MFCตั้งกองทุน1.5หมื่นล้าน ดึงเงินต่างชาติลงทุนเมกะโปรเจกต์


ผู้จัดการรายวัน(6 ตุลาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

MFC สนองนโยบายรัฐ ตั้งกองทุน ไทยแลนด์อินฟราสตรัคเจอร์ฟันด์ มูลค่ากว่า 1.5 หมื่นล้านบาท ดึงเงินนักลงทุนต่างชาติลงทุนตราสารหนี้-ตลาดหุ้น หนุนเมกะโปรเจกต์รัฐบาล ระบุเพื่อส่งเสริมการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศที่มีความเชื่อมั่นในพื้นฐานเศรษฐกิจและต้องการลงทุนในตราสารการเงินในประเทศไทย

รายงานข่าวจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) (MFC) เปิดเผยว่า ได้ทำหนังสือถึงคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อจัดตั้งกองทุนเปิดไทยแลนด์อินฟราสตรัคเจอร์ฟันด์ (Thailand Infrastructure Fund) มูลค่าโครงการ 1.5 หมื่นล้านบาท เสนอขายให้แก่นักลงทุนต่างชาติ โดยวัตุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมการลงทุนของนักลงทุน ต่างประเทศ ซึ่งมีความเชื่อมั่นในพื้นฐานเศรษฐกิจ และต้องการลงทุนในตราสารทางการเงินในประเทศ โดยกองทุนอาจลงทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือลงทุนโดยตรงกับบริษัท ทั้งนี้ กองทุนเน้นการลงทุนในบริษัทที่มีปัจจัยพื้นฐานดี และมีแนวโน้มการเจริญเติบโตสูง รวมทั้งลงทุนในตราสารทางการเงินที่ให้ผลตอบแทนสูง เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีแก่กองทุน และกระจายความเสี่ยงให้อยู่ในระดับเหมาะสม

สำหรับนโยบายการลงทุน กองทุนเปิดไทยแลนด์อินฟราสตรัคเจอร์ฟันด์จะกระจายเงินลงทุน ในตราสารทุน ตราสารหนี้ ตราสาร กึ่งหนี้กึ่งทุน หรือเงินฝาก ตลอดจนหลักทรัพย์และทรัพย์สินอื่น หรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่นที่สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.กำหนด โดยสัดส่วนการลงทุนในตราสารทุนตั้งแต่ร้อยละ 0 ถึงร้อยละ 100 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน

รายงานข่าวกล่าวว่า การลงทุนในหลักทรัพย์ ของกองทุนจะเน้นลงทุนในหลักทรัพย์ของกิจการที่มีปัจจัยพื้นฐานดี และมีแนวโน้มการเติบโตสูง ทั้งบริษัทจดทะเบียนและไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมทั้งลงทุนในตราสารทางการ เงินที่ให้ผลตอบแทนสูง โดยกองทุนอาจซื้อขายผ่าน ตลาดหลักทรัพย์ฯ ซื้อในช่วงเวลาการเสนอขายครั้งแรก หรือลงทุนโดยตรงกับบริษัทนั้นๆ

ทั้งนี้ กองทุนอาจลงทุนกับตราสารหนี้ที่มีการ จ่ายผลตอบแทนอ้างอิงตัวแปร หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันความเสี่ยงการลงทุน โดยบริษัทจะขอความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.ก่อนดำเนินการ

แหล่งข่าวจากวงการกองทุน กล่าวว่า การเปิด ตัวกองทุนเปิดไทยแลนด์อินฟราสตรัคเจอร์ฟันด์ (Thailand Infrastructure Fund) มูลค่ากว่า 1.5 หมื่นล้านบาท ของบลจ.เอ็มเอฟซี ซึ่งมีนโยบายระดมเงินจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ และตลาดหุ้น ไทยครั้งนี้ ถือเป็นการสนองนโยบายรัฐบาลที่จะดึงเงินทุนจากต่างชาติเข้ามาลงทุนประเทศ ผ่านตราสารหนี้และตลาดหุ้น โดยเฉพาะประเด็นที่สำคัญคือ ตราสารหนี้ที่ออกโดยภาครัฐ หรือภาคเอกชน เพราะเชื่อว่าการลงทุนโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) ระบบขนส่งรางที่มีมูลค่ากว่า 5 แสนล้านบาท จำเป็นต้องดึงเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุนผ่านตราสารหนี้ที่จะออกเพื่อระดมทุน ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการขาดดุลงบประมาณที่หลายฝ่ายมีความกังวล

นอกจากนี้ บลจ.เอ็มเอฟซี ยังเป็นที่ปรึกษาในการระดมทุนในระบบราง การออกกองทุนดังกล่าว ถือว่าช่วยสนับสนุนแผนการระดมทุนในระบบรางได้เป็นอย่างดี เพราะในปัจจุบันยังมีปัญหาเรื่องแหล่งระดมทุน เพราะบางโครงการอัตราผลตอบแทนการลงทุนต่ำ ส่งผลให้มีความจำเป็นต้อง ปรับรูปแบบการลงทุนให้สอดคล้องกับความเป็นไปได้ในการหาแหล่งเงินทุน

ทั้งนี้ ในช่วงก่อนหน้านี้ คณะผู้บริหารของบลจ.เอ็มเอฟซี ได้เดินทางไปนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุน(โรดโชว์) ในประเทศบาห์เรน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แคว้นดูไบ และอาบูดาบี ซึ่งพบว่ามีนักลงทุนสถาบัน 5 แห่งรวมทั้งตลาด หลักทรัพย์อีก 1 แห่ง ให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยนักลงทุนที่สนใจลงทุนในตลาดหุ้นไทย ประกอบด้วย อาบูดาบีอิสลามิก แบงก์ (Arbudabe Isalamic Bank) เอมิเรตส์ ไฟแนนซ์เชี่ยน เซอร์วิส (Emirate Financial Service) เนชั่นแนล แบงก์ ออฟ อาบูดาบี (National Bank of Abudabe) อาลี แบงก์ (Ali Bank) ทีเอไอบี แบงก์ (TAIB Bank) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศบาห์เรน (The Stock exchange of Bahrian)

ขณะเดียวกันยังมีแนวคิดจัดตั้งกองทุนเพื่อระดมทุนจากนักลงทุนในตะวันออกกลางที่สนใจลงทุนในตราสารหนี้ที่ไม่ผิดหลักศาสนาอิสลาม เพื่อ เข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ที่ผ่านการดำเนินการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (ซีเคียวริไทเซชัน) ที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการขนส่งระบบราง ซึ่งก่อนหน้า บลจ.เอ็มเอฟซี ได้เสนอแนวคิดให้มีการทำซีเคียวริไทเซชัน รายได้ในอนาคตของรัฐที่จัดเก็บภาษีป้ายรถยนต์ที่ได้รับประโยชน์จากการลงทุนในระบบขนส่งราง การทำซิเคียวริไทเซชั่น พร็อพเพอร์ตี้ฟันด์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องจากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รอบๆ บริเวณรถไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งจุดนี้จะทำให้การลงทุนในระบบราง ไม่เป็นภาระด้านงบประมาณของรัฐบาล


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.