‘ภาษาจีน’ สะพรั่ง ! รับการค้า-ลงทุน MA-ED - OKIS เร่งขยายฐานลูกค้า


ผู้จัดการรายสัปดาห์(6 ตุลาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

จากการขยายการค้า การลงทุนระหว่างไทย จีน และการเปิดเจรจาการค้าหรือ FTA นั้น ส่งผลให้ภาษาจีนกำลังได้รับความนิยมในอันดับต้นๆ เพื่อใช้ประโยชน์ในการเจรจาการค้าและการลงทุนหรือค้าขายของทั้ง 2 ประเทศเป็นไปอย่างราบรื่น

“ผู้จัดการรายสัปดาห์” ได้สำรวจตลาดธุรกิจสถาบันสอนภาษาจีนหรือโรงเรียนสอนภาษาจีน พบว่า เติบโตอย่างมากในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา กลุ่มผู้เรียนส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา คนทำงาน เพื่อหาโอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ และการแข่งขันในตลาดแรงงาน เมื่อเปรียบเทียบกับผู้รู้ภาษาอังกฤษแล้วยังค่อนข้างน้อยกว่ามาก ทำให้บุคคลเหล่านี้เห็นโอกาสของการเรียนภาษาจีนแทนการเรียนเฉพาะภาษาอังกฤษเหมือนที่ผ่านมา รวมถึงกลุ่มชาวไทยเชื้อสายจีนที่ต้องการให้ลูกหลานได้เรียนรู้ภาษาจีน

จึงเกิดการขยายการลงทุนสถาบันสอนภาษาจีนเกิดขึ้นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันพบว่าการเข้ามาลงทุนของรายใหม่ค่อนข้างนิ่ง สวนทางกับจำนวนผู้เรียนที่โตแบบก้าวกระโดด เพราะการลงทุนของสถาบันสอนภาษาจีนนั้นแตกต่างจากธุรกิจทั่วไป เพราะต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์และมีความรู้ด้านภาษาจีนเป็นอย่างดี ทำให้ปัจจุบันมีผู้ประกอบการในตลาดไม่ถึง 10 ราย แต่มูลค่าตลาดรวมของธุรกิจไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาต่อปี และกับผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดอย่าง มาเอ็ด (MA-ED) และโอเคแอลเอส (OKLS) ที่ขยายสาขาในรูปแบบแฟรนไชส์เล็งเห็นโอกาสของธุรกิจสถาบันสอนภาษจีน และรองรับการเติบโตของตลาดภาษาจีนไว้อย่างน่าสนใจ

‘มาเอ็ด’ ชู ‘ใหญ่ ดี พร้อม’

อาจารย์ฟู๋เหอหนาน ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ โรงเรียนภาษาจีนศึกษา (มาเอ็ด) กล่าวว่า ธุรกิจยังมีแนวโน้มดี แม้การแข่งขันในตลาดยังคงสูงเพราะมีโรงเรียนเกิดขึ้นจำนวนมากแต่ส่วนใหญ่มีจุดอ่อนที่ไม่มีหลักสูตรการเรียนการสอนที่ต่อเนื่อง

ทั้งนี้ มาเอ็ดได้ชูกลยุทธ์ใหญ่ ดี และพร้อม คือเน้นการเปิดสาขาขนาดใหญ่เพราะถ้าเล็กคุณภาพจะไม่ครบ ดีคือต้องมีคุณภาพหลักสูตรที่ดี และต้องพร้อมทุกอย่างทั้งเรื่องหนังสือ อาจารย์ หลักสูตร คุณภาพ โดยบุคลากรจะจบทางด้านครูสอนภาษาจีนจากมหาวิทยาลัยหลายแห่งในประเทศจีนและการเรียนการสอนมีการใช้คอมพิวเตอร์ เพราะการเรียนภาษาจีนจะยากมากในเรื่องการเขียน ต้องนำคอมพิวเตอร์มาช่วย และเป็นหลักสูตรที่เร่งลัดใช้ประโยชน์ได้ทันทีเน้นความสนุกสนานในการเรียนการสอน

ขณะที่การแข่งขันนั้น ยังมีการแข่งขันในเรื่องของทำเล และอาจารย์ผู้สอนเนื่องจากอาจารย์ที่มีคุณภาพหายาก ซึ่งในระบบแฟรนไชส์จะไม่มีปัญหาเพราะจะรับอาจารย์จากประเทศจีนแล้วมาฝึกอบรมด้านภาษาไทยให้แล้วถึงจะส่งไปประจำแต่ละสาขาซึ่งตรงนี้จะทำให้ได้มาตรฐานเดียวกันหมด

ส่วนการขยายการลงทุนนั้น จะเน้นการขยายสาขาแฟรนไชส์ในต่างจังหวัด เนื่องจากตลาดในกรุงเทพฯ มีการเปิดอยู่มากในขณะที่ความต้องการของโรงเรียนในต่างจังหวัดมีสูงขึ้น เพราะโรงเรียนที่มีอยู่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐานซึ่งการเข้ามาของมาเอ็ดก็ได้รับการยอมรับจากผู้ปกครองในต่างจังหวัดเป็นอย่างดี นอกจากนี้ในตลาดต่างจังหวัดตนมองว่าเป็นการเติบโตแบบมั่งคงอีกด้วย

โรงเรียนภาษาจีนมาเอ็ดที่เป็นระบบแฟรนไชส์นั้นปัจจุบันกลุ่มผู้เรียนมีคนทำงานหรือคนที่เรียนจบมหาวิทยาลัยแล้ว 40% ส่วนที่เหลืออีก 60% จะมาจากนักเรียนที่เรียนอยู่ตามโรงเรียนสามัญ และกลุ่มเด็กๆ ทั่วไป

ปัจจุบันมาเอ็ดขยายธุรกิจโรงเรียนสอนภาษาจีนเป็น 2 รูปแบบคือ 1.โรงเรียนภาษาจีนมาเอ็ดที่เป็นระบบแฟรนไชส์หรือโรงเรียนกวดวิชาซึ่งมีอยู่ 16 สาขาอยู่ในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด และจะเปิดเพิ่มปีนี้อีก 2-3 สาขา 2.เข้าไปจัดหลักสูตรให้โรงเรียนสามัญประมาณ 30 แห่ง

‘OKLS’ รุกตลาดเปิดอีก 4 สาขา

ด้าน ประทีป โลจนาทร กรรมการผู้จัดการ บริษัท โอเคแอลเอส จำกัด (OKLS) กล่าวว่า ขยายสาขาจาก 4 สาขาเป็น 20 สาขาภายในเวลา 2 ปี ปัจจุบันการขยายสาขาของโรงเรียนสอนภาษาจีนทั่วไปเริ่มนิ่ง แต่จำนวนนักเรียนกับมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เพราะคนไทยให้ความสำคัญกับภาษาจีนมากขึ้นรู้ว่ามีความจำเป็น รวมถึงความร่วมมือของภาครัฐระหว่างไทยกับจีนด้านการขยายความรู้ของภาษาจีนมากขึ้น ซึ่งเป็นกระแสและบรรยากาศกระจายสู่บุคคลต้องการพูดภาษาจีนได้

จากสาขาของโอเอแอลเอสมีผู้เรียนเพิ่มขึ้นทุกปีเฉลี่ยปีละ 15-20% ต่อสาขา สำหรับจำนวนผู้เรียนที่สาขาโรงเรียนในระบบแฟรนไชส์มีอยู่ประมาณสาขาละ 200-300 คน โดยเป็นกลุ่มผู้ใหญ่ที่ทำงานหรือนักศึกษาที่เรียนจบมหาวิทยาลัยแล้วมาเรียนเผื่อไว้ใช้ในอนาคต 50% ส่วนอีก 50% เป็นกลุ่มเด็กมาเรียนเพราะพ่อแม่อยากให้เรียนและปลายปี 2548 จะเปิดอีก 4 สาขา คือ เซ็นทรัลปิ่นเกล้า ซีคอนสแควร์ เดอะมอลล์รามคำแหง และสยามพารากอน

ด้านการแข่งขันของธุรกิจโรงเรียนสอนภาษาจีน หากมองภาพรวมดูเหมือนแข่งขันกันสูง แต่จริงๆ แต่ละที่เป็นการแข่งขันกับตัวเอง อย่างโรงเรียนที่มีสาขามากถ้าอยู่ในทำเลที่ไม่ดีก็จะมีปัญหาหรือว่าโรงเรียนที่ไม่มีชื่อเสียงมากแต่ถ้าอยู่โลเกชั่นดีโอกาสประสบความสำเร็จก็มีเหมือนกัน อย่างของโอเคแอลเอสไม่คิดที่แข่งขันกับใครแต่ต้องการแข่งกับตัวเองคือคิดว่าจะทำอย่างไรให้โรงเรียนเป็นที่รู้จักของคนในพื้นที่นั้น

อย่างไรก็ดี การแข่งขันก็อาจจะมีบ้างสำหรับพื้นที่ที่มีโรงเรียนเปิดหลายๆ แห่งในพื้นที่เดียวกัน เพราะจริงๆ แล้วเมื่อถึงที่สุดโลเกชั่นที่ดีก็มีโรงเรียนมากกว่า 1 โรงเรียนไปเปิด อย่างขณะนี้โอเคแอลเอสเองก็มีหลายสาขาที่ประสบปัญหามีโรงเรียนภาษาจีนมากกว่า 1 โรงเรียนมาเปิด เซ็นทรัลลาดพร้าว ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิตเซ็นทรัลบางนา เซ็นทรัลปิ่นเกล้าและซีคอน สแควร์

“การแข่งขันกับโรงเรียนภาษาจีนที่มาเปิดในพื้นที่เดียวกันนั้น เราต้องคิดว่าจะทำยังไงให้ผู้เรียนมั่นใจว่าเราดีซึ่งในส่วนของเราก็พยายามทำให้นักเรียนรู้สึกว่ามีบรรยากาศของการเรียนการสอนแบบจีนคือเข้ามาแล้วต้องดูตะวันออกมีดีไซน์มีความตั้งใจหรือตำราเรียนที่อื่นอาจจะซีร็อคแต่เรามีการพัฒนาตำรามาใหม่สำหรับเด็กสวยงามมาก ส่วนตำราผู้ใหญ่เราก็ไปร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยภาษาปักกิ่งทำเป็นตำราภาษาไทยขึ้นมา”

โอเคแอลเอสยังได้มีการเข้าไปวางระบบการเรียนการสอนให้โรงเรียนสามัญทั่วไปด้วยซึ่งทำมาได้ 4 ปีแล้ว โดยมีการเปิดไปแล้ว 30 กว่าแห่ง นอกจากเรื่องนี้ยังมีการเข้าไปวางระบบการเรียนภาษาจีนให้กับผู้เรียน IMBA ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่ง IMBA นี้การเรียนเหมือนกับ MBA แต่เน้นการเรียนภาษาด้วย


‘ WLC ’ เกาะกระแส ผุดสถาบันสอนภาษาจีน

ชาญ โชติเมธีภิรมย์ และนภา ธีระธนานนท์ กรรมการผู้จัดการร่วม ศูนย์แนะแนวการศึกษาต่อประเทศจีน WLC กล่าวว่า ได้ทำธุรกิจศูนย์แนะแนวฯ มานานกว่า 5 ปีแล้ว พบว่าอัตราการเติบโตของธุรกิจสถาบันสอนภาษาจีนแต่ละปีสูงมาก ดูได้จากผู้ที่เรียนภาษาจีนมาแล้วต้องการไปเรียนต่อยังประเทศจีน ปัจจุบันเฉพาะที่ศูนย์ฯ มีผู้ที่เดินทางไปศึกษาต่อเฉลี่ยปีละ 500 คนยังไม่รวมช่วงซัมเมอร์ นับว่าเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนๆ เท่าตัว

ทั้งนี้ จึงมองเห็นโอกาสการขยายการลงทุนสู่การเปิดสถาบันสอนภาษาจีนอย่างเต็มตัวในปี 2549 เพื่อเป็นธุรกิจต้นน้ำก่อนส่งต่อไปศึกษายังประเทศจีนที่ดำเนินการอยู่ ด้วยอาศัยประสบการณ์ที่ได้ใช้ชีวิตในประเทศจีนและเป็นอาจารย์พิเศษสอนนักเรียนมาทุกระดับ จึงพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนด้วยเทคนิคเฉพาะเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อผู้เรียน

นอกจากนี้ เพื่อแข่งขันในตลาด จะนำกลยุทธ์ความพร้อมมาใช้ทั้งหลักสูตรด้านการเรียนที่เน้นหลักสูตรใหม่คือการเรียนอักษรย่อของจีนที่กำลังเป็นที่นิยมและใช้กันอย่างแพร่หลายเพื่อง่ายต่อการจดจำ ใช้อุปกรณ์การเรียนการสอนด้วยคอมพิวเตอร์ ที่ปัจจุบันยังมีเพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่ให้บริการ และการลงทุนห้องปฎิบัติการภาษาเพื่อเน้นการฟังและการออกเสียงซึ่งเป็นจุดขายของสถาบัน โดยแบ่งเป็น 3 หลักสูตรดังนี้ หลักสูตรภาษาจีนกลาง ระดับต้น กลางและสูง หลักสูตรพิเศษตัวต่อตัวและหลักสูตรพิเศษเตรียมความพร้อมศึกษาต่อประเทศจีน

“คาดว่าในอนาคตผู้ประกอบการสถานบันสอนภาษาจีนจะมีเพียงไม่กี่รายเท่านั้น เพราะเงื่อนไขการลงทุนต้องมีประสบการณ์แตกต่างจากการลงทุนธุรกิจอื่น ฉะนั้นการแข่งขันในอนาคตน่าจะเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดมากกว่า ซึ่งมองว่าเราสามารถเข้าสู่ธุรกิจนี้ได้ไม่ยากนัก ด้วยความสำเร็จของศูนย์ฯ เป็นเครื่องการันตีในระดับหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมาก” ชาญและนภากล่าว และสรุปถึงความมั่นใจต่อการเข้ามาลงทุนสถาบันสอนภาษาจีนว่าต่อไปจะเป็นธุรกิจในการสร้างรายได้หลัก โดยจะปรับบทบาทของศูนย์แนะแนวฯ เป็นการให้บริการฟรีในอนาคตอันใกล้นี้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.