|
ชี้น้ำมันแพงต่อเนื่องถึงปี2554
ผู้จัดการรายวัน(5 ตุลาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
"ปิยสวัสดิ์" ฟันธงราคาน้ำมันดิบตลาดโลกยังคงแพงต่อเนื่องยาวไปถึงปี 2554 แต่จะมีโอกาสเห็นขาลงระดับ 40-50 เหรียญต่อบาร์เรล ต้องรอไปอีก 4 ปีข้างหน้าหลังความต้องการของโลกลดลงหรือมีการผลิตใหม่เข้ามา ชี้บอนด์น้ำมันดอกเบี้ยสูงแต่ก็เสี่ยงสูง แนะให้ส่งกฤษฎีกาตีความกำหนดให้กองทุนฯออกบอนด์ได้หรือไม่ ด้านไฟฟ้าต้องชัดเจนค่าไฟทั้งระบบ Regulator จับตา กบง. 10 ต.ค.ยุติเกลี่ยรายได้ 3 การไฟฟ้าชี้ชะตาแผนระดมทุนกฟผ.
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด กล่าวในงาน สัมมนา "สงครามชิงน้ำมัน ทางออกประเทศไทย" ซึ่งจัดโดยสำนักพิมพ์มติชน วานนี้ (4 ต.ค.) ว่า ขณะนี้มีความชัดเจนแล้วว่าราคาน้ำมันตลาดโลกที่ปรับเพิ่มขึ้นไม่ได้เกิดจากการเก็งกำไรของกองทุนบริหารความเสี่ยง หรือเฮดจ์ฟันด์ แต่เป็นการปรับขึ้นตาม ความต้องการและการผลิตซึ่งไม่สมดุล โดยการผลิตมีน้อยกว่าความต้องการ และราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส และเบรนต์จะแพงไปในระดับ 60-70 เหรียญต่อบาร์เรลไปอีกจนถึงปี 2554
"การมองว่าเฮดจ์ฟันด์เก็งกำไรสำคัญมากเพราะมีส่วนต่อการกำหนด นโยบายรัฐบาล เพราะถ้าเรามัวคิดว่าราคาน้ำมันแพงเพราะเฮดจ์ฟันด์เราก็จะสู้เพราะคิดว่าเดี๋ยวจะลงก็จะเป็นนโยบายที่ผิดพลาดได้ สิ่งที่ถูกต้องคือการที่ต้องปล่อยให้ราคาขายปลีกน้ำมันสะท้อนตามความจริง ซึ่งโชคดีที่ไทยลอยตัวน้ำมันแล้วแต่ก็ยังถือว่าช้าไป" นายปิยสวัสดิ์ กล่าว
ทั้งนี้สาเหตุที่น้ำมันจะยังคงแพงต่อไปเนื่องจาก สำรองน้ำมันดิบของโลกมีเหลือเพียง 2 ประเทศใหญ่ คือ ซาอุดีอาระเบีย เหลือสำรองเพียง 1 ล้านบาร์เรล ต่อวัน อิรักเหลือ 7 แสนบาร์เรลต่อวัน แต่อิรักก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองสูง และยังถูกซ้ำเติมจากการที่โรงกลั่นในอดีตเกิดวิกฤตทำให้ไม่มีการขยายเพิ่ม ซึ่งหากจะลงทุนสร้างใหม่ที่สหรัฐฯ จะต้องให้ค่าการกลั่นสูงกว่า 10 เหรียญต่อบาร์เรลขึ้นไปจึงจะคุ้มทุน ดังนั้นก็คงจะต้องรอการสร้างโรงกลั่นใหม่ ขณะที่ความต้องการของโลกปีนี้รวมจะเพิ่มขึ้น 1.35 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือเพิ่ม 1.6%
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาวิกฤตพลังงานครั้งที่ 1 และ 2 จะเห็นว่า เมื่อราคาน้ำมันตลาดโลกแพงจะมีผลให้ความต้องการน้ำมันชะลอตัวลงและลดลงตามลำดับและจะมีผลให้ราคาน้ำมันมีโอกาสลดลงเช่นกัน ซึ่งเมื่อพิจารณาขณะนี้น้ำมันแพงมา ระยะหนึ่งแล้วหากหลายๆ ประเทศที่ตรึงน้ำมันอยู่เลิกตรึงก็จะมีผลให้ความต้องการลดลงได้อีก และหากมีการขยายการกลั่นก็จะมีโอกาสเห็นน้ำมันดิบเวสต์ เทกซัส และเบรนท์ในระดับ 40-50 เหรียญต่อบาร์เรลได้ โดยยึดตัวเลขต้นทุนการผลิตปัจจุบัน แต่อย่างน้อยน่าจะอีก 4 ปีข้างหน้า
สำหรับการออกพันธบัตรน้ำมัน (บอนด์น้ำมัน) ของรัฐบาลที่ให้ดอกเบี้ยบอนด์อายุ 3 ปีอยู่ที่ 5.87% สูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลถึง 1.2% นั้นสะท้อนให้เห็นถึงความไม่ชัดเจนของระดับนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะการเก็บรายได้ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจากผู้ใช้ดีเซลจะเก็บจริงไหมเมื่อถึงเวลา รวมไปถึงความ ไม่มั่นใจของนักลงทุนที่ขณะนี้มีปัญหาว่า ตามระเบียบของพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงที่รัฐมีใช้ตั้งแต่ปี 2516 นั้นไม่ได้ระบุว่ามีอำนาจในการออกบอนด์น้ำมัน ซึ่งควร จะเสนอให้กฤษฎีกาตีความก่อนเพื่อความมั่นใจ ซึ่งตีความแล้วไม่ผิดก็จะยิ่งทำให้การออกบอนด์ล็อตที่ 2 ง่ายขึ้น แต่หากผิดระเบียบจริงการเบิกจ่ายงบประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาทที่ ครม.เปิดช่องให้กองทุนฯไปเบิกเงินดังกล่าวมาใช้ได้กรณีเกิดรายได้กองทุนฯไม่เพียงพอใช้จ่าย จะมีปัญหาแน่นอน ดังนั้นนักลงทุนก็จะต้องดูความเสี่ยงด้วย
นายปิยสวัสดิ์ยังได้กล่าวถึงแผนการระดมทุน ของ บมจ.กฟผ.ว่า มีนโยบายที่ไม่ชัดเจนมากมายหลายเรื่องที่เป็นคำถามที่ยังไม่ได้รับคำตอบ ทั้งสูตรค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ Ft ว่าจะเป็นอย่างไร ค่าไฟฟ้าฐานจะปรับหรือไม่ การเกลี่ยรายได้ของ 3 การไฟฟ้าสรุปเป็นอย่างไร ฯลฯ แต่สำคัญคือการตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการไฟฟ้า หรือ Regulatorที่จะมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านไฟฟ้า 7 คนเข้ามากำกับดูแล ซึ่งปรากฏว่าการตั้งมาชั่วคราวอำนาจจะไม่มี โดยจะไปอยู่ที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งแท้จริงแล้วจะต้องมีกฎหมายถาวรมา รองรับก่อน แต่หากแต่งตั้งขึ้นแล้วระเบียบที่กำหนด ออกไปก่อนหน้า Regulator จะเข้าไปแก้ไขหรือไม่นี่ก็เป็นความเสี่ยงที่ยังไม่ชัดเจน
นายปรีดา วิบูลย์สวัสดิ์ ราชบัณฑิต และศาสตราจารย์เกียรติคุณจากเทคโนโลยีพลังงาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า นโยบายสนับสนุนพลังงานทดแทนทั้งแก๊สโซฮอล์ และไบโอดีเซล ถือเป็นสิ่งที่ดีแต่จะต้องคำนึงถึงวัตถุดิบ ความคุ้มทุนด้วย เพราะหากต้องไปถางป่าเพื่อปลูกพืชพลังงานทดแทนก็คงไม่ใช่สิ่งถูกต้อง ดังนั้นไม่ต้องการให้การผลักดันพลังงานทดแทนเป็นเพียงตามกระแสทางการเมือง ชี้ชะตา 3 การไฟฟ้า 10 ต.ค.
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานกล่าวว่า วันที่ 10 ต.ค.นี้ จะมีประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กบง.) โดยจะมีการพิจารณาประเด็นของการเกลี่ยรายได้ 3 การไฟฟ้า ซึ่งจะต้องรอกระทรวงการคลังและพลังงานสรุปในวันดังกล่าว ซึ่งหากให้ผลตอบแทนต่อการลงทุนหรือ ROIC กฟผ.อยู่ที่ 8.7% การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) อยู่ที่ 4.5-5% ก็จะทำให้ กฟผ. ไม่ต้องเลื่อนแปรรูปในวันที่ 14 พ.ย.นี้ออกไป แต่หากสรุปไม่ได้ คาดว่าแผนการระดมทุนจะต้องเลื่อน ไปต้นปี 2549
นายพรเทพ ธัญญพงศ์ชัย ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กล่าวในงานลงนามสัญญาซื้อขายไฟกับ บมจ.กฟผ.วานนี้ (4 ต.ค.) ว่า แผนการแปลงสภาพ กฟน.เป็นบมจ.ตามกำหนดจะเป็น พ.ย.นี้แต่ยังมีหลายประเด็นไม่ชัดเจนรวมไปถึงการเกลี่ยรายได้คาดว่าคงจะต้องเลื่อนออกไปก่อน ซึ่งคำตอบทั้งหมดอยู่ที่นโยบายรัฐเป็นสำคัญ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|