เจาะยุทธการ"Kกรุ๊ป" ขวางเรือปืนกระแสทุน


ผู้จัดการรายสัปดาห์(6 ตุลาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

"โจทย์นี้ยากกว่าทุกครั้ง" บัณฑูร ล่ำซำ ซีอีโอธนาคารกสิกรไทยหรือ เคแบงก์ บอกเล่าถึงโจทย์ใหม่ "ตลาดการค้าเสรี" ที่สถาบันการเงินในประเทศต้องเผชิญ โดยเฉพาะ "ลัทธิล่าอาณานิคม" ที่ไม่ได้ปรากฎในรูป "เรือปืน" เหมือนในอดีต แต่ "บัณฑูร" อธิบายถึงการคุกคามของกระแสทุนไร้พรมแดนจะรุกล้ำ "อธิปไตย" ในเชิงเศรษฐศาสตร์ และสถาบันการเงินก็กำลังตกเป็นเป้าหมาย...

ประวัติศาสตร์การต่อสู้ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อ 100 กว่าปีก่อน ฉายภาพให้เห็นกำแพงขวางกั้นระหว่างประเทศที่ค่อยๆเลื่อนลดต่ำลง พร้อมกับการบุกเข้ามาของศัตรูจากอีกฟากฝั่งของโลกได้ชัดเจน

ชั่วโมงหน้าสิ่วหน้าขวานเวลานั้น เรือปืนจากต่างประเทศ มาหยุดอยู่ตรงริมท่าน้ำหน้าตึกสำนักงานใหญ่กลุ่มเคกรุ๊ปของตระกูล "ล่ำซำ" เยื้องโรงแรมโอเรียลเต็ลพอดิบพอดี และที่ตรงนั้นก็กลายเป็นจุดแตกหักที่ไทยต้องสูญเสียอธิปไตยไปบางส่วน

บัณฑูร ถ่ายทอดบทบันทึกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ ที่บรรพบุรุษผู้นำการเจรจายุคนั้นกำลังเผชิญอยู่....

แต่ภาพที่เห็นวันนี้ ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง "เรือปืน" ไม่ได้ไหลมาตามริมน้ำเจ้าพระยา แต่ไหลเชี่ยวกรากมาตามกระแสการค้า และทุนที่ไม่มีพรมแดน บัณฑูร บอกว่า ทั้งน่ากลัว และท้าทายในคราวเดียวกัน

น่ากลัวในเรื่องของขนาด เงินทุนและเทคโนโลยีที่ล้ำหน้ากว่าหลายช่วงตัว ขณะเดียวกันก็ท้าทายพลังของสถาบันการเงินในประเทศ โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์พันธ์ไทยที่บริหารและจัดการโดยผู้ถือหุ้นหลักและผู้บริหารคนไทยเป็นหลัก

" โจทย์และโครงสร้างการค้าขายที่เปลี่ยนไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือ ทำให้การแข่งขันยากกว่าเดิม ที่ยากกว่านั้นคือ เราไม่มีอำนาจต่อรองในการเจรจา ก็ยิ่งยากที่จะได้เงื่อนไขที่จะสู้ได้ สำคัญคือ ไม่มีใครคุ้มกันเราจากคู่แข่งเก่งๆได้ตลอดไป"

โจทย์วันนี้จึงต่างจากอดีตราวกับฟ้าดิน...

บัณฑูร หมุนเวลากลับไปเมื่อ 8 ปีนับจากวิกฤตเศรษฐกิจ ที่ทุกฝ่ายต่างก็รับรู้กันว่า สถาบันการเงินส่วนใหญ่สะเพร่า หลงระเริง ทำอะไรเกินตัว ไม่ว่าการลงทุน และการปล่อยสินเชื่อ จนหนี้เสียท่วมสูงเป็นภูเขาเลากา

ท้ายที่สุด ทั้งระบบก็แบกหนี้เสียไว้บนบ่านานไม่ไหว จึงมีทั้งจมน้ำหายไปต่อหน้าต่อตา ส่วนที่เหลือก็แหว่งๆ วิ่นๆ รอดมาได้แบบทุลักทุเลเต็มที

ที่หนักหนาสาหัสกว่านั้น ก็คือ ส่วนที่รอดมาได้หวุดหวิดก็ต้องเผชิญหน้ากับการล่าอาณานิคมในรูปของการฮุบอธิปไตย โดยเฉพาะถ้าสถาบันการเงินไทยตกไปอยู่ในมือต่างชาติก็เท่ากับ สูญสิ้นอธิปไตยของระบบเศรษฐกิจ

ซึ่งในสายตาบัณฑูร มองว่า การปกป้องอธิปไตยระบบเศรษฐกิจเอาไว้ หมายถึง สถาบันการเงินไทยต้องลุกขึ้นดิ้นรนต่อสู้ และเพิ่มขีดความสามารถในแข่งขันให้ได้ในทุกมิติการให้บริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตอบสนองความต้องการและสร้างความประทับใจให้กับลูกค้า

"ตลาดเปลี่ยน ธุรกิจก็เปลี่ยน ปัจจุบันเรามีแผนแม่บท กติกาใหม่ ที่ทำให้สถาบันการเงินรวมเป็นกลุ่ม เป็นเครือได้"

รูปแบบการให้บริการที่ค่อยๆปรับเปลี่ยนมาตลอดของเคกรุ๊ป ที่ประกอบด้วย ธนาคารกสิกรไทย แฟคตอริ่งกสิกรไทย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย และลิสซิ่งกสิกรไทย จึงเริ่มมีให้เห็นภายใต้สัญลักษณ์ "กสิกรไทยกรุ๊ป" หรือ "K GROUP"

เครื่องหมายการค้าภายใต้ "ยุทธศาสตร์ K" จึงมากพอจะตอบโจทย์การให้บริการ ที่ได้จัดการกับองค์กรภายในอย่างเป็นระบบเป็นครั้งแรกในรอบหลังวิกฤตการเงินของ "เครือธนาคารกสิกรไทย" ที่บัณฑูร บอกว่า ต่อไปนี้จะไม่เรียกว่า ธนาคารกสิกรไทยอีกต่อไป

การรีแบรนดิ้ง โลโก้ ภาพลักษณ์ สาขา รูปแบบการให้บริการที่ทันสมัย ที่มีมาพร้อมกับการรื้อฟื้นคำขวัญเก่าแก่ในยุคแรกๆ "บริการทุกระดับประทับใจ" นอกจากต้องการจะบอกถึงความต้องการของลูกค้าที่สามารถเข้ามาในจุดเดียวก็มีบริการที่ครบถ้วนแล้ว ยังบ่งบอกได้ถึงประสบการณ์การได้รับสินค้า ผ่านบริการ ช่องทาง ช่วงเวลา ที่ประทับใจซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนฝังอยู่ในสมองและจิตใจของลูกค้า

บัณฑูร บอกว่าการเลือกใช้อักษรตัว K ที่ตวัดด้วยปลายพู่กันจีน เพราะมี2ขามั่นคง ขณะเดียวกันก็ต้องการให้มีภาพที่สะท้อนการให้บริการที่ประทับใจจึงใส่ฐานสีแดงพร้อมตัวหนังสือ EXCELLENCE ที่จะบอกถึงการให้บริการดีเยี่ยม

สัญลักษณ์ดังกล่าวต่อไปจะปรากฎอยู่ในเอกสารทุกประเภท สาขา แผ่นพับ และเว็ปไซด์ของเคแบงก์ โดยช่องทางหลังปัจจุบันได้กลายเป็นช่องทางสำคัญมากในอนาคตสำหรับเล็งไปที่ลูกค้าที่จะเข้ามาใช้บริการทางการเงิน

" ทั้งการรีแบรนดิ้ง การโฆษณา โลโก้ หรือสัญลักษณ์ใหม่ๆ อาจเป็นแค่รูปลักษณ์ ส่วนอาหารจะอร่อยหรือไม่ลูกค้าต้องได้ทานก่อน"

การปรับเปลี่ยนรูปโฉมในเวลาไล่เลี่ยกัน ไม่ว่า การใช้สัญลักษณ์ตัวK ที่มาพร้อมฮีโร่ "ยอดมนุษย์" ตัวสีเขียว เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ หรือ การเปิดตัวบริษัททั้ง 6 ในเครือที่พร้อมจะให้บริการอย่างครบวงจร และการพยายามสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าในทุกรูปแบบการให้บริการ

สำหรับ บัณฑูร บอกว่า ถ้าทำสำเร็จ ในยุคที่การแข่งขันดุเดือดเลือดพล่าน เค กรุ๊ปก็จะสามารถต่อกรกับคู่แข่งจากอีกซีกโลกได้ด้วยความเป็น "ไทย"

"โดยรวมต้องเป็นการจัดการที่เป็นไทย ให้เป็นมาตรฐานสากล"

บัณฑูร ย้ำทุกครั้งว่า ถ้าหากไม่มีธนาคารพาณิชย์เป็นสายพันธ์ไทยบ้างเลย ก็จะเทียบได้กับประเทศได้สูญเสียอธิปไตย เพียงแต่คราวนี้ "นักล่าอาณานิคม" ไม่ได้นำทัพมาด้วย "กองเรือปืน" แต่จะไหลบ่าเข้ามาในรูปกระแสทุน ที่พร้อมจะทลายกำแพงที่ขวางกั้นอยู่ข้างหน้า

มีอยู่หนทางเดียว ที่จะต้านทานได้ บัณฑูรบอกว่า ไม่ใช่การสร้างกำแพงกั้น แต่จะต้องสร้างกำแพงจากความสามารถเข้าถึงความต้องการของลูกค้า และตลาดก็จะเป็นผู้ตัดสิน

วิธีการของบัณฑูรก็คือ การเพิ่มความถี่ให้กับงานโฆษณาเป็นแค่การกระตุ้นในขั้นต้น ซึ่งไม่ได้แสดงว่าลูกค้าจะประทับใจ แต่การสร้างความประทับใจต้องผนวกกันระหว่าง "เทคโนโลยี" และ "การพัฒนาบุคลากร" เพื่อให้การบริการมีความหมาย สิ่งนี้เองที่บัณฑูรบอกว่า จะเป็น "กำแพงอันทรงพลัง" หนึ่งเดียวในระยะยาว ที่จะปกป้องอธิปไตยไม่ให้ตกไปเป็นกรรมสิทธิ์ของต่างชาติ!!!....

สำคัญกว่านั้นคือ ลูกค้าเก่าๆก็จะไม่แปรพักตร์หนีไปไหน....


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.