แบงก์ชาติจี้เอเอ็มซีรัฐลดหนี้50%


ผู้จัดการรายวัน(6 ตุลาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ประชาชนที่มีภาระหนี้กับเอเอ็มซีรัฐได้เฮ ธปท.สั่งลดมูลหนี้ 50% ตามกรอบการแก้ไขปัญหาหนี้ภาคประชาชน กำหนดชำระ ให้ครบภายใน 6 เดือน หากเกินกำหนดมูลหนี้เด้งกลับเป็น 100% เท่าเดิม ระบุเปิดทางให้ธนาคารพาณิชย์เข้าร่วมโดยสมัครใจ ด้านขุนคลัง เผยภาระดอกเบี้ยค้างจ่ายพุ่งเป็นกว่า 2 หมื่นล้านบาท จากเงินต้นแค่ 7 พันล้านบาท ขณะที่การหารือร่วมกับแบงก์ชาติยังไร้ข้อสรุป แต่ยืนยันจะนำเสนอครม. 18 ต.ค.นี้

นายบุญศักดิ์ เจียมปรีชา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยภายหลังหารือ กับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ภาคประชาชน ว่า ที่ประชุมมีความเห็นตรงกันในเรื่องกรอบการดำเนินงานที่จะช่วยเหลือประชาชนรายย่อยที่เป็นหนี้ แต่ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน รวมทั้งยังมีแนวคิดที่จะใช้บริษัทบริหารสินทรัพย์ของรัฐ หรือเอเอ็มซีเข้ามารับซื้อหุ้นไปบริหารด้วย แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้

นายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้บริหารส่วน ส่วนบริหารทรัพย์สิน 2 สายจัดการกองทุน ธปท. กล่าวว่า ที่ประชุมได้หารือถึงมาตรการป้องกันการเกิดปัญหาพฤติกรรมการเบี้ยวหนี้ ที่เกิดจากการใช้กลไกในการแก้ไขปัญหาหนี้ ซึ่งจะพยายามให้เกิดปัญหา ดังกล่าวน้อยที่สุด โดยกรอบในการแก้ไขปัญหาหนี้ในครั้งนี้ จะไม่ทำให้กลุ่มคนที่มีพฤติกรรมจงใจเบี้ยวหนี้ได้รับการเอื้อประโยชน์ โดย ธปท.จะพยายามดูแลให้มีความเหมาะสมมากที่สุด เพราะวัตถุประสงค์ของการแก้ไขปัญหาในครั้งนี้ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเป็นสำคัญ

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท. ได้มีแนวทาง ในการเร่งลดหนี้โดยให้บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน (บบส.) และบริษัทบริหารสินทรัพย์ (เอเอ็มซี) ที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน คือบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์การ (บสก.) และบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท ลดมูลหนี้ให้แก่ลูกค้าลง 50% และกำหนดให้ผ่อนชำระให้หมดภายใน 6 เดือน

ปัจจุบันอัตราการได้คืนหนี้ของเอเอ็มซีส่วนใหญ่อยู่ที่ระดับ 42-43% หากได้คืน 50% หมดภายใน 6 เดือนถือว่าดีมาก ซึ่งทุกฝ่ายเต็มใจที่จะลดหนี้ลงครึ่งหนึ่ง แต่หากเลยเงื่อนไขคือชำระไม่ได้ภายใน 6 เดือน เงินต้นจะกลับไปที่ 100% และเริ่มชำระหนี้กันใหม่ได้อย่างนี้ถือว่าดีกว่าไม่ได้เลย ขณะที่ความเสียหายได้มีการประมาณการไว้แล้ว ซึ่งเป็นตัวเลขที่สามารถรับมือได้

สำหรับหนี้เอ็นพีแอลที่เข้าข่ายกรณีข้างต้นจะต้องเป็นหนี้ที่เกิดจากสินเชื่อส่วนบุคคล เฉพาะสินเชื่อ บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่กู้มาใช้จ่ายซึ่งเป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ส่วนสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถยนต์ไม่ได้เข้าข่ายการแก้หนี้ภาคประชาชน เนื่องจากเป็นสินเชื่อที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน 100% และเป็นหนี้ที่มีอยู่ ในเอเอ็มซี บบส. และธนาคารพาณิชย์ที่เป็นลูกหนี้เก่าที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงก่อนวิกฤตและส่วนใหญ่ไม่สามารถติดตาม หรือหากติดตามได้กว่าลูกหนี้จะชำระครบต้องใช้เวลานาน

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนหนี้สินของธนาคารพาณิชย์รัฐบาลและเอกชนนั้น ธปท.ไม่ได้บังคับให้เข้าร่วมโครงการ ผู้บริหารของแต่ละแห่งพิจารณาเองว่าจะเข้าโครงการนี้หรือไม่ ส่วนกรณีที่ธนาคารกรุงไทยมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน คงต้องให้ประธานกรุงไทยพิจารณาเอง

"หากธนาคารพาณิชย์จะเข้าร่วมโครงการก็ได้ แต่เป็นการเข้าร่วมโดยสมัครความใจ ซึ่งหากหลักการ เป็นเช่นนี้ ธปท.ก็ยอมรับได้เพราะไม่มีการบังคับซื้อหนี้ ทั้งนี้มั่นใจว่า การนำหนี้ส่วนนี้มาเข้าโครงการจะไม่ทำให้ผู้กู้มีพฤติกรรมเคยชิน หรือเสียวัฒนธรรมการชำระหนี้ (Moral Hazard) เพราะหนี้ส่วนนี้สามารถตัดมูลหนี้ออกได้ (hair-cut) เนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันและเป็นมูลหนี้ส่วนที่มีความเสี่ยงสูงอยู่แล้ว" ผู้ว่า ธปท. กล่าว

นายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า "จากตัวเลขเบื้องต้น ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2548 พบว่า ลูกหนี้เอ็นพีแอลที่อยู่ระหว่าง กระบวนการฟ้องร้องดำเนินคดีของสถาบันการเงิน มีประมาณ 1 แสนราย มูลหนี้เงินต้นประมาณ 7,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยเป็นหนี้รายละประมาณ 70,000 บาท ขณะที่ดอกเบี้ยค้างจ่ายตามกฎหมายสูงถึง 20,000 ล้านบาท สูงกว่าหนี้เงินต้นเกือบ 3 เท่า
หากคำนวณว่า สถาบันการเงินเจ้าหนี้ใช้อัตรา ดอกเบี้ยสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนด 18% ต่อปีเท่ากับว่าดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นถึง 300% ของหนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นมานานกว่า 10 ปีแล้วแต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข"

สำหรับข้อกังวลเรื่องปัญหาพฤติกรรมการเบี้ยวหนี้ที่เกิดจากการใช้กลไกในการแก้ไขปัญหาหนี้ของภาครัฐนั้น นายทนงกล่าวว่า กระทรวงการคลัง ได้คำนึงถึงและเข้าใจประเด็นนี้ดี แต่อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า ปรัชญาของการแก้ไขปัญหา คือ การเข้าไป ดูแลกลุ่มลูกหนี้ที่ยังไม่เคยได้รับการดูแล และเชื่อว่า พฤติกรรมดังกล่าว เกิดขึ้นในหมู่คนรวยมากกว่า คนจนเห็นได้จากตัวเลขหนี้เอ็นพีแอลโครงการหนี้ภาคประชาชน ของธนาคารออมสิน ซึ่งมีอยู่น้อยมาก

นายทนงกล่าวอีกว่า การแก้ไขปัญหาในครั้งนี้ จะไม่ใช้เงินงบประมาณเลย แต่ขอยังไม่เปิดเผยในรายละเอียดว่าจะทำอย่างไร เพราะยังไม่ได้ข้อสรุป

นายบุญศักดิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า มูลหนี้จำนวน 7,000 ล้านบาท ยังเป็นเพียงตัวเลขเบื้องต้นจากสถาบันการเงินในระบบเท่านั้น ยังไม่ได้รวมหนี้บัตรเครดิต และหนี้ในเอเอ็มซี โดยคณะทำงานกำลังพิจารณาข้อมูลเหล่านี้อยู่ด้วย ดังนั้น ตัวเลขหนี้อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ และคงต้องมีการประชุมหารือในรายละเอียดอีกหลายครั้ง เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ก่อนจะเสนอให้ รมว.คลังพิจารณาในสัปดาห์หน้า และจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไปในวันที่ 18 ตุลาคมนี้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.