|
รื้อใหญ่ระบบบริหารบ้านเอื้ออาทร สั่งลดต้นทุนก่อนผู้รับเหมาทิ้งงาน
ผู้จัดการรายสัปดาห์(6 ตุลาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
-"วัฒนา เมืองสุข" สั่งรื้อใหญ่ระบบบริหารจัดการโครงการบ้านเอื้ออาทร หลังพบต้นทุนทะยานจากต้นทุนแฝงเพียบ
-เล็งลดความซ้ำซ้อน และล่าช้าขั้นตอนการดำเนินงาน
-ลุยซื้อวัสดุก่อสร้างแบบยกล็อต หวังตรึงราคา
-เปิดโอกาสผู้รับเหมาออกแบบบ้าน เพื่อสร้างความหลากหลาย
-เตรียมเซ็น MOU กับหน่วยงานรัฐ ย่นเวลาการขออนุญาต ก่อนชงครม.ธ.ค.นี้
ความล่าช้าของการก่อสร้างโครงการบ้านเอื้ออาทร ยังคงเป็นปัญหาให้กับการเคหะแห่งชาติ (กคช.) ในฐานะแม่งานมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เริ่มโครงการมาตั้งแต่ปี 2546 ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการก่อสร้างล่าช้า การจัดสรรสิทธิ์ให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อยไม่ทันกับความต้องการ ต้นทุนการก่อสร้างทะยานขึ้น ทั้งจากพิษสงของราคาน้ำมันที่แสนแพง และวัสดุก่อสร้างตบเท้าขึ้นราคาทุกชนิด รวมถึงขาดผู้รับเหมาที่จะเข้ามาร่วมก่อสร้าง
ปัญหาทุกปัญหาทยอยได้รับการแก้ไขมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ใช่ว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้หมดไปเสียทีเดียว เพราะทุกวันนี้ยังคงมีปัญหาใหม่ ๆ ตามมาให้แก้ไขไม่เว้นแต่ละวัน ทั้งปัญหาเก่าที่ยังแก้ไม่หมด และปัญหาใหม่ที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ทุกปัญหาส่วนใหญ่ส่งผลให้ต้นทุนการก่อสร้างเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว
วัฒนา เมืองสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า ปัญหาหลัก ๆของการก่อสร้างโครงการบ้านเอื้ออาทร คือต้นทุนที่สูงขึ้น รวมถึงการขาดแคลนผู้รับเหมาก่อสร้าง เพราะผู้รับเหมาเกรงว่า หากมารับเหมาก่อสร้างแล้ว อาจจะประสบปัญหาขาดทุน จึงไม่สนใจมารับงานก่อสร้างบ้านเอื้ออาทร
ยันไม่ขอเงินอุดหนุนเพิ่ม
อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไขมากขึ้น จนทำให้ปัจจุบันมีผู้รับเหมามารับงานทุกโครงการที่กคช.เปิดให้ประมูล ส่วนเรื่องต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนั้น ทางกระทรวงอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางการลดต้นทุนการก่อสร้าง เพื่อให้ยังสามารถขายได้ในราคาเดิม และรับเงินค่าอุดหนุนจากรัฐบาลเท่าเดิม
วัฒนา กล่าวอีกว่า การลดต้นทุนการก่อสร้างโครงการบ้านเอื้ออาทรมีหลายแนวทาง ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาว่าจะใช้แนวทางใดบ้างที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต่อทุกฝ่าย ทั้งรัฐบาล กคช. ผู้รับเหมาก่อสร้าง และประชาชน ซึ่งในเบื้องต้นจะหาทางลดต้นทุนที่เกิดจากความซ้ำซ้อนของการบริหารจัดการ
อาทิ การลดความซ้ำซ้อนของการขออนุญาตก่อสร้าง ลดเวลาในการขออนุญาต รวมถึงไม่ต้องให้ภาคเอกชนซึ่งเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างไปติดต่องานกับหน่วยงานราชการ เพราะนอกจากจะเสียเวลาแล้ว ยังสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายอีกด้วย โดยกระทรวงฯจะเป็นตัวกลางในการเจรจากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้อำนวยความสะดวกทุกเรื่อง ที่เกี่ยวเนื่องกับการก่อสร้างโครงการบ้านเอื้ออาทร เพื่อลดค่าใช้จ่ายลง นอกจากนี้ ยังจะเข้าไปเป็นตัวกลางในการจัดซื้อวัสดุก่อสร้างแบบยกล็อต เพื่อให้ได้ราคาถูกลง ที่สำคัญยังตรึงราคาไว้ได้ด้วย
รวมถึงจะเปิดโอกาสให้ผู้รับเหมาก่อสร้างได้พัฒนาแบบบ้าน เพื่อเสนอขายให้กับประชาชนได้ด้วยตัวเอง ภายใต้งบประมาณที่มีอยู่ ซึ่งจะทำให้มีการพัฒนาแบบบ้านที่ตอบสนองความต้องการผู้บริโภคอย่างแท้จริง ทั้งนี้ วิธีนี้จะทำให้มีแบบบ้านในโครงการบ้านเอื้ออาทรหลากหลายมากขึ้น
ธ.ค.ชงที่ประชุมครม.
แนวทางดังกล่าวน่าจะได้ข้อสรุปในเร็ว ๆ นี้ และจะมีการเซ็นสัญญาลงนามบันทึกความเข้าใจในเบื้องต้น(MOU) กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นกรุงเทพฯ เป็นต้น และจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในราวเดือนธ.ค.นี้
ทั้งนี้ เชื่อว่าปัญหาดังกล่าวจะได้รับการแก้ไขโดยเร็ว เพราะถ้าหากปล่อยทิ้งไว้ เชื่อว่าในอนาคตจะไม่มีผู้รับเหมาเข้าประมูลงานก่อสร้างแน่นอน เพราะกลัวว่าจะประสบปัญหาขาดทุน
ด้านวรนุช จิตธรรมสถาพร ผู้ช่วยผู้ว่าการ กคช. กล่าวถึงความคืบหน้าของการก่อสร้างโครงการบ้านเอื้ออาทรว่า นับตั้งแต่เริ่มโครงการในปี 2546 จนถึงเดือนส.ค. 2548 เปิดให้ผู้มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลางจองสิทธิ์รวม 15 ครั้ง มีจำนวนผู้จองสิทธิ์รวมทั้งสิ้น 555,522 ราย
ที่ผ่านมา กคช.ได้จับสลากผู้ได้สิทธิ์ทั่วประเทศไปแล้วกว่า 102,173 ยูนิต จาก 109 โครงการ มีผู้ทำสัญญาไปแล้ว 90,182 ราย และได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จจำนวน 8,971 ยูนิต ส่งมอบบ้านให้กับผู้ได้สิทธิ์แล้ว 8,193 ยูนิต โดยในปี 2549 จะส่งมอบบ้านได้ประมาณ 75,000-80,000 ยูนิต ขณะที่เป้าหมายการดำเนินการถึงปี 2551 กคช.จะต้องก่อสร้างบ้านเอื้ออาทรให้แล้วเสร็จทั้งสิ้น 600,000 ยูนิต
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|