เงินเฟ้อก.ย.พุ่งพรวด6%ทำสถิติสูงสุดรอบ83ด.


ผู้จัดการรายวัน(4 ตุลาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

เงินเฟ้อ ก.ย.พุ่งกระฉูด 6% สูงสุดในรอบ 83 เดือน "พาณิชย์" แจงเหตุน้ำมันตัวเดียวที่มีผลทำให้เงินเฟ้อพุ่ง ส่วนในรอบ 9 เดือนเงินเฟ้อแตะระดับ 4% แล้ว "การุณ" เลิกทำนายเงินเฟ้อทั้งปี เหตุน้ำมันไร้ทิศทาง แต่ยังเชื่อไม่น่าเกิน 4.2% เผยเงินเฟ้อระดับนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เพราะเคยสูงมาก กว่านี้ในช่วงวิกฤต เล็งกำหนดสินค้าควบคุมเพิ่มเติม สกัดพ่อค้าโขกผู้บริโภค ส่วนสินค้าใดอยากขึ้นราคาต้องแจงต้นทุน ขณะที่ผู้ว่าการ ธปท. คาดเงินเฟ้อไตรมาส 4 แตะ 6 % เหตุน้ำมันกดดัน เชื่อปีหน้าลดแน่

นายการุณ กิตติสถาพร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือน ก.ย.2548 เท่ากับ 111.2 เทียบกับเดือน ส.ค.2548 เพิ่มขึ้น 0.7% เทียบกับเดือน ก.ย.2547 เพิ่มขึ้น 6.0% สูงสุดในรอบ 83 เดือน นับตั้งแต่เดือน ก.ย.2542 ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ย 9 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.) เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนเพิ่มขึ้น 4%

สาเหตุที่เงินเฟ้อเดือน ก.ย.2548 เพิ่มขึ้นจากเดือน ส.ค.2548 0.7% เป็นผลมาจากการสูงขึ้นของดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม 1.1% และดัชนีราคาสินค้าหมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 0.5% ส่วนการที่เฉลี่ย 9 เดือน เงินเฟ้อสูงขึ้น 4.0% เป็นผลมาจากการสูงขึ้นของดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม 4.3% และหมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 3.8%

ทั้งนี้ สินค้าที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ ผักสด เช่น กะหล่ำปลี ผักกาดขาว ผักบุ้ง เป็นต้น ผลไม้ เช่น ส้มเขียวหวาน ทุเรียน ไก่สด ปลาทะเล น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าโดยสารสาธารณะ สุรา ส่วนสินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ เนื้อสุกร ไข่ไก่

นายการุณกล่าวว่า เงินเฟ้อเดือน ก.ย.ของปีนี้ เทียบช่วงเดียวกันปีก่อนที่สูงขึ้นถึง 6.0% เพราะมีปัจจัยมาจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงแทบทั้งสิ้น โดยเดือน ก.ย.ปีก่อน ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 35.6 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ก.ย.48 อยู่ที่ 56.7 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล สูงขึ้น 22.1 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล หรือในรอบ 1 ปี หรือสูงขึ้น 59.3% ส่วนราคาน้ำมันในประเทศ ดีเซล ก.ย.2547 อยู่ที่ลิตรละ 14.59 บาท เดือน ก.ย.2548 ลิตรละ 23.87 บาท สูงขึ้นลิตรละ 9 บาทกว่า หรือ 63.6% ส่วนเบนซิน 95 เดือน ก.ย.2547 ลิตรละ 21.79 บาท ก.ย.2548 ลิตรละ 27.35 บาท สูงขึ้นลิตรละ 5.56 บาท หรือ 25.51%Ž นายการุณกล่าว

นอกจากนี้ ยังมีค่าโดยสารรถประจำทางที่ปรับขึ้น 2 ครั้ง ครั้งแรกในเดือน พ.ค. และครั้งที่ 2 ในเดือน ก.ค. ทั้งรถ บขส. รถร่วมบริการ รถเมล์เล็ก และเรือโดยสาร หรือแม้กระทั่งผักสดและผลไม้ปีนี้สูงกว่าปีก่อนค่อนข้างมาก จากปัญหาภัยแล้งในช่วงต้นปี และน้ำท่วมในปัจจุบันนี้ ทำให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ส่งผลให้ราคาแพง และยังได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมัน ทำให้ต้นทุนในการขนส่งเพิ่มมากขึ้น

สำหรับเป้าหมายเงินเฟ้อทั้งปี ยังยืนยันเป้าหมายเดิม 4.2% แต่ไม่อยากคาดการณ์ว่าทั้งปีจะเป็นเท่าไร เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันประมาณ 80-90% เมื่อไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าราคาน้ำมันเป็นเท่าไร ก็ไม่สามารถคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปีได้ โดยจะขอดูอีก 2 เดือน แต่อัตราเงินเฟ้อในขณะนี้ยังไม่เป็นปัญหาต่อภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อเคยสูงถึง 9-10%

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการที่เงินเฟ้อสูงระดับนี้จะกระทบต่อการบริโภคของประชาชนบ้าง โดยในการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ในเร็วๆ นี้ จะมีการเสนอให้เพิ่ม สินค้าเข้าบัญชีควบคุมอีก 5-10 รายการ จากปัจจุบัน ที่มี 26 รายการ โดยจะมีการกำหนดมาตรการดูแลสำหรับสินค้าที่ควบคุมเพิ่มมากขึ้นเพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชน

ส่วนการรับมือราคาสินค้าหลังพ้นช่วงขอความ ร่วมมือตรึงราคาตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการรายใด จะขอปรับราคาสินค้า ก็ต้องแจ้งรายละเอียดต้นทุนตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด หากเห็นว่าเหมาะสม และต้นทุนเพิ่มจริง ก็อนุมัติให้ปรับราคาได้ แต่ถ้ายังมีมาร์จิ้นก็จะขอความ ร่วมมือให้ตรึงราคาต่อไป

ทางด้านเฟ้อพื้นฐานในเดือน ก.ย.2548 ซึ่งหักรายการสินค้ากลุ่มพลังงานและอาหารสดจำนวน 107 รายการออก เมื่อเทียบกับเดือน ส.ค.2548 เพิ่มขึ้น 0.1% เทียบกับเดือน ก.ย.2547 เพิ่มขึ้น 2.3% และเฉลี่ยช่วง 9 เดือนปีนี้เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้น 1.4%

ก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับประมาณ การอัตราเงินเฟ้อปีนี้อยู่ที่ 4.0-4.2% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นเป็นครั้งที่ 3 โดยครั้งแรกอยู่ที่ 3.0-3.5% ครั้งที่ 2 อยู่ที่ 3.0-3.8% และเป็น 4.0-4.2% ในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา

ธปท.คาดเงินเฟ้อไตรมาส 4 แตะ 6%

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือนกันยายนที่เพิ่มสูงขึ้นไม่ได้เป็นเรื่องที่น่าตกใจ เนื่องจากช่วงนี้เป็นระยะเวลาที่ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงและการลอยตัวราคาน้ำมันดีเซลได้ส่งผลให้ราคาต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งคาดว่าจะกดดันให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปภายในประเทศช่วงไตรมาสที่ 4 สูงขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 6% แต่เฉลี่ยทั้งปีน่าจะต่ำกว่าอัตราดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าแรงกดดันต่อราคาเงินเฟ้อ จะลดลง โดยอัตราเงินเฟ้อจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยในระดับ 4% ในปี 2549 เนื่องจากไม่มีผลกระทบเพิ่มเติมจากราคาน้ำมัน เพราะอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องแล้ว รวมทั้งฐานเดิมในปี 2548 นี้อัตราเงินเฟ้อได้ขยายตัวไปมาก ดังนั้นการขยายตัวของเงินเฟ้อในปี 2549 เมื่อเทียบกับฐานปี 2548 จึงไม่สูงเหมือนกับปีนี้ที่อัตราเงินเฟ้อปี 2548 เทียบกับปี 2547 ที่มีฐานต่ำมาก

"อัตราเงินเฟ้อในปีนี้ในช่วงที่ลอยตัวราคาน้ำมันดีเซลเมื่อเทียบกับปีที่แล้วซึ่งฐานต่ำทำให้ปรับเพิ่มขึ้นขึ้นแรงมาก และอัตราเงินเฟ้อช่วงนี้เป็นช่วงที่เพิ่มลอยตัวราคาน้ำมันมาเพียง 2 เดือน และคาดว่าจะสูงต่อเนื่องจนถึงไตรมาสที่ 4 ของปี 2548 แต่จะเริ่มดีขึ้นในปีหน้า" ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.