ตลาดทุนไทยน้อยหน้าเพื่อนบ้าน ขุนคลังมอบการบ้านเร่งพัฒนาด่วน


ผู้จัดการรายสัปดาห์(6 ตุลาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

เส้นทางสู่เวทีโลก คือ โอกาสและความท้าทายของกลุ่มอาเซียนในการเปิดให้โลกได้รู้ว่าอาเซียนก็มีดี มีศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเป็นโอกาสสำหรับการลงทุน แม้ในกลุ่มประเทศสมาชิกจะมีความต่างในเรื่องขีดความสามารถและความพร้อมก็ตาม แต่บางประเทศก็ไม่มีอุปสรรคสำหรับเรื่องดังกล่าว ส่วนไทยแม้ว่าเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีความพร้อมและน่าลงทุน แต่ยังมีบางเรื่องบางจุดที่ต้องปรับปรุงแก้ไขโดยเฉพาะในส่วนของตลาดทุน

แม้การประชุม ASEAN Finance Ministers' Investor Seminar ครั้งที่ 2 นี้ จะประสบความสำเร็จและเป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของภูมิภาคแห่งนี้ แต่ในความสำเร็จนี้ก็เป็นกระจกที่ส่องให้เห็นถึงจุดอ่อนและจุดแข็งของประเทศสมาชิกได้ อันจะนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขในส่วนที่เป็นจุดอ่อน และเสริมเพิ่มในส่วนที่เป็นจุดแข็ง

อย่างประเทศไทยการประชุมครั้งนี้ทำให้เห็นถึงข้อที่ต้องปรับปรุงแก้ไข โดยเฉพาะในเรื่องของการตลาดทุนที่ต้องได้รับการพัฒนาอย่างเร่งด่วน

ย้อนไปที่วัตถุประสงค์ของการจัดงาน ASEAN Finance Ministers' Investor Seminar ในครั้งนี้ก็เพื่อเผยแพร่ข้อมูลของกลุ่มอาเซียนให้นักลงทุนทวีปอื่นได้รู้ เห็นถึงโอกาส และศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในฐานะที่เป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลกในสินค้าหลายประเภท อย่างอุตสาหกรรมยานยนต์ อาหารแปรรูป เป็นต้น เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจเข้าร่วมลงทุนทั้งในแบบโดยตรงและผ่านตลาดหลักทรัพย์

กล่าวได้ว่าเม็ดเงินที่ต่างประเทศขนมาลงทุนนั้น ทำให้เศรษฐกิจขยายตัว ภาคธุรกิจเติบโต และมีการจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น นอกจากผลพลอยได้จากการลงทุนโดยตรงแล้ว การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ก็คึกคักตาม ด้วยการเป็นช่องต่อให้ทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในแถบนี้

และเพื่อจะแสงดให้นักลงทุนต่างประเทศได้เห็นถึงความเคลื่อนไหว และภาพที่ชัดเจนในตลาดหุ้นอาเซียน ในงานประชุมครั้งนี้จึงได้เปิดตัวดัชนีFTSE/ASEAN และ ดัชนีFTSE/ASEAN 40 อันเป็นความร่วมมือระหว่างตลาดหลักทรัพย์ 5 ประเทศได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ซึ่งได้เริ่มใช้ในวันที่ 21 กันยายน2548

ดัชนีFTSE/ASEAN และ FTSE/ASEAN 40 นอกจากใช้วัดการเคลื่อนไหวตลาดหุ้นอาเซียนโดยรวม และเพื่ออ้างอิงตราสารทางการเงินแล้ว การเปิดตัวดัชนีนี้ยังเป็นการสร้างแบรนด์ให้อาเซียนในแง่การเป็นอีกทางเลือกลงทุนที่น่าสนใจ

ทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ดัชนีFTSE/ASEAN คำนวณโดยใช้ข้อมูลจากบริษัทจดทะเบียนที่มีมาร์เก็ตแคปสูงสุด 180 บริษัทจากตลาดหุ้น 5 ประเทศ ประเทศที่มีบริษัทใช้ในการคำนวณมากที่สุดคือสิงคโปร์คิดแล้วสูงถึง 40% ตามมาด้วยมาเลเซีย 25% ส่วนไทยนั้นแค่10%ที่เหลือเป็นของอินโดนีเซียและฟิลิปินส์

จากสัดส่วนดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ทำไมนักลงทุนถึงได้ให้น้ำหนักการลงทุนในตลาดทุนมากกว่าไทย เช่นเดียวกันในตลาดหลักทรัพย์ FTSE/ASEAN 40 ที่คำนวณโดยใช้บริษัทจดทะเบียนที่มีมาร์เก็ตแคปสูงสุด 40 แห่ง ซึ่งสิงคโปร์ก็มีสัดส่วนสูงสุด ในขณะที่ไทยมีเพียง 6 บริษัทเท่านั้น

จำนวนบริษัทที่ใช้ในการคำนวณดัชนี FTSE/ASEAN และ FTSE/ASEAN 40 ที่สิงคโปร์มีสัดส่วนสูงสุด แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความพร้อมอันเป็นจุดแข็งที่จะดึงดูนักลงทุนต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในตลาดทุนสิงคโปร์

ทนง บอกว่าในเรื่องนี้จึงกลับมาเป็นการบ้านให้ไทยได้คิดต่อว่าแนวทางการพัฒนาตลาดทุนในอนาคตจะเป็นอย่างไร ซึ่งจะนำไปสู่แผนการพัฒนาตลาดทุนในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งขณะนี้ก็มอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งศึกษา โดยตั้งเป้าหมายดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในปีนี้ ขณะเดียวกันได้ขอความร่วมมือกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอมเอฟ เพื่อส่งผู้เชี่ยวชาญมาเป็นที่ปรึกษาการพัฒนาตลาดทุน ซึ่งทางไอเอ็นเอฟก็ให้การตอบรับในเรื่องนี้

แม้ตลาดทุนไทยจะได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในทุกยุคทุกสมัยก็ตาม แต่เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อบ้านอย่างสิงคโปร์และมาเลเซียแล้ว ตลาดทุนไทยคงต้องใช้เวลาพอสมควรในการแต่งตัว เพื่อให้ภาพออกมาดูดีเป็นที่ดึงดูดสายตาจากนักลงทุนทั่วโลก


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.