|
หวั่นสหรัฐฯสบู่แตกศก.โลกอืด
ผู้จัดการรายวัน(7 ตุลาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
"ศุภวุฒิ" เชื่อเศรษฐกิจไทย-โลก ชะลอถึงปีหน้าชี้ญี่ปุ่นจะเป็นผู้นำอีกครั้งหลังสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน คาดอัตราดอกเบี้ยปี 49 อยู่ที่ 4% เงินเฟ้อระดับ 3-4% ย้ำจับตาเศรษฐกิจสหรัฐฯและการขึ้นดอกเบี้ยในภาวะ ขาดดุลงบประมาณ ระวังส่งผลภาวะ ฟองสบู่แตก ขณะที่ไทยต้องเร่งการลงทุนภาคเอกชน ระบุดอกเบี้ย อาร์พีปีนี้อยู่ที่ 3.75% และ 4-4.5% ในปีหน้า ด้าน "ก้องเกียรติ" เชื่อจะมีการย้ายเงินลงทุนเพื่อลดความ เสี่ยงจากความขัดแย้งจากประเทศ ผู้นำชี้ต้องเร่งเพิ่มมูลค่าส่งออก
วานนี้ (6 ต.ค.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจัดงานสัมมนาในหัวข้อ "เศรษฐกิจโลกกับการส่งออกไทย"
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการ ผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าว ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกในการอภิปรายหัวข้อ "ภาวะเศรษฐกิจโลก แนวโน้ม และผลกระทบ"ว่าเศรษฐกิจโลก ในช่วงครึ่งปีหลัง 2548 และช่วงปี 2549 จะยังอยู่ในช่วงที่จะชะลอตัวต่อไปเนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนในหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องรวมถึงสาเหตุของความไม่สมดุลในเศรษฐกิจโลก
ทั้งนี้ประเด็นที่ยังต้องให้ความสนใจแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯทั้งระยะสั้นและ ระยะยาว ภายหลังความเสียหายจากพายุเฮอริเคนแคทรีนา เนื่องจากภายในประเทศจะต้องมีการเร่งใช้ จ่ายงบประมาณเพื่อฟื้นฟู ซึ่งจะส่งผลทำให้ตัวเลขการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจะสูงขึ้นด้วย ซึ่งจะทำให้โอกาสที่สหรัฐฯจะต้องเผชิญสภาวะฟองสบู่เเตกสูงขึ้น
ขณะที่ในกลุ่มยุโรป การเติบโตจะเป็นไปในลักษณะที่ไม่รวดเร็วนัก เนื่องจากหลายเรื่องยังไม่มีความชัดเจน เช่น ผลการเลือกตั้งในเยอรมนีที่ไม่ได้ สะท้อนถึงเสถียรภาพของการเมืองภายในประเทศมากนัก
อย่างไรก็ตาม ประเทศที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำทางด้านเศรษฐกิจของโลก คือ ญี่ปุ่น เนื่องจากระบบ เศรษฐกิจของญี่ปุ่นเริ่มกลับมาในทิศทางที่เป็นบวก หลังจากที่ต้องประสบภาวะตกต่ำมาประมาณ 15 ปี และเป็นการเปลี่ยนแปลงจากภาวะเงินฝืดมาเป็นภาวะเงินเฟ้อเล็กน้อย ซึ่งในสัญญาณดังกล่าวจะสะท้อนถึงการปรับเปลี่ยนของอัตราดอกเบี้ยในอนาคตที่จะเข้าลบผ่านยุคดอกเบี้ยต่ำได้อย่างชัดเจน
"ปัจจัยเสี่ยงที่น่าสนใจการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ของสหรัฐฯในช่วงที่พื้นฐานของเศรษฐกิจมีปัญหาจะสะท้อนถึงปัญหาที่แท้จริงเมื่อไหร่ โดยส่วนหนึ่งที่เฟดยังมีความเชื่อมั่น เพราะเชื่อว่าหากมีปัญหาก็สามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้ในภายหลัง เหมือน ทุกครั้งที่ผ่านมา" ดร.ศุภวุฒิกล่าว
ดร.ศุภวุฒิ กล่าวอีกว่า สำหรับประเทศไทยคาด ว่าในปีหน้าอัตราการขยายตัวของจีดีพีจะอยู่ที่ระดับ 4% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ระดับ 3-4% ซึ่งหาก ไม่มีการควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่ควรจะเป็น โอกาสที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากจะปรับตัวขึ้นไปที่ระดับ 7% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ที่ 10% ก็สามารถเกิดขึ้นได้
ทั้งนี้ ปัจจัยที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจนอกจากการส่งออกภาคการท่องเที่ยวก็น่าจะปรับตัวขึ้น ในส่วนของประเด็นที่นักลงทุนต่างชาติยังให้น้ำหนักเรื่องปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดน ภาคใต้ ที่ยังไม่คลี่คลายและยังยืดเยื้อต่อไปก็เป็นปัจจัยที่สร้างความกังวลได้ในระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนของไทยยังคงต้อง อาศัยเม็ดเงินจากการลงทุนของภาคเอกชน โดยปัจจุบันการลงทุนคิดเป็นประมาณ 30% ของจีดีพีซึ่ง ควรจะมีการปรับขึ้นไปที่ระดับ 35% เนื่องจากช่วงวิกฤต ที่ผ่านมาเคยปรับขึ้นไปถึง 40% ของจีดีพี ขณะที่ประเทศที่ภาคการลงทุนสูงอย่างจีน คือเกิน 50% ของ จีดีพี ในอนาคตอัตราการเติบโตจากการลงทุนในสัดส่วนที่มากจะสร้างความน่าสนใจให้กับประเทศจีน
สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ย คาดว่าการประชุม ของคณะกรรมการนโยบายการเงินในวันที่ 19 ต.ค. และ 9 ธ.ค. จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยคาด ว่าดอกเบี้ยอาร์พี 14 วันจะอยู่ที่ระดับ 3.75% และมีการปรับขึ้นอีกในช่วงปี 2549 โดยคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 4-4.5% ซึ่งปัจจัยที่เกี่ยวข้องขึ้นอยู่กับอัตราเงินเฟ้อ ราคาน้ำมัน และทิศทางดอกเบี้ยของสหรัฐฯ
นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในอนาคตเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียจะเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อภาพของเศรษฐกิจโลกมากขึ้น หลังจากที่ผ่านมาเศรษฐกิจของสหรัฐฯและเศรษฐกิจยุโรปเป็นกลุ่มที่สำคัญต่อเศรษฐกิจโลก โดยมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเติบโตในลักษณะทรงตัวจากปัจจุบัน
ทั้งนี้ ในส่วนของไทยต้องมีการเร่งสร้างผู้ประกอบการเพื่อให้เกิดการแข่งขันกับต่างชาติมากขึ้น เนื่องจากการส่งออกเป็นปัจจัยสำคัญโดยปัจจุบันมูลค่าการส่งออกคิดเป็น 60% ของจีดีพีประเทศ ซึ่งยังสามารถเพิ่มตัวเลขในเรื่องดังกล่าวได้ในอนาคตเนื่องจากภาคธุรกิจของประเทศยังมีหลายอุตสาหกรรม ที่มีจุดเด่นและมีความน่าสนใจในการลงทุน นอก จากนี้ ความขัดแย้งทางการค้าของประเทศผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นกรณีสหรัฐฯ-จีน หรือ กรณีจีน-ญี่ปุ่น ซึ่งจะส่งผลทำให้มีการย้ายเงินเข้าไปในประเทศอื่นๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงซึ่งประเทศไทยก็ถือว่าเป็น กลุ่มอยู่ในความน่าสนใจ
"การใช้โอกาสให้ถูกที่ ถูกจังหวะ เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง นอกเหนือจากเงินทุนในระบบ" นายก้องเกียรติกล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|