หันงบลงทุนรถไฟฟ้า7สายแค่2แสนล้านบ.


ผู้จัดการรายวัน(6 ตุลาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

รัฐสั่งหั่นงบเมกะ-โปรเจกต์ เผย 3 แนวทางลดต้นทุนเหลือ 2 แสนล้านบาท ด้าน "พงษ์ศักดิ์" กลับลำทำรถไฟฟ้าสายสีม่วงเข้าบางซื่อ เหมือนเดิม อ้างผลศึกษาแก้จราจรต้องเชื่อมเข้าเมือง แต่สั่งปรับลดขนาดลดงบลง 25%

วานนี้ (5 ต.ค.)สมาคมสถาปนิก สยามในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดงานปาฐกถาพิเศษ-เสวนา ภายในหัวเรื่อง "Mega Project : เรื่องใหญ่ใกล้ตัว" โดยมีนายคำรบลักขิ์ สุรัสวดี รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายมานพ พงศทัต อาจารย์ประจำภาควิชาเคหะการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายอัจฉริยะ โรจนะภิรมย์ อดีตนายกสมาคม นักผังเมืองไทย และอนุกรรมการสภาสถาปนิก และ นายประยูร ดำรงค์ชิตานนท์ นายกสมาคมบริหารสินทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมเป็นวิทยากรพิเศษในการเสวนา

นายคำรบลักขิ์ สุรัสวดี รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลมีแผนจะปรับลดรูปแบบโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 7 สาย เพื่อเป็นการลดต้นทุนการก่อสร้างและงบประมาณลง เนื่องจากปัจจุบันงบประมาณการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ ที่กำหนดไว้เดิมมีต้นทุนเฉลี่ยสูงกว่าการก่อสร้างรถไฟฟ้าบีทีเอสอยู่มาก ดังนั้น กระทรวงคมนาคมจึงมีแผนที่จะปรับรูปแบบการก่อสร้างเพื่อลดงบประมาณลง

ทั้งนี้ การปรับแบบดังกล่าว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ให้นโยบายว่า ให้เร่งหาแนวทางการปรับลดงบประมาณการก่อสร้างลงภายใน 1 เดือน โดยในเบื้องต้น มีอยู่ 3 แนวทางประกอบด้วย 1. การลดระยะความถี่ในการก่อสร้างสถานีจอดรับส่งภายในเมืองลง 2. การถอยร่นศูนย์คมนาคมออกห่างจากตัวเมืองให้มากขึ้น 3. การใช้รถโดยสารเร็วพิเศษ หรือ บีอาร์ที เข้ามาเสริมบริการในพื้นที่บางส่วนก่อน

สำหรับแนวทางลดจำนวนสถานีลง จะทำให้ ลดงบประมาณได้กว่าครึ่งหนึ่ง เพราะแต่ละสถานี ต้องลงทุนสูงเกือบ 1,000 ล้านบาท หากใช้วิธีดังกล่าวจะทำให้ช่วยลดงบประมาณในการก่อสร้างได้มากว่าครึ่งของวงเงินก่อสร้าง จากที่เคยต้องใช้เงินลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าเกือบ 5 แสนล้านบาท อาจจะเหลือเพียง 2 แสนล้านบาท เพราะการก่อสร้างระบบรางในเขตเมืองต้องใช้ระบบใต้ดินซึ่งใช้งบก่อสร้างต่อกิโลเมตรประมาณ 3,000 ล้านบาท ขณะที่การก่อสร้างระบบรางในเขตพื้นที่ นอกเขตชุมชนใช้งบประมาณก่อสร้างต่อกิโลเมตร ประมาณ 1,000 ล้านบาท ดังนั้นการก่อสร้างควรลดงบประมาณลง เช่น จากที่กำหนดให้ในทุกพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตรต้องมีการก่อสร้างสถานีรับส่ง 1 สถานี ก็ให้ปรับลดเป็น ในทุกๆ พื้นที่ 2 ตารางกิโลเมตรให้ก่อสร้างสถานีรับส่ง 1 สถานีแทน

นายคำรบลักขิ์กล่าวว่า ส่วนการถอยร่นการก่อสร้างโครงการศูนย์คมนาคม ออกห่างจากเขตเมืองเพิ่มขึ้นนั้น ข้อดีจะทำให้สามารถประหยัด งบประมาณในการก่อสร้างศูนย์คมนาคมแห่งใหม่ เมื่อเมืองมีการขยายตัว และช่วยลดต้นทุนในการเวนคืนที่ดิน ลดผลกระทบที่เกิดกับวิถีชุมชนและเมือง รวมถึงการลดต้นทุนการใช้ที่ดิน ซึ่งจะทำให้ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากที่เกิดจากต้นทุนด้านที่ดิน โดยการถอยร่นศูนย์ดังกล่าวประกอบด้วย ศูนย์ตากสินจะถอยร่นออกไปอยู่วงแหวนรอบนอก ศูนย์มักกะสันจะถอยร่นไปอยู่ใกล้กับสนามบินสุวรรณภูมิ ศูนย์บางซื่อจะถอยร่นออกไปอยู่ที่เชียงราก ซึ่งจะสอดคล้องกับการตั้งรัฐสภาแห่งใหม่ในพื้นที่โรงงาน ไทยเมล่อนŽ เดิม ย่านรังสิต

นอกจากนี้ ในส่วนของการนำระบบรถโดยสาร เร็วพิเศษ หรือบีอาร์ทีเข้ามาใช้แทนการก่อสร้างรถไฟฟ้าบางระยะในช่วงแรกที่มีจำนวนการใช้ไม่เหมาะหรือไม่คุ้มทุนนั้น ก็เป็นอีกแนวทาง หนึ่งที่จะเข้ามาช่วงในการลดงบประมาณการก่อสร้างลงไปได้ ทั้งนี้ หากในอนาคตเมื่อจำนวนการใช้ในบางระยะที่นำระบบบีอาร์ทีมาใช้เพิ่มสูงขึ้นก็สามารถปรับใช้เป็นระบบรถไฟฟ้าได้

"พงษ์ศักดิ์" กลับลำทำรถไฟฟ้าสายสีม่วง

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยโครงการระบบขนส่งมวลชนเปิดเผยถึงว่า ขณะนี้ได้ข้อสรุปเส้นทางและรูปแบบการก่อสร้างโครงการระบบขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพและปริมณฑลว่า จะเร่งรัดการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วงเดิม คือช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ในรูปแบบของระบบรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ (Heavy Rail) เนื่องจากได้พิจารณาถึงความจำเป็นของเส้นทางที่สามารถเชื่อมต่อเข้าสู่ใจกลาง เมืองได้และมีแผนก่อสร้างที่ชัดเจนสามารถดำเนินการได้ทันทีแต่ต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของระบบเพื่อให้ประหยัดงบลงทุนและมีการปรับลดขนาด ของสถานีลงด้วย

ส่วนเส้นทางสายสีม่วงจากแครายต่อไปบางเขน นั้น จะดำเนินการแน่นอน ซึ่งเป็นแผนในอนาคตที่จะขยายเป็นเส้นทางรถไฟฟ้าวงนอก และจะต้องทำเป็นระบบใต้ดินลอดแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีแดง(รังสิต-หัวลำโพง-มหาชัย)ไปยังเกษตรนวมินทร์-ศรีนครินทร์-ปากน้ำ-บางนาและบรรจบกับสายสีเขียว ที่อ่อนนุชเพื่อให้ครอบคลุมความต้องการเดินทางของประชาชน

ปรับขนาดลดงบ 25%

นายพงษ์ศักดิ์กล่าวว่า จะต้องมีการตรวจสอบโครงสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงเนื่องจากมีราคาสูงเกินไปเมื่อเทียบกับการออกแบบก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าอื่นอย่างเช่น บีทีเอส หรือการออกแบบถนน 6 เลนในเส้นทางบางนา-ตราด ซึ่งได้มอบหมายให้คณะทำงาน ไปพิจารณาปรับลดค่าก่อสร้างโครงการลงอีก 25% จากงบประมาณก่อสร้างเดิมที่ 46,000 ล้านบาท (ไม่รวมค่าเวนคืน) เช่น ปรับลดจำนวนและขนาดสถานี

ส่วนรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย (หัวลำโพง-ท่าพระ-บางแค) รมว.คมนาคม กล่าวว่า ได้สั่งให้คณะทำงาน และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เร่งศึกษาออกแบบก่อสร้าง และเปิดประมูลภายในปลายปีนี้เช่นเดียวกับเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีแดง (รังสิต-มหาชัย) ทางคณะทำงานได้มีการศึกษารูปแบบการก่อสร้างให้มีการปรับลดจำนวนรางจาก 10 รางเหลือเพียง 2-3 ราง และอยู่ระหว่างประเมินตัวเลขงบประมาณที่จะใช้ในการก่อสร้างซึ่งเชื่อว่าจะสามารถปรับลดวงเงินก่อสร้างได้อีกเกือบ 50% ซึ่งภายในปีนี้จะประมูลรถไฟฟ้าสายสีม่วงก่อน และตามด้วยระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และสายสีแดง

ออกพ.ร.ก.ตั้งหน่วยงานกำกับ

ส่วนการจัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแลนั้นนายพงษ์ศักดิ์กล่าวว่า จะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการก่อสร้างโครงการ อยู่ระหว่างการพิจารณาทางด้าน ข้อกฎหมายซึ่งจะมีการออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อขอจัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแล โดยมอบหมายให้นายพรชัย นุชสุวรรณ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีศึกษารายละเอียดเรื่องนี้และเตรียมที่จะสรุปเสนอขออนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการอำนวยการโครงการระบบขนส่งมวลชนกล่าวถึงเหตุผลที่รถไฟฟ้า สายสีม่วงกลับมาใช้แนวบางใหญ่-บางซื่อว่า จากการพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาจราจรพบว่าสามารถ รองรับการเดินทางเข้าสู่ใจกลางเมืองได้มากกว่าเส้นทาง จากบางใหญ่-แคราย-บางเขนและมีความพร้อมที่สามารถดำเนินการได้ทันทีซึ่งจะช่วยบรรเทาการจราจรได้มากกว่าจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งดำเนินการส่วนเส้นทางจากแคราย-บางเขนก็ให้ศึกษาเป็นแผนขยายต่อไปในอนาคตถือเป็นสายรองที่จะเชื่อมการเดินทางรอบนอก

สำหรับเส้นทางต่อขยายสายสีม่วงต่อขยายช่วงวงเวียนใหญ่-ราษฎร์บูรณะ ในระยะแรกอาจมีการพิจารณาให้ทำเป็นระบบบีอาร์ทีไปก่อน เพื่อลดต้นทุนในการดำเนินโครงการ ส่วนเส้นทางสายสีแดงเข้มช่วงหัวลำโพง-วงเวียนใหญ่ อาจต้องชะลอไว้ก่อน เนื่องจากมีเส้นทางซ้ำซ้อนกับเส้นทางสายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-ท่าพระ) และสีเชียวเข้ม (ตากสิน -เพชรเกษม)

ด้านนายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่า รฟม.กล่าวว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดเรื่องนี้คาดว่าจะมีการหารือในวันนี้ (6 ต.ค.) นี้ ส่วนการปรับเปลี่ยนโครงสร้างนั้นเป็นเรื่องของรายละเอียดที่จะต้องมีการหารือกันทั้งข้อเสนอการก่อสร้างให้สถานีอยู่ตรงกลางหรืออยู่ด้านข้าง ซึ่งแต่ละรูปแบบมีข้อดีและเสียแตกต่างกัน แต่ไม่มีปัญหาเรื่องการเร่งรัดการเปิดประมูลโครงการ ภายในปีนี้

ส่วนหน่วยงานกำกับดูแลที่จะจัดตั้งขึ้นนั้นจะมีอำนาจในการควบคุมดูแลรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่รฟม.รับผิดชอบสายสีแดงที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)รับผิดชอบสายสีเขียวที่กรุงเทพมหานคร รับผิดชอบและรวมถึงรถเมล์ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยน แนวเส้นทางใหม่หมดเพื่อให้รองรับการเป็นจุดเชื่อมต่อ (Feeder) กับเส้นทางรถไฟฟ้าด้วย เพื่อให้การเชื่อมต่อของระบบรถไฟฟ้าทุกระบบเข้าด้วยกันและกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.