|
จาก 'eLearning' ถึง 'mLearning' รามคำแหงขึ้นแท่นผู้นำสื่อออนไลน์
ผู้จัดการรายสัปดาห์(6 ตุลาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
"ม. รามคำแหง" โชว์ศักยภาพเทคโนโลยีสารสนเทศ ใช้ทุกช่องทางการสื่อสารให้บริการการศึกษา ล่าสุดจับมือ "ดีแทค" สอนหนังสือผ่านมือถือ ตอกย้ำภาพตลาดวิชาที่รองรับนักศึกษาได้ไม่อั้น อธิการบดีฝันไกล สร้างสังคมฐานความรู้ เปิดทางให้เรียนฟรีไม่มีจำกัด
ปฏิบัติการล่าสุดของ "มหาวิทยาลัยรามคำแหง" ที่พยายามตอกย้ำความเป็นผู้นำเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัยมาใช้ในการให้บริการทางการศึกษา คือ การจับมือกับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ "ดีแทค" เปิดให้บริการการเรียนการสอนผ่านทางโทรศัพท์มือถือ RU Mobile Learning
สันติ เมธาวิกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้า บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ข้อจำกัดของการเรียนผ่าน eLearning คือ ผู้เรียนต้องมีคอมพิวเตอร์และและระบบอินเทอร์เน็ต ขณะที่โทรศัพท์มือถือเป็นเครื่องมือสื่อสารที่มีผู้ใช้มากกว่า
ทั้งนี้ โทรศัพท์ที่ใช้บริการนี้ได้ ต้องสามารถใช้ระบบ GPRS และระบบที่สามารถติดตั้ง Real Player เพื่อใช้สำหรับการแสดงผลการสอน โดยติดตั้งโทรศัพท์ให้ใช้ระบบ GPRS ก่อน และเข้าไป set ค่า streaming setting ของ Proxy Server ให้มี IP Address เป็น 192.168.8.29 port 554 ขณะที่ค่าใช้จ่ายคิดเป็นแพกเกจเหมาจ่ายในอัตรา 399 บาทต่อเดือน
ในระยะแรกการให้บริการจะเป็นลักษณะของ video on demand ที่ผู้เรียนสามารถเข้ามาดาวน์โหลดวิชาที่พลาดการเรียนในห้องได้ โดยเริ่มเปิดให้ใช้บริการช่วงภาคการศึกษาที่ 2 ของปีนี้ จากนั้นจะพัฒนาไปสู่การถ่ายทอดสดจากห้องเรียนหรือ cyber classroom
ศาสตราจารย์ประจำรังสรรค์ แสงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะสร้างความสะดวก และช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย รวมถึงเพิ่มช่องทางการศึกษาให้แก่นักศึกษา ม.รามคำแหงที่มีกว่า 600,000 คน โดยเฉพาะวิชาเรียนในกลุ่มวิชาพื้นฐานของนักศึกษาปี 1 และปี 2 ที่มี 150-160 วิชา จะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่พัฒนาเพื่อให้บริการการสอนผ่านมือถือ
หากติดตามความเคลื่อนไหวของ ม.รามคำแหงในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาจะพบว่ามหาวิทยาลัยกำลังเร่งสปีดการพัฒนาบริการทางการศึกษาในหลายๆ ส่วน เช่น การจับมือกับบริษัท แมคโครมีเดีย อิงค์ เพื่อติดตั้งซอฟท์แวร์ Macromedia Studio8 ลงในเครื่องคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องภายในมหาวิทยาลัย โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาสื่อการเรียนการสอนบนเว็บไซต์ และ WAP ที่ใช้กับระบบมือถือให้มีความน่าสนใจ ดึงดูดใจผู้เรียนมากขึ้น
ขณะเดียวกันยังจับมือกับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส เปิดให้บริการลงทะเบียนออนไลน์ พร้อมทั้งรับข้อมูล ข่าวสารภายในรั้วมหาวิทยาลัยได้จากมือถือในระบบของเอไอเอส
ด้วยสถานะภาพของ "มหาวิทยาลัยตลาดวิชา" ซึ่งหมายถึงสถาบันที่เปิดโอกาสทางการศึกษาให้กับผู้เรียนทุกคนโดยไม่มีการสอบเข้า ทำให้ ม.รามคำแหงมีนักศึกษาเข้าเรียนเป็นจำนวนมาก การเร่งสปีดพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารมาใช้เพื่อการศึกษา ในทางหนึ่งถือว่าลดข้อจำกัดของสถานที่ ที่อาจรองรับจำนวนผู้เรียนได้ไม่เต็มที่
แต่ในอีกด้านหนึ่งทำให้ม.รามคำแหง สามารถขยายบริการทางการศึกษาไปได้กว้างไกลมากขึ้น เช่น การเปิดสอน 4 หลักสูตรระดับปริญญาตรีใน 17 ประเทศทั่วโลกผ่านระบบ eLearning ตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว ขณะที่ในประเทศก็มีการจัดการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียมและสายใยแก้วนำแสงในส่วนภูมิภาค ซึ่งขณะนี้มีสาขาวิทยบริการอยู่ 20 แห่งทั่วประเทศ
ทั้งนี้ อธิการบดี ม.รามคำแหง กล่าวว่า การพัฒนาสื่อการเรียนออนไลน์ จะไม่จำกัดเฉพาะนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเท่านั้นที่เข้ามาเรียนได้ ผู้ที่ต้องการพัฒนาความรู้ให้กับตนเองสามารถเข้ามาเรียนรู้จากทุกสื่อที่มหาวิทยาลัยมีด้วยเช่นกัน
เมื่อเร็วๆ นี้ ม.รามคำแหง ยังได้ร่วมมือกับกระทรวงแรงงานให้บริการด้านแรงงานผ่านเครือข่ายของมหาวิทยาลัยรามคำแหงทั้งในและต่างประเทศ เช่น ให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายแรงงาน การคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้ใช้แรงงาน การจัดทำข้อมูลตลาดแรงงาน ตำแหน่งงานว่าง และการสมัครงาน
ผู้ที่เข้ามาในเว็บไซต์นอกจากเพื่อหางานทำแล้ว ยังสามารถหาความรู้เพิ่มเติมให้แก่ตนเองเพื่อพัฒนาคุณสมบัติให้เหมาะสมกับตำแหน่งงานที่ต้องการ ซึ่งนี่เป็นอีกจิ๊กซอว์ที่จะมาขยายภารกิจการให้โอกาสทางการศึกษาแก่ประชาชนได้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|