|
กสทป่วนสถานะการเงินโคม่าเงื่อนไขกทช.ส่อต้องเลิกสัญญา
ผู้จัดการรายวัน(6 ตุลาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
เงื่อนไขค่าธรรมเนียมกทช.ทำพิษ ฐานะการเงิน กสท ถึงขั้นหายนะ หากต้องรับผิดชอบแทน บริษัทคู่สัญญา เพราะทำให้ตัวเลขการเงินติดลบต้องจ่ายแทนเอกชนถึงปีละ 1 หมื่นล้านบาท ชี้ทางออกต้องเลิกสัญญาร่วมการงาน ซึ่งเป็นการตัดสินใจระดับนโยบาย ในขณะที่ทีโอทีก็จะได้รับผลกระทบจากการสูญเสียรายได้จากค่าแอ็คเซ็สชาร์จปีละเป็นหมื่นล้านบาท
แหล่งข่าวจากบริษัท กสท โทรคมนาคม กล่าวว่าเงื่อนไขตามใบอนุญาตที่คณะกรรมการกิจการ โทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ออกให้กสท ทำให้ กสท ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาต 3% ค่าธรรมเนียม บริการทั่วถึงหรือ USO 4% และค่าเลขหมายปีละ 12 บาทต่อเลขหมาย ซึ่งกสทต้องรับภาระแทนบริษัทคู่สัญญาร่วมการงาน รวมทั้งการใช้ค่าเชื่อมโครงข่ายหรืออินเตอร์คอนเน็กชันชาร์จระหว่างกสทกับบริษัท ทีโอที จะทำให้ฐานะการเงินโดยเฉพาะเงินสดหมุนเวียนหรือ Cash Flowของกสทสะดุดภายใน 3 เดือน และอาจถึงขั้นล้มละลายภายใน 1 ปี เพราะหลังจากศึกษาตัวเลขการเงินของดีแทค ทีเอออเร้นจ์ ดีพีซีหรือจีเอสเอ็ม 1800 (ของเอไอเอส) พบว่า รายได้ที่ กสท รับจากบริษัทคู่สัญญาเมื่อเทียบกับรายจ่ายให้กทช. จะทำให้กสทติดลบมากถึงปีละ 1 หมื่นล้านบาท
เขาขยายความว่า ฝ่ายการเงินของกสท วิเคราะห์สัญญาร่วมการงานระหว่างดีแทค ทีเอออเร้นจ์ และดีพีซี โดยอาศัยตัวเลขจริง ยกตัวอย่างกรณี สัญญาร่วมการงานทีเอออเร้นจ์มีรายได้จากการดำเนินงานรวมสุทธิ 9,200,790,706.74 บาทซึ่งตามสัญญาต้องนำส่งส่วนแบ่งรายได้ 20% ให้กสท หรือ เท่ากับ1,840,158,141.35 บาท จากนั้น จะเข้าสู่รายการหักลบคือ ค่าภาษีสรรพสามิตจำนวน 1,067,538,403.95 บาท และรายการปรับปรุงค่าเชื่อมโยงโทรศัพท์มือถือจำนวน 74,778,674.99 บาท เท่ากับกสทจะมีรายได้สุทธิจากทีเอออเร้นจ์ ประมาณ 697,841,062.41 บาท
แต่ถ้าคิดตามเงื่อนไขค่าธรรมเนียมกทช.และค่าอินเตอร์คอนเน็กชันชาร์จ เมื่อทีเอออเร้นจ์ จ่ายส่วน แบ่งรายได้ให้ กสท ตามสัญญา 20% หรือ 1,840,158,141.35 บาทและต้องนำเข้าสู่รายการหักลบ ประกอบด้วยค่าภาษีสรรพสามิต 1,067,538,403.95 บาท ค่าอินเตอร์คอนเน็กชันชาร์จ 2,714,805,044.12 บาท(โทร.ออกมากกว่าโทร.เข้า 2,537.20 ล้านนาที) ค่าใบอนุญาต 3% จากรายได้ทีเอออเร้นจ์เท่ากับ 350,944,795.57 บาท ค่าUSO 4% ของรายได้ทีเอออเร้นจ์คือ 467,926,394.09 บาท ค่าพิจารณาขอใบ อนุญาต 500,000 บาท ค่าต่อใบอนุญาตปีละ 500,000 บาท ค่าเลขหมายปีละ 90 ล้านบาท ค่าใช้ความถี่ 955,718 บาทและรายการหักเพื่อปรับปรุงค่าเชื่อมโยง โทรศัพท์มือถือ จำนวน 74,778,674.99 ล้านบาททำให้ กสท ติดลบทันที 2927,790,889.69 บาทจากกรณีเดิมที่เป็นบวกเกือบ 700 ล้านบาท
ตัวอย่างการคำนวณดังกล่าวเป็นข้อมูลรายได้ที่เกิดขึ้นจริง ตามสัญญาของทีเอออเร้นจ์ ในระหว่างวันที่ 16 ก.ย. 2546-15 ก.ย.2547 ซึ่งเป็นปีที่ 8 ของสัญญา ซึ่งทำให้เห็นว่าเฉพาะของทีเอออเร้นจ์บริษัทเดียว กสท ต้องแบกรับภาระเพิ่มขึ้นทันที ปีละเกือบ 3 พันล้านบาท ซึ่งหากรวมดีแทค ดีพีซี ด้วยตัวเลขจะพุ่งสูงถึงระดับหมื่นล้านบาทต่อปี
แหล่งข่าวกล่าวว่าทางแก้ปัญหาของกสทคือต้อง เป็นฝ่ายขอยกเลิกสัญญาร่วมการงานกับเอกชนแทน เนื่องจากไม่สามารถรับภาระค่าธรรมเนียมของ กทช. แทนเอกชนได้ ส่วนเอกชนเมื่อมีการยกเลิกสัญญาก็สามารถไปขอใบอนุญาตจากทช.ได้ โดยรับภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าวเองทั้งหมด มันอาจถึงขั้นหายนะทางการเงิน ซึ่งในระดับนโยบายต้องหาทางออกได้แล้ว
อย่างไรก็ตาม หากมีการยกเลิกสัญญาจริง ทีโอทีจะเป็นหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบตามมา เพราะรายได้จากค่าแอ็คเซ็สชาร์จปีละกว่าหมื่นล้านบาทที่ได้จากเอกชนคู่สัญญาของกสทจะหายไป รวมทั้งทีโอทียังมีรายได้อีก 50% ที่จะได้รับจากส่วนแบ่งรายได้ของกสทที่ได้จากเอกชนที่จะหายไปเช่นกัน อย่างไรก็ตาม หากยังไม่มีการรีบใช้อินเตอร์ คอนเน็กชั่นชาร์จและเอกชนภายใต้สัมปทานกสทยังต้องจ่ายแอ็คเซ็สชาร์จให้ทีโอทีอย่างปัจจุบันต่อไปกสทก็จะหายนะเร็วและมากขึ้นกว่าการคำนวณข้างต้นเสียอีก
เพราะเงื่อนไขของกทช.บังคับให้กสทจ่ายค่าธรรมเนียมจากรายได้ทั้งหมดก่อนหักค่าใช้จ่าย ดังนั้นค่าแอ็คเซ็สชาร์จแม้เอกชนจะส่งเงินให้ทีโอทีโดยตรงแต่ก็เป็นการส่งโดยคำสั่งของกสทดังนั้น กทช. จะถือว่าแอ็คเซ็สชาร์จเป็นรายได้ของกสทต้อง นำไปรวมเป็นรายได้เพื่อมาคิดค่าธรรมเนียมด้วย ทั้งๆที่กสทไม่ได้รับเงินก็ตามโดยที่ในปัจจุบันทีโอทีเรียกเก็บค่าแอ็คเซ็สชาร์จจากเอกชนคู่สัญญากสทใน อัตราเลขหมายละ 200 บาทในระบบโพสต์เพดต่อเดือน และ 18%ในระบบพรีเพดต่อเลขหมายต่อเดือน
ตอนนี้ผู้บริหารระดับกลางของกสทเห็นวิกฤต ด้านการเงินข้างหน้าแล้ว อยู่ที่บอร์ดกสทจะทำอย่างไร เพราะการไม่รับรู้ แล้วปล่อยให้เป็นเผือกร้อนของ ซีอีโอคนใหม่ ก็ดูจะเหลือบ่ากว่าแรงเกินไป เพราะเรื่อง การเลิกสัญญาร่วมการงาน ก่อนมีกทช.ดูเหมือนรัฐจะได้ประโยชน์เป็นแสนล้านแต่ไม่ยอมเลิก พอมี กทช. แล้วรัฐอยู่ไม่ได้ แต่ใครจะกล้าสั่งยกเลิกสัญญาร่วมการงาน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|