|

วาง5ยุทธศาสตร์พัฒนาอุตฯดันมูลค่ากว่า3.3 ล้านล้านปี52
ผู้จัดการรายวัน(6 ตุลาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ก.อุตสาหกรรมจับมือ ส.อ.ท.วางกรอบการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างใกล้ชิด ชู 5 เรื่อง เร่งพัฒนาทั้งลอจิสติกส์ คลัสเตอร์ พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มาตรฐาน และ FTA หวังก้าวสู่ยุทธศาสตร์สูงสุดมุ่งปั้นมูลค่าอุตสาหกรรมโตมากกว่า 3.3 ล้านล้านบาทในปี 2552 "สุริยะ" ยันไม่เปลี่ยนแปลงภาษีทองแดง พร้อมปรับสถาบันอิสระพนักงานหนาวมีสิทธิ์ถูกยุบ
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการเข้าพบของคณะผู้บริหารสภาอุตสาหกรรมแห่ง ประเทศไทย (ส.อ.ท.) วานนี้ (5 ต.ค.) ว่า ได้หารือแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยทั้งระบบเพื่อเพิ่มการส่งออกและสร้างการจ้างงาน สร้างรายได้แก่ประชาชน โดยมูลค่าของภาคอุตสาหกรรมจะเพิ่มสูงกว่า 3.3 ล้านล้านบาท ในปี 2552 จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.3 ล้านล้านบาท
"ขณะนี้สัดส่วนอุตสาหกรรมต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP อยู่ที่ 38.5% และอัตราการจ้างงานอยู่ที่ 17.1% จึงถือว่าเป็นภาคที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก และในเดือนพ.ย.นี้ ที่ประชุมเห็นร่วมกันจะฉลองการผลิต รถยนต์ของไทยครบ 1 ล้านคันอย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งจะเชิญนายก-รัฐมนตรีเป็นประธานในงานด้วย โดยเป้าหมายเดิมวางไว้ว่าอุตฯจะมีมูลค่าเป็น 3.3 ล้านล้านบาทในปี 2552 คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นกว่า เป้าหมายเดิม" นายสุริยะกล่าว
ทั้งนี้ ส.อ.ท.เสนอปัญหาให้รัฐบาลแก้ไข โดยเฉพาะ เรื่องภาษีทองแดงยังคงยืนยันว่ารัฐบาลจะไม่มีการปรับเพิ่มขึ้นแม้ว่า บริษัทไทยค็อปเปอร์อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) จะเสนอให้ปรับเพิ่มในส่วนของภาษีทองแดงบริสุทธิ์ จาก 1% เป็น 10% และเพิ่มภาษีลวดทองแดง จาก 5% เป็น 10% เพราะไม่ต้องการให้ต้นทุนอุตสาหกรรมโดยรวมปรับขึ้น
นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้หารือกับ ส.อ.ท.ที่จะมีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิดเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมร่วมกันโดยจะมุ่ง 5 แผนงานหลักได้แก่ 1. ลอจิสติกส์ ในภาคอุตสาหกรรม 2. การรวมกลุ่มอุตสาหกรรมแบบคลัสเตอร์ 3. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 4. มาตรฐานสิ่งแวดล้อม และ 5. การทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีหรือ FTA โดยเฉพาะ FTA จะต้องหารือในการขอข้อมูลอุตสาหกรรมใดที่พร้อมจะเปิดและไม่พร้อมและกรณีที่ตกลงเปิดเสรีแล้วจะปรับตัวกันอย่างไร
นายสันติ สันติวิลาสศักดานนท์ ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นร่วมกันว่าจะผลักดันให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางการผลิตอุตสาห-กรรมสิ่งพิมพ์ - บรรจุภัณฑ์ และอุตสาหกรรมยางพารา ซึ่งจะต้องกำหนดแผนปฏิบัติการรองรับที่ชัดเจน การพัฒนาระบบลอจิสติกส์ การพัฒนาเครื่อข่ายอุตสาหกรรม (คลัสเตอร์) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การร่วมกันดำเนินมาตรการรองรับการเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เป็นต้น โดย กระทรวงอุตสาหกรรม-ส.อ.ท.จะมีการประชุมร่วมกันทุกเดือน เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นในการพัฒนา
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|