทำตามระเบียบของสมาคม นักวิเคราะห์หากมีการออกกฎที่ชัดเจนเกี่ยวกับจำนวนนักวิเคราะห์ในบริษัทหลักทรัพย์แต่ละแห่ง เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกแห่ง"เราก็พร้อมจะทำตามกฎเกณฑ์และระเบียบหากมีความชัดเจน แต่คงไม่กำหนดให้ได้แค่ขั้นต่ำเท่านั้น แต่ตอนนี้ไม่มีผลกระทบจากการย้ายงานที่เกิดขึ้น" นายวิกิตกล่าว
ไทยเน้นเทคนิคมากไป
ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ นายกสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ กล่าวว่า ปัจจุบันบุคลากรในอาชีพนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ทั้งทางด้านพื้นฐานและทางด้านเทคนิคมีประมาณ 300-400 คน ซึ่งหากเปรียบเทียบ กับจำนวนนักลงทุนที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ที่มีสูงถึง 2 แสนราย โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นนักลงทุนที่ลงทุนอย่างต่อเนื่องประมาณ 6 หมื่นราย ก็ถือว่าสัดส่วนดังกล่าวยังน้อยมาก
สำหรับนักลงทุนต่างชาติยังให้น้ำหนักในการพิจารณาบทวิเคราะห์การลงทุนจากต่างชาติมากกว่า เนื่องจากการวิเคราะห์จะครอบคลุมภาพรวม โดยมีการประเมินถึงปัจจัยภายใน-นอกประเทศ รวมถึงปัจจัยต่างๆ ทั่วโลกที่จะกระทบ หรือส่งผลดีซึ่งจะส่งผลดีต่อนักลงทุนมากกว่า
ส่วนบทวิเคราะห์ของไทยส่วนใหญ่ยังให้น้ำหนักกับการวิเคราะห์ตามสัญญาณทางเทคนิค(กราฟ) เป็นส่วนมาก ซึ่งในเรื่องดังกล่าว นักลงทุนที่มีความรู้ส่วนใหญ่จะเข้าใจอยู่แล้ว บทบาทนักลงทุนจึงควรให้น้ำหนักกับการนำปัจจัยอื่นๆ หรือพื้นฐานของบริษัทเข้ามาประกอบ
"สิ่งที่ควรจะเปลี่ยนก็น่าจะต้องมีการนำพื้นฐานและปัจจัยที่แท้จริง เข้ามาพิจารณา" ดร.ก้องเกียรติกล่าว
นายสาธิต วรรณศิลปิน กรรมการและปฏิคมสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ กล่าวว่า การจัดทำบทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ทุกแห่ง จะพิจารณาลักษณะเฉพาะของนักลงทุน ซึ่งที่ผ่านมานักลงทุนไทยจะเป็น ลักษณะการซื้อขายเก็งกำไร
การออกบทวิเคราะห์จึงต้องมีการกำหนดสัดส่วนในการทำลักษณะ รายตัวเป็นจำนวนมาก รวมถึงการนำสัญญาณทางด้านเทคนิคเพื่อช่วยในการคาดคะเนและคาดการณ์จากสถิติที่เคยเกิดขึ้นประกอบ
แม้ว่าปัจจุบันบทบาทของนักลงทุนต่างชาติจะเข้ามาเป็นกลุ่มที่เป็น ผู้นำและชี้นำการลงทุนในตลาดหุ้นไทย แต่พฤติกรรมการลงทุนที่ต่างจาก นักลงทุนรายย่อยในประเทศ การเลือกพิจารณาบทวิเคราะห์จึงมีความแตกต่างกัน ซึ่งคงต้องให้นักลงทุนเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะรับข้อมูลบทวิเคราะห์ใดประกอบพิจารณาการลงทุน
อย่างไรก็ตาม บทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ในต่างประเทศก็ไม่ สามารถครอบคลุมการวิเคราะห์เป็นรายบริษัทได้เท่าบริษัทหลักทรัพย์ในประเทศ
แนวโน้มของบทวิเคราะห์ในอนาคตจะต้องครอบคลุมให้สามารถตอบสนองความต้องการได้ทั้งลูกค้ารายย่อย สถาบัน หรือแม้แต่นักลงทุน ต่างชาติ โดยทีมนักวิเคราะห์จะต้องนำปัจจัยหลายเรื่องที่จะส่งผลดี-ผลกระทบมารวมพิจารณามากขึ้น
"เราก็หาวิธีเพิ่มจำนวนนักวิเคราะห์ให้มากขึ้น เพราะนักวิเคราะห์ เมื่อเทียบกับจำนวนนักลงทุนยังถือว่าน้อยมาก" นายสาธิตกล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|