ประกันชีวิต: ขุมทรัพย์เมกะโปรเจ็กต์


ผู้จัดการรายสัปดาห์(6 ตุลาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

มีการตั้งคำถามจากเจ้ากระทรวงหลักๆอย่าง กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการคลังถึงแหล่งระดมทุนและแหล่งลงทุนระยะยาวจากธุรกิจประกันชีวิตระลอกแล้วระลอกเล่า ที่จะกลายมาเป็นเครื่องมือระดมทุนในโครงการเมกะโปรเจ็กต์

กระทั่งถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นหัวข้อหลักในการส่งเสริมการออมระยะยาวที่ภาครัฐจะเพิ่มบทบาทให้เป็นฐานมั่นคงสำหรับการพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจ

ธุรกิจประกันชีวิตที่ถูกมองว่ายังมีศักยภาพอีกมากที่จะขยายธุรกิจ จึงอยู่ในความสนใจของหน่วยงานหลักที่กำลังมองหาแหล่งเงินทุน ขณะเดียวกันโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป มีคนสูงอายุมากขึ้นในหลายๆประเทศทั่วโลกก็ยิ่งทำให้ธุรกิจนี้เป็นที่หมายตาของกระทรวงหลักๆที่ทำหน้าที่จัดหาแหล่งระดมทุนที่มีเงินกองสูง แต่ไม่สามารถมองหาแหล่งที่ให้ผลตอบแทนสูงๆได้

สุนทร บุญสาย กรรมการผู้จัดการใหญ่ ฟินันซ่าประกันชีวิต มองว่าเงินออมทั้งระบบที่มีอยู่ประมาณ 3 แสนล้านบาท จากภาคอุตสาหกรรมที่เติบโตปีละ 20% อีกไม่นานจะขยายตัวระดับ 5 แสนล้านบาท ถ้าภาครัฐจัดให้มีกองทุนระยะยาวหรือกองทุนพิเศษสำหรับให้ธุรกิจประกันชีวิตได้ลงทุน ก็ไม่ต้องกู้จากต่างประเทศ

ขณะเดียวกัน ธุรกิจประกันชีวิตก็ถือครองพันธบัตรเพื่อลงทุน บวกกับถือครองระยะยาว ก็จะเป็นการง่ายต่อการนำเงินไปลงทุนในโครงการต่างๆได้ ขณะที่ภาคธนาคารมีการถือครองพันธบัตรเพราะเงื่อนไขการตั้งสำรอง

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาภาครัฐจะให้ความสำคัญกับพันธบัตรออมทรัพย์ ที่เน้นหนักการออมผ่านภาคประชาชนโดยตรงมากกว่า ทำให้ประกันชีวิตไม่สามารถลงทุนพันธบัตรกลุ่มนี้ได้ ตรงกันข้ามกับการออมภาคครัวเรือนที่เริ่มลดลง จากการกระตุ้นการใช้จ่ายโดยภาครัฐเอง ทำให้การออมขาดการต่อเนี่อง

" การเพิ่มวงเงินลดหย่อนภาษีให้กับกองทุน RMF และ LTF ในเงื่อนไขที่กำหนด ประโยชน์จะเกิดกับตัวบุคคล เพราะโฟกัสไปที่คนรายได้สูงเท่านั้น จึงขาดการออมอย่างต่อเนื่อง"

สุนทร แสดงความเห็นว่า เงินออมเริ่มตึงตัว ดูจากสัญญาณที่แบงก์ต่างๆกำลังปรับเพิ่มดอกเบี้ยเพื่อออกมาดักหน้าไว้แต่เนิ่นๆ

อุตตม สาวนายน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและที่ปรึกษารองนายกรัฐสนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ บอกว่า การออกพันธบัตรระยะยาวสำหรับโครงการเมกะโปรเจ็กต์ ภาคธุรกิจประกันชีวิตมีโอกาสลงทุนได้แน่ แต่แนวคิดภาครัฐคือ ต้องการออกพันธบัตรให้ผู้ลงทุนหลายประเภท รวมถึงลงถึงประชาชนทั่วไปหรือรายย่อย ส่วนประกันชีวิตจะซื้อตรงได้ต้องขึ้นกับกลไกของตลาด

อย่างไรก็ตาม คณะทำงานทื่ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)ก็กำลังพิจารณาถึงการพัฒนาตลาดตราสารหนี้

เช่น ทำอย่างไรจะทำให้กลไกมีสภาพคล่องมากกว่านี้ และระยะเวลาการทำไฟแนนซ์ของโครงการเมกะโปรเจ็กต์ ซึ่งภาคธุรกิจประกันชีวิตเสนอให้พันธบัตรมีอายุยาว ขณะที่การออกตราสารแต่ละครั้งต้องพิจารณาเป็นครั้งคราวไป เพราะปัจจัยหลักคือดอกเบี้ยที่อยู่ในทิศทางขาขึ้น

ขณะที่ปี 2548 ที่ผ่านมา ภาพรวมอุตสาหกรรมประกันชีวิตขยายตัวเพียง 10-11% จากปัจจัยลบ ทั้งราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ยที่เริ่มขยับขึ้นเรื่อยๆ ในระยะหลังๆจึงเริ่มเห็นแนวคิดที่จะรื้อแผนเพิ่มวงเงินลดหย่อนภาษีมาใช้อีก เพียงแต่คราวนี้จะเปิดประเด็นถกกันเป็นแบบแพกเกจ

อุตตม บอกว่า การหันมาถกเรื่องการเพิ่มวงเงินลดหย่อนภาษี อาจเพิ่มโจทย์ใหม่เข้าไปด้วยเป็นกระบวนการผลิต ที่อาจรวมถึงการเร่งผลักดันธุรกิจที่เคยทำประกันภัยกับบริษัทต่างชาติหันมาใช้บริการของประกันภัยในประเทศด้วย เช่น การผลักดันเรื่องกองเรือพาณิชย์นาวีของประเทศให้เกิดขึ้น เพื่อให้ธุรกิจหันมาทำประกันกับบริษัทในประเทศแทน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.