เชื่อคอนเทนต์ออนดีมานด์ไทยโต ไททัชตั้งเป้าปีหน้ากวาด 350 ล้าน


ผู้จัดการรายวัน(10 ตุลาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ไททัชเชื่อตลาดระบบถ่ายทอด คอนเทนต์นานาชนิดบนทีวีหรือที่เรียกว่า Content on Demand ในสถานที่อย่างโรงภาพยนตร์ สถานีรถไฟฟ้า หรือแฟรนไชส์ร้านอาหารในประเทศไทยขยายตัวแน่นอน ประกาศชัดพัฒนาเองแบบครบวงจรไร้คู่แข่ง ตั้งเป้าปีหน้ากวาดรายได้ 350 ล้านบาท

นายจอห์นนี ซีโก ประธานที่ปรึกษาและ ซีอีโอ บริษัท Taitouch Marketing Consultant จำกัด ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ระบบมัลติมีเดียบอร์ดคาสติง กล่าวว่า ธุรกิจโซลูชันถ่ายทอด Content on Demand บนเครือข่ายทีวีในสถาน ที่อย่างโรงภาพยนตร์ แฟรนไชส์ร้านค้าร้านอาหาร หรือธนาคารในประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงการขยายตัว

"เป็นซอฟต์แวร์โซลูชันที่สามารถเอาไปใช้ได้ในหลายกลุ่ม ธนาคาร หน่วยงานภาครัฐฯ แฟรนไชส์ร้านค้าร้านอาหาร โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า โรงเรียน มหาวิทยาลัย ยกตัวอย่างเช่น ร้านค้าแฟรนไชส์ นอกจากร้านจะต้องการฉายรายการทีวีทั่วไปให้ลูกค้าชมแล้ว บางครั้งอาจจะต้องการประชาสัมพันธ์ข้อมูลโปรโมชันของร้าน หรืออาจอยากมีพื้นที่สำหรับอัปเดตข่าวด่วน เหล่านี้เราสามารถรวมอยู่บนหน้าจอเดียวกันได้ ตลาดนี้เติบโตมหาศาลในหลายประเทศ ประเทศไทยนั้นกำลังอยู่ระหว่างการเติบโต"

การเติบโตของระบบ Content on Demand นั้นเห็นได้ชัดเจน สามารถสังเกตได้จากหน้าจอทีวีที่มีลักษณะถูกแบ่งพื้นที่ออกเป็น กรอบหลายๆกรอบ โดยแต่ละกรอบจะถ่ายทอด เนื้อหาเรื่องราวที่แตกต่างกันไป หลักการทำงานคือหน้าจอทีวีจะถูกต่อเข้ากับระบบคอมพิวเตอร์ ที่ติดตั้งซอฟต์แวร์นี้ ซึ่งผู้ใช้สามารถเพิ่ม ลบ แก้ไข รวบรวมคอนเทนต์ตามต้องการเพื่อจัดสรรให้แสดงผลบนหน้าจอเดียวได้ โดยไททัชนั้นให้บริการ Content on Demand ผ่านเว็บเบราว เซอร์ด้วย

ไททัชทำตลาดในชื่อ e-TV 21 ย่อมาจาก Enformation TV แห่งศตวรรษที่ 21 เป็นการรวมเอาระหว่างเอนเตอร์เทนเมนท์และอินฟอร์เมชันเข้าด้วยกัน โดยมีจุดเด่นอยู่ที่การพัฒนาเองในประเทศไทย เด่นที่พัฒนาเอง

"เราพัฒนาเอง ถ้าลูกค้าต้องการอินติเกรต อะไรเราทำได้หมด ทั้งระบบไลฟ์เอสเอ็มเอส ระบบจัดหมายเลขคิว ไลฟ์ไอพีคาเมรา หรือระบบประกาศข่าวข้อมูลแบบเรียลไทม์ ต่างกับบริษัทอื่นที่อยู่ในตลาดนี้ พวกนั้นนำเข้าซอฟต์แวร์ จากต่างประเทศ ซึ่งเมืองนอกอาจจะยอมแก้ไขหรือไม่ยอมแก้ไขซอฟต์แวร์เพื่อปรับตามความต้องการของลูกค้าก็ได้"

นอกจากจุดเด่นเรื่องการพัฒนาโดยคนไทย ไททัชยังมีจุดเด่นที่การใช้งานง่ายของโปรแกรม ผู้ใช้ระบบนี้สามารถเพิ่มช่องทางทำรายได้จากระบบด้วยการรับค่าโฆษณาได้ เอื้อประโยชน์ต่อ การทำประชาสัมพันธ์ สามารถเรียกดูรีพอร์ตว่าระบบได้ถ่ายทอดคอนเทนตŒใดไป ซึ่งสามารถนำไปเป็นฐานข้อมูลประกอบการตัดสินใจอื่นๆได้

นายจอห์นนี่กล่าวว่า นอกจากระบบ Content on Demand ไททัชยังให้บริการถ่ายทอด สดผ่านเครือข่าย LAN WAN Internet และ Intranet ควบคุมจากเซิร์ฟเวอร์ส่วนกลาง

"การถ่ายทอดสดนี้สามารถนำมาใช้ได้กับทั้งการประชุมทางไกลและการเรียนทางไกล ตอนนี้เรามีโครงการ Aroma School จะเป็น การถ่ายทอดสดการสอนทำผลิตภัณฑ์อโรมา เราสามารถฟิกซ์ตารางเวลาเหมือนการเข้าคลาสในห้องเรียนได้ ด้านการศึกษาเรายังมีโครงการ UNET เป็นโครงการ Content on Demand กับมหาวิทยาลัยเอแบคและเกษตรศาสตร์ ตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างการทดลองใช้งาน ในอนาคตคาดว่าจะมีการรวมกันระหว่างมหา-วิทยาลัยต่างๆ"

ไททัชมองว่าข้อจำกัดของระบบมัลติมีเดียบรอดคาสติงนั้นอยู่ที่การเป็นโซลูชันโปรดักต์ที่ต้องขึ้นอยู่กับการพัฒนาตามความต้องการของตลาด ระยะเวลาในการดำเนินงานค่อนข้างนาน การลงทุนค่อนข้างสูง และยังขาดบุคลากรในการพัฒนาคอนเทนต์อยู่ในขณะนี้ แต่ข้อได้เปรียบคือการได้รับประโยชน์ในวงกว้าง

"ระยะเวลาพัฒนาราว 6 ถึง 10 เดือน อย่าง ระบบในธนาคารต้องใช้เวลาราวหนึ่งปี ความต้องการของลูกค้ามีมาก ธุรกิจนี้ไม่เหมือนกับการขายกระดาษ แต่ต้องอาศัยระยะเวลาพัฒนาและ educate ลูกค้า" ด้วยข้อจำกัดเหล่านี้ ประกอบกับการเพิ่งเริ่ม เปิดตัวเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ส่งให้จำนวนเพลเยอร์ (player) หรือหน้าจอแสดงผลที่ใช้โปรแกรมของไททัชยังไม่แพร่หลายมากนัก

"ถ้าจะให้ประมาณมูลค่าตลาดในปีหน้า คง ต้องบอกว่ามูลค่าในแต่ละงานไม่เหมือนกัน โฆษณาก็อย่างหนึ่ง โรงพยาบาลก็อย่างหนึ่ง ตลาด ค่อนข้างกว้างมาก มูลค่ามหาศาล แต่สำหรับเรา เราคาดการณ์ว่าปีหน้าทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์รวมกันน่าจะประมาณ 350 ล้านบาท นี่คือ best ของเรา ที่ผ่านมาเรายังอยู่ในช่วงการตลาด จำนวนเพลเยอร์ยังน้อย ประมาณ 200 จุด" ยังไม่เห็นคู่แข่ง

ผู้บริหารไททัชมั่นใจว่า ยังไม่มองว่าบริษัทใดเป็นคู่แข่ง ระบุว่ายังไม่มีบริษัทใดสามารถพัฒนาระบบเองได้ครบวงจรเช่นไททัช บางรายยังเป็นระบบแมนนวลอยู่ คอนเทนต์ทุกอย่างต้องบันทึกใส่ซีดีเพื่อเปิด

ราคาของ e-TV จะคำนวณตามจำนวนเพลเยอร์ สนนราคาไลเซนส์ซอฟต์แวร์อย่างเดียวคือ 60,000 บาทต่อหนึ่งเพลเยอร์ต่อปี ประมาณ 100,000 บาทต่อฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์หนึ่งชุด ส่วนแผนการพัฒนาในอนาคต คือการขยายวงไปสู่เครือข่ายไร้สาย และการเน้นที่อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์อย่างอุปกรณ์ setop box พร้อมเตรียมขยายตลาดไปยังประเทศเวียดนาม จีน และไต้หวัน

"ตอนนี้ระบบเรารันบนวินโดวส์อย่างเดียว ในอนาคตเราจะพัฒนาเวอร์ชันลินุกซ์เพื่อลดต้นทุนค่าโอเอส เราจะขยายวงสู่ระบบ wireless broadcasting และอุปกรณ์ setop box เรากำลังเร่งทำการตลาด ออกโรดโชว์งานแสดงสินค้าต่างๆ เทรนด์ของตลาดเราเชื่อว่าในอนาคตจะขยายตัวขึ้น ต้นทุนก็จะลดลง"

ซอฟต์แวร์ e-TV 21 ได้รับรางวัล Thailand ICT Awards 2004 สาขา Entertainment Application จากงาน ICT expo 2004 เคยจัดโชว์ทั่วงาน Commart Comtech 2004 กว่า 30 จุด มีฐานลูกค้าในธุรกิจร้านอาหารทั่วกรุงเทพฯกว่า 50 ร้าน โรงภาพยนตร์อีจีวี จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ และกำลังอยู่ระหว่างการสร้างสรรค์โครงการกับบริษัททีทีแอนด์ที คาดว่าจะมีการเปิดตัวบริการใหม่ในเร็ววันนี้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.