|
ผู้ค้านำมันยอมหลังถูกสวด ลดเบนซินหนแรกใน5เดือน
ผู้จัดการรายวัน(10 ตุลาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ผู้ค้าน้ำมันยอมลดแล้ว เบนซิน- แก๊สโซฮอล์ปรับลง 40 สตางค์วันนี้ เป็นครั้งแรกรอบ 5 เดือน แต่ดีเซลไม่ลด หลังถูกสวดยับเอาเปรียบผู้บริโภค จากที่ราคาสิงคโปร์ที่ใช้อ้างอิงลดมานานแล้วแต่ยังด้านขายราคาสูง ส่วนค่าไฟฟ้าลุ้น 17 ต.ค.นี้ตัดสินค่าเอฟทีคำนวณใหม่ พลังงานโยนที่ประชุม กพช.ชี้ขาดจะคิดเป็นรายเดือน หรือ 4 เดือนให้ตรงรอบ (ต.ค.48-ม.ค.49) จับตาไม่ว่าจะเป็นสูตร ไหนประชาชนโดนทั้งขึ้นทั้งล่องไม่ต่ำกว่า 18 สตางค์ต่อหน่วยแน่
รายงานข่าวแจ้งว่า วานนี้ (9 ต.ค.) ผู้ค้าน้ำมัน ทุกรายได้ประกาศปรับลดราคาน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ลง 40 สตางค์ต่อลิตร มีผลวันนี้ (10 ต.ค.) ตั้งแต่ 05.00 น. เป็นต้นไป ส่วนราคาน้ำมันดีเซลยังไม่เปลี่ยนแปลง ทำให้ราคาน้ำมันเบนซินในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เบนซิน 95 หล่นลงมาเหลือ ราคาลิตรละ 27.34 บาท เบนซิน 91 ลิตรละ 26.54 บาท แก๊สโซฮอล์ ลิตรละ 25.84 บาท ขณะที่น้ำมันดีเซลยังขายอยู่ที่ลิตรละ 24.19 บาท
การปรับลดราคาน้ำมันเบนซินครั้งนี้ของผู้ค้าน้ำมันนับเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 5 เดือนตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค.เป็นต้นมา ซึ่งมีการปรับลดครั้งสุดท้าย หลังจากที่ราคาน้ำมันได้ทำสถิติสูงสุดหรือนิวไฮมาตลอด โดยต่อมารัฐบาลประกาศลอยตัวแบบมีการจัดการน้ำมันเบนซินเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ผู้ค้าน้ำมันได้ลอยตัวน้ำมันตามราคาน้ำมันตลาดโลกมาแล้วทั้งสิ้น 19 ครั้งๆ ละ 40 สต.รวม 4.80 บาท
อย่างไรก็ตาม การลดราคาครั้งนี้ช้ากว่าการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันในตลาดสิงคโปร์ที่ไทยใช้อ้างอิง จนผู้ค้าน้ำมันโดยเฉพาะ บมจ.ปตท.ถูก วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าเอาเปรียบผู้บริโภคเพราะช่วงขาขึ้นผู้ค้าเหล่านี้มักขึ้นราคาทันทีที่ราคาสิงคโปร์ปรับขึ้น แต่ขาลงกลับไม่ยอมลดลงโดยอ้างค่าการตลาดและราคาหน้าโรงกลั่นมีส่วนต่างกันไม่มาก ทั้งที่โรงกลั่นส่วนใหญ่ก็เป็นของ ปตท. จนกระทั่ง นายวิเศษ จูภิบาล รมว.กระทรวงพลังงานส่งสัญญาณให้ตรวจสอบเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา แต่ก็ได้รับคำตอบจากผู้ค้าว่า จะขอรอดูราคาน้ำมันสิงคโปร์ในวันจันทร์นี้ ทว่าในที่สุดก็ยอมที่จะลดราคา
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ราคาน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ที่ปรับลด เพราะ ปตท.พิจารณาเห็นว่าค่าการตลาดที่ได้รับมีการปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับประมาณ 1.20 บาทต่อลิตร จึงเป็นอัตราที่พอจะลดราคาให้แก่ผู้บริโภคได้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้มีการตรึงราคาน้ำมันไม่ให้ปรับขึ้นมาโดยตลอด และหากราคาตลาดโลกยังปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ปตท.ก็จะพิจารณาปรับลดราคาลงอีก ส่วนน้ำมันดีเซลที่ยังไม่มีการปรับลดลงครั้งนี้ เพราะค่าการตลาดที่ได้รับยังอยู่ในระดับต่ำ แต่หากค่าการตลาดดีขึ้นก็มีแนวโน้มอาจจะพิจารณาปรับลดเช่นกัน ทั้งนี้ คาดว่าราคาดีเซลไม่น่าจะลดลง มีแต่ขยับขึ้น เพราะประเทศตะวันตกเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว ทำให้ราคาน้ำมันดีเซลอาจผันผวนขึ้นอีก
ค่าเอฟทีใหม่ใกล้สรุป
ด้านนายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยในงานสัมมนา "โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า" ว่าได้เลื่อนการประชุมคณะกรรมการกำกับสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (Ft) เพื่อพิจารณางวดใหม่ของเดือน ต.ค.-ม.ค.2549 จากวันที่ 13 เป็นวันที่ 19 ต.ค.แทน เพื่อรอให้คณะกรรมการ นโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีการพิจารณาหลักเกณฑ์ โครงสร้างต่างๆ ในวันที่ 17 ต.ค.นี้ก่อน ทั้งเรื่องการคำนวณค่าเชื้อเพลิง การเกลี่ยฐานะทางการเงินของ 3 การไฟฟ้า คือ บริษัทกฟผ.จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)
นายเมตตา บันเทิงสุข ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า เดิมจะมีการพิจารณารายละเอียดสูตรค่า Ft ใหม่ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กบง.) วันที่ 11 ต.ค. แต่เห็นว่าท้ายสุดการตัดสินใจจะอยู่ที่ กพช. จึงจะนำเสนอแนวทางการปรับสูตรทีเดียวในการประชุม กพช.วันที่ 17 ต.ค.นี้ โดยการปรับสูตร Ft ใหม่ซึ่งคำนวณเฉพาะแค่ค่าเชื้อเพลิงกับค่าซื้อไฟฟ้าที่เปลี่ยนไปจากเดิมที่จะมี
อัตราเงินเฟ้อ ผลกระทบอัตราแลกเปลี่ยน
ดังนั้น กระทรวงพลังงานจะเสนอ 2 ทางเลือก ให้พิจารณาได้แก่ 1. การประกาศ Ft เป็นรายเดือนซึ่งแนวทางดังกล่าวทาง 3 การไฟฟ้าต้องการดำเนินงาน เนื่องจากจะเป็นการคิดที่ตรงเดือนซึ่งจะเป็นธรรม ต่อผู้บริโภคด้วย และแนวทางที่ 2 คือการคำนวณ Ft ใหม่ให้ตรงรอบ 4 เดือน (ต.ค.48-ม.ค.49) โดยจะคิดค่าเชื้อเพลิงแต่ละเดือนนำมาเฉลี่ยแล้วประกาศ Ft ครั้งเดียว ซึ่งวิธีดังกล่าวทางสภาอุตสาหกรรมแห่ง ประเทศไทย (ส.อ.ท.) เคยเสนอมา เนื่องจากจะทำให้การคิดต้นทุนผลิตสินค้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้งและง่ายต่อการวางแผนนำเข้า และส่งออก แต่ข้อเสียการคิดลักษณะให้ตรงรอบอาจจะเป็นการคำนวณเชื้อเพลิงโดยเฉพาะราคาก๊าซธรรมชาติล่วงหน้า ซึ่งอาจจะมีการเก็บเกินหรือไม่เพียงพอทำให้ต้องนำส่วนเพิ่มหรือลดดังกล่าวไปบวกลบในรอบ 4 เดือนถัดไป
"เมื่อได้ข้อสรุปแล้วคณะอนุกรรมการกำกับสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติหรือ Ft ที่มีนายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ ปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธานพิจารณาประกาศ Ft ใหม่ในวันที่ 19 ต.ค.นี้" นายเมตตากล่าว
นายไกรสีห์ กรรณสูต กรรมการผู้อำนวยการ ใหญ่ บมจ.กฟผ. กล่าวว่า การคิดค่า Ft ใหม่จะตรงรอบ 4 เดือนมากขึ้นเพื่อที่จะทำให้การลงบัญชีรายรับ รายจ่ายแต่ละเดือนง่ายต่อการดำเนินการ ประกอบกับทั้ง กฟผ. และประชาชนจะได้รับความเป็นธรรมไม่มีผู้ได้เปรียบหรือเสียเปรียบแต่อย่างใด โดยวิธีการดังกล่าวจะทำให้กฟผ.ต้องรับภาระค่าเชื้อเพลิง 4 เดือนก่อน (มิ.ย.-ก.ย.) ซึ่งเดิมจะต้องนำมาเรียกเก็บจากประชาชนในรอบเดือนต.ค.48-ม.ค.49 นี้ ประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาทหรือหากคิดเป็นค่า Ft ที่ต้องปรับขึ้นจะต้องอยู่ประมาณ 10 กว่าสตางค์ต่อหน่วย
นายณอคุณ สิทธิพงษ์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน และในฐานะกรรมการกฟผ.กล่าวว่า จากนี้ไป กฟผ.จะต้องบริหารความเสี่ยงทุกด้านทั้งอัตราแลกเปลี่ยน เงินเฟ้อ ไม่สามารถนำมาบวกในค่าไฟฟ้าฐาน และ Ft ได้เพราะสูตรดังกล่าวจะกำหนดใช้ไปอีก 3 ปี นอกจากนี้ บมจ.กฟผ.จะต้องเจรจากับ บมจ.ปตท.ในการจัดทำสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ ซึ่งจะต้องดูรายละเอียดที่จะสามารถนำมาลดค่าไฟฟ้าได้
"ขณะนี้ก็กำลังดูกันอยู่ โดยยอมรับว่าในแง่ของสัมปทานแหล่งก๊าซฯนั้นมีสัญญาแน่นอน แต่สัญญาซื้อขายบางจุดก็น่าจะพิจารณาได้เช่น ค่าผ่านท่อก๊าซฯของ บมจ.ปตท.เส้นแรกได้ลงทุนไปนานแล้วและค่าเงินบาทขณะนั้นอยู่ที่ 25 บาทต่อเหรียญสหรัฐคงจะลดลงจากปัจจุบันได้บ้าง แต่ก็คงจะต้อง ดูให้ผลตอบแทนส่วนเพิ่มเพื่อที่จะนำไปลงทุนวางท่อได้เพิ่มเติมอีก เรื่องนี้คงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง"นายณอคุณกล่าว
จับตา Ft กระฉูด 18 สต.ต่อหน่วย
แหล่งข่าวจากวงการพลังงานกล่าวว่า จากการ หารือเบื้องต้นหากกระทรวงพลังงานคิดค่าเชื้อเพลิง 4 เดือนให้ตรงรอบไม่ว่าจะเป็นรายเดือนหรือ 4 เดือนเฉลี่ย (ต.ค.48-ม.ค.49) ค่า Ft มีแนวโน้มต้องปรับเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน โดยราคาก๊าซฯในเดือน ต.ค. ส่วนหนึ่งตามสัญญาซื้อขายจะทำการปรับเพิ่มโดยเฉลี่ยอีก 20 บาทต่อล้านบีทียู หรือจะอยู่ที่ประมาณ 180-185 บาทต่อล้านบีทียู หากคิดเป็นค่า Ft โดยไม่มีการบริหารจัดการใดๆ จะต้องปรับขึ้นไม่ต่ำกว่า 18 สตางค์ต่อหน่วย เอกชนชี้คิดรายเดือนวางแผนยาก
นายประพัฒน์ โพธิวรคุณ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ความเห็นส่วนตัวหากรัฐบาลเลือกที่จะคิดค่า Ft ให้ตรงรอบ 4 เดือนโดยไม่ได้คิดย้อนหลังเหมือนในอดีตก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดีกว่าการที่จะคำนวณหรือคิดเป็นรายเดือนเพื่อเรียกเก็บในบิลค่าไฟ เพราะจะมีผลกระทบต่อการคำนวณต้นทุนการผลิตสินค้าได้ยากมากและจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง
นายเกียรติพงศ์ น้อยใจบุญ รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวคงจะต้องมีการหารือกันในภาพรวมเพราะมีผลกระทบต่อภาคการผลิตคงต้องหาจุดที่เหมาะสมที่สุด แต่ส่วนตัวคิดว่าการคิดเป็นรายเดือนค่อนข้างจะเป็นเรื่องที่จะกระทบมากกว่า
แหล่งข่าวกล่าวว่า การคิดค่าไฟเป็นรายเดือนจะมีผลลักษณะจิตวิทยาที่ผู้ประกอบการจะมีการอ้างการปรับราคาสินค้าได้บ่อยครั้งขึ้นและจะเป็นเรื่องที่ควบคุมลำบาก ดังนั้น รัฐบาลจะต้องตัดสินใจ ให้ดี แต่การปรับ 4 เดือนก็จะต้องให้โปร่งใสว่าไม่คิดล่วงหน้าเกินไป
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|