|
ก่อสร้าง "Middle East" บูม "เฟดคอน"ชวนทัพรับเหมาบุก - กวาดเงินปีละ 3หมื่นล้าน
ผู้จัดการรายสัปดาห์(6 ตุลาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
"Middle East" ขุมทรัพย์ใหม่ภาคธุรกิจบริการ-ก่อสร้างไทย หลัง "เฟดคอน"สร้างชื่อเสียงในโครงการฮาหมัดเมดิคอลเซ็นเตอร์ ที่เมืองโดฮา ประเทศกาตาร์ เสนอขอรัฐจัดตั้งกองทุนเพื่อการหางาน และจัดหาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อผลักดันให้บริษัทคนไทย แข่งขันกับต่างชาติได้ มั่นใจสร้างรายได้เข้าประเทศปีละกว่า 2-3 หมื่นล้านบาท ด้าน"ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น" จับมือยักษ์ใหญ่ในจีนเจรจางานวางท่อก๊าซ ส่วนบริษัทไทยรวมกลุ่มพันธมิตรเตรียมบุกงานก่อสร้าง "กาตาร์-ดูไบ-อาบูดาบี"
"เฟดคอน" สหพันธ์ธุรกิจบริการออกแบบและการก่อสร้างแห่งประเทศไทย (Federation of Design and Construction Services of Thailand) เกิดขึ้นจากการรวมตัวของ 9 สมาคมวิชาชีพ เพื่อสอดรับกับนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการผลักดันส่งเสริมสนับสนุนให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมก่อสร้างของไทย ไปรับงานในต่างประเทศ เนื่องเพราะมั่นใจว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศมหาศาล
"เฟดคอน"โด่งดังกาตาร์
เฟดคอน ได้งานชิ้นแรกมูลค่ากว่า 1 พันล้านบาท คือการออกแบบและควบคุมงานโรงพยาบาลฮาหมัดเมดดิคคอลเซ็นเตอร์ ตั้งอยู่ภายในหมู่บ้านนักกีฬา "โดฮาเกมส์" และหลังเสร็จสิ้นการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 15 ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ปี 2006จะได้มีการปรับปรุงให้เป็นศูนย์กลางด้านการรักษาพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดของตะวันออกกลาง โดยกาตาร์ได้ติดต่อกับโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ของไทย เข้ามาวางระบบการบริหารและจัดการด้านการรักษาพยาบาลแล้ว
อย่างไรก็ดีการเข้ามารับงานระยะแรกของ "เฟดคอน"เมื่อปี 2002 ต้องประสบปัญหาในการทำงานระหว่างเฟดคอน กับ ผู้ว่าจ้างคือกระทรวงเกษตรและเทศบาลของกาตาร์ เพราะไม่มั่นใจในศักยภาพของนักออกแบบไทย รวมไปถึงProject Management จากอเมริกาของทางกาตาร์ ที่มีปัญหากับเฟดคอน ทำให้ต้องเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ตลอด ส่งผลให้การทำงานยุ่งยากและต้องเริ่มต้นใหม่ตลอดเวลา ขณะที่ทีมงานของไทยหลายคนก็เริ่มถอนตัว
"ชื่อเสียงเฟดคอนตอนนั้น เสียหายมาก กระทบต่อภาพลักษณ์ของไทย พวกเราก็พยายามสู้ เพราะนี่คือด่านแรกที่จะทำให้บริษัทคนไทยเข้ามารับงานที่นี่ได้อีกมากเพราะกาตาร์ กำลังพัฒนา รวมไปถึงประเทศอื่น ๆ ในตะวันออกกลางด้วย" สมัย ลี้สกุล กรรมการและเลขาธิการเฟดคอน ระบุ
"Post -Tension" สุดยอดนวตกรรมไทย
ปัจจุบันชื่อเสียง เฟดคอน นอกจากจะเป็นที่ยอมรับของทางกาตาร์แล้ว ยังได้สร้างชื่อเสียงในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยีการก่อสร้างระบบ Post -Tension ที่กาตาร์ไม่เคยรู้จักและไม่เคยทำมาก่อนให้เป็นที่ประจักษ์และเป็นที่นิยมแพร่หลายในขณะนี้
"Post-Tension เป็นระบบสมัยใหม่ในการดึงลวด เป็นแผ่นพื้นคอนกรีตอัดแรงขนาดบางเท่ากันตลอดแผ่น และมีขนาดบางกว่าระบบพื้นคานคอนกรีตเสริมเหล็ก จึงช่วยประหยัดโครงสร้างอื่น ๆ เช่น ฐานราก ผนัง คล่องตัวในการจัดแบ่งพื้นที่ ทำให้ค่าก่อสร้างถูกลง 15-20% เมื่อเทียบกับการก่อสร้างในระบบเดิมและร่นระยะเวลาในการสร้างได้ จากเดิม 21 วันต่อ 1 ชั้นเหลือเพียง 7-10วันต่อ1ชั้น"
อุดร จันทร์ผ่อง ผู้เชียวชาญระบบPost -Tension จากสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันเป็นผู้ประสานงานด้านวิศวกรโครงสร้าง ของเฟดคอนประจำโดฮา กล่าว และบอกด้วยว่า ขณะนี้งานก่อสร้างอาคารสูงทั้งที่พักอาศัย ออฟฟิศสำนักงาน โรมแรมต่าง ๆที่กำลังก่อสร้างในกาตาร์นิยมนำระบบ Post -Tension ไปใช้
"ทักษิณ" เยือนกาตาร์ดึงงานเข้าไทย
วีระกร คำประกอบ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปเยี่ยมชมไซท์งานของเฟดคอน ที่กรุงโดฮา และการพัฒนารัฐดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อวันที่ 23-27 กันยายน ที่ผ่านมา กล่าวว่าการเดินทางมาครั้งนี้ได้รับทราบปัญหาและอุปสรรคในการทำงานของเฟดคอน ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบันแม้จะมีอุปสรรคหลายประการที่รอการแก้ไข แต่ก็มองเห็นอนาคตว่าภาคธุรกิจก่อสร้างของไทยมีโอกาสที่จะมารับงานที่นี่ รวมไปถึงที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
"ข้อมูลที่ได้รับครั้งนี้จะสรุปเป็นรายงานเสนอนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกฯมีกำหนดการที่จะเดินทางมากาตาร์ เพื่อพบปะระดับผู้นำ และถือโอกาสพูดคุยเพื่อสนับสนุนให้คนไทยเข้ามารับงานได้มากขึ้น ประเทศของเขารวย กำลังพัฒนาInfrastructure รวมไปถึงโครงการพัฒนาที่ดินมากมาย และอาจถือโอกาสเยี่ยมไซท์งานของเฟดคอน"
รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ระบุว่ารายงานที่สรุปเสนอนายกฯนั้นจะมีส่วนหนึ่งที่กล่าวถึงข้อเรียกร้องของเฟดคอนที่ต้องการให้ รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องการเงินทั้งในรูปของการจัดตั้งกองทุนเพื่อการหางานในตลาดประเทศ และการจัดทำPackage Lone ในรูปสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำโดยรัฐอาจจะใช้แบงก์รัฐ เช่นกรุงไทย ออมสิน เป็นผู้ให้การสนับสนุน เพราะหากผู้ประกอบการคนไทยมีทุนเพียงพอจะสามารถเข้ามาแข่งขันกับต่างชาติที่เข้ามาบุกงานที่นี่ได้
"รัฐสามารถช่วยได้ตั้งแต่เมื่อเขาได้งานและมีสัญญามาเสนอ ก็ออกBond วงเงิน 10% ของค่างานค้ำประกันให้ เพราะหลายประเทศที่รัฐให้การสนับสนุนสามารถเข้ามาแข่งขันได้งานมาก"
นอกจากนี้จะต้องมีการหารือในเรื่องของการจัดส่งแรงงาน ซึ่งกรมแรงงาน จะต้องเข้าไปดูช่องทางที่เอื้อประโยชน์ต่อการจัดส่งแรงงาน รวมไปถึง การไปศึกษา ระเบียบ กฎหมาย เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ออกแบบ ผู้ควบคุมงานและบริษัทก่อสร้าง เพราะทั้งหมดนี่คือหนทางในการนำเงินตราเข้าประเทศไม่ต่ำกว่าปีละ 2-3 หมื่นล้านบาท
"หากเราได้งานออกแบบ โอกาสได้งานก่อสร้างก็จะตามมา การส่งออกวัสดุจากไทยจะมากขึ้น รวมไปถึงแรงงานระดับผู้เชี่ยวชาญวิศวกร สถาปนิก ไปจนถึงแรงงานฝีมือและไร้ฝีมือ เช่นงานออกแบบโรงพยาบาลฮาหมัดเมดดิคคอลเซ็นเตอร์ ก็เลือกใช้ ผลิตภัณฑ์Cotto ทั้งโครงการมูลค่า 200-300ล้านบาท บริษัท Powerline ซึ่งอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ได้งานระบบส่งคนงานมากว่า 1พันคน บริษัท PBL เป็นผู้ริเริ่มระบบ Post-Tension มีคนงานไทยมากมูลค่างานกว่า 400ล้านบาท"
ส่วนปัญหาที่ต้องช่วยเฟดคอนเร่งด่วนขณะนี้ ก็คือในเรื่องของเงินกู้ที่ติดชำระแบงก์กรุงไทยและเงินส่วนอื่น ๆ วงเงินกว่า 300 ล้านบาท ที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยแก้ปัญหาเพราะหากเฟดคอนสามารถจัดการเงินก้อนนี้ได้จะทำให้มีเงินทุนหมุนเวียนในการทำงาน
อิตาเลียนไทยรับงานกาตาร์
สมัย ลี้สกุล กรรมการและเลขาธิการเฟดคอน กล่าวว่า ปัจจุบันเฟดคอนบริหารและจัดการงานมีลักษณะคล้ายมูลนิธิซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการที่จะทำให้องค์กรเติบโตและบุกงานในต่างประเทศ จึงได้มีการหารือและต้องการยกบทบาทเฟดคอนเป็น "สถาบัน" และดึงมืออาชีพที่มีความพร้อม ความชำนาญและเชี่ยวชาญเข้ามาเป็นผู้บริหารสถาบัน
"คนที่เข้ามานั่งบริหารต้องเก่ง มีผลตอบแทนสูงให้กับเขา พวกนี้จะทำหน้าที่บุกงานในต่างประเทศ จากนั้นบรรดาบริษัทต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าไปรับงานได้ ซึ่ง เฟดคอนภาพลักษณ์ใหม่จะ ทำหน้าที่เป็นโปโมเตอร์"
เขา บอกว่า ขณะนี้มีบริษัทสถาปนิก วิศวกร และควบคุมงาน หลายบริษัทได้รวมกลุ่มกัน ในนามเทวานันทน์ จะไปรับงานในกาตาร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทีรัฐดูไบ และอาบูดาบี เพราะที่นี่กำลังมีการพัฒนาประเทศจึงมีการก่อสร้างเกิดขึ้นมากมายทั้งในเรื่องของระบบสาธารณูปโภค ถนน สนามบิน และอาคารสูง
"งานสร้างถนนจากกาตาร์ ไปบาห์เรน กำลังเป็นที่สนใจของวงการก่อสร้างและเป็นโอกาสของบริษัทไทยมาก"
นอกจากกลุ่มเทวานันทน์ ที่จะเข้าไปรับงานแล้ว สมัย ยังได้รับการแต่งตั้งเป็นตัวแทนของบริษัทChina Petroleum Pipeline Bureau (CPP) ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในการวางท่อก๊าซของจีน ปัจจุบันได้ร่วมทุนกับบริษัท ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) วางท่อก๊าซของปตท.จากวังน้อย-แก่งคอย ไปติดต่อและเจรจางานวางท่อก๊าซที่กาตาร์ เนื่องจากกาตาร์เป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก และกาตาร์มีนโยบายที่จะวางท่อและเชื่อมต่อระบบท่อก๊าซให้ครบวงจร
ปัจจุบัน บริษัทอิตัลไทย ได้เข้าร่วมประมูลก่อสร้างอาคารสำนักงานสถาบันการเงิน สูง 52 ชั้น มูลค่ากว่า 5 พันล้านบาท ที่กาตาร์ ซึ่งจะรู้ผลการประมูลในราวเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยบริษัทเข้าแข่งขันส่วนใหญ่เป็นบริษัทรับเหมาของญี่ปุ่นและจอร์เดน
เปิดแผนพัฒนากาตาร์ 7 แสนล้าน!
วรวีร์ วีระสัมพันธ์ เอกอัตรราชฑูตไทย ประจำกรุงโดฮา กาตาร์ กล่าวว่า กาตาร์เป็นประเทศที่น่าเข้ามาลงทุนและกำลังเติบโตซึ่งเศรษฐกิจของกาตาร์มีการขยายตัว (จีดีพี) 20.5% มูลค่า 28,500ล้านดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้งมีเป้าหมายที่จะเพิ่มมูลค่าเป็น 69,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ภาครัฐต้องเร่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศเพื่อรองรับกับการขยายตัว ซึ่งเม็ดเงินทั้งหมดกว่า 1900 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ให้แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2552
โดยหน่วยงานที่ดูแลการก่อสร้างของกาต้าร์ได้จัดทำแผนการก่อสร้างปี2548-2552 มูลค่า 1,815 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ จัดเป็นการก่อสร้างและพัฒนาถนนสายต่างๆ ก่อสร้างระบบระบาย ก่อสร้างอาคารต่างๆ กำหนดแล้วเสร็จ ปี 2552
รวมทั้งมีการลงทุนพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมที่เมือง Meisaeed มูลค่า386 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แล้วจะทำการพัฒนาโรงงานในเครือ Qatar Petroleum มาตั้งอยู่ในเขตเมืองอุตสาหกรรมนี้ โดยในเมืองจะมีการก่อสร้างที่พรั่งพร้อม ทั้งถนน ท่าเรื่อ ที่พักผ่อน ศูนย์พาณิชย์ละการแพทย์ โรงบำบัดน้ำเสีย
นอกจากนี้ยังมีโครงการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ของกาตาร์ มูลค่าโครงการ 2500 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ คือโครงการ Pearl-Qatar ด้วยการถมทะเลมีชายฝั่งยาว 30 กม. เนื้อที่2,500 ไร่ เพื่อเป็นที่พักอาศัยและให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศให้เข้ามาลงทุน มี บริษัท United Development Company ซึ่งเป็นบริษัทใหญ่ที่สุดในกาตาร์เป็นผู้ดูแล คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2552 โดยภายในโครงการจะประกอบด้วยที่พักอาศัยระดับหรูหราจำนวน 30,000 หลัง โรงแรม 5 ดาว 3 แห่ง และศูนย์พาณิชย์ ศูนย์การศึกษา
ในด้านการท่องเที่ยวกาตาร์เตรียมลงทุน 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อขยายตัวทางการท่องเที่ยว โดยลงทุนก่อสร้างท่าอากาศยานโดฮาแห่งใหม่ มูลค่า 5,500 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ โดยจะต้องถมทะเล 40%ของพื้นที่ท่าอากาศยาน จากเนื้อที่ 10,625 ไร่ แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ช่วง คาดว่าช่วงแรกจะแล้วเสร็จปี 2552 และส่วนที่สอง แล้วเสร็จปี 2558 และส่วนที่เหลือสำหรับการก่อสร้างโรงแรม รีสอร์ท เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว
นอกจากนี้ในการเชื่อมเส้นทางระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน กาตาร์และบาห์เรนร่วมกันสร้างถนนเชื่อมระหว่างทั้งสองประเทศ มูลค่า 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐชื่อว่าถนนแห่งมิตรภาพ Jistr al Mahaba ระยะทาง 45 กม. อีกทั้งตอนนี้กาตาร์กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างเส้นทางรถไฟเชื่อมโยงระหว่างบาห์เรน กาตาร์และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระยะทาง 800 กม.มูลค่า 12,970 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เส้นทางดังกล่าวจะเป็นรถไฟระบบแม่เหล็ก วิ่งความเร็วสูงสุด 550กม/ชม.และมีการพิจารณาเชื่อมเส้นทางไปยังคูเวตและโอมาน ทำให้อาจมีเส้นทาง 2,000 กิโลเมตร
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|