|
"เซียน"ยาหอมไทยยังแกร่ง ผู้บริโภคเร่งออมเงินหวั่นภาวะทรุด
ผู้จัดการรายวัน(4 ตุลาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
"เซียน" ธุรกิจชี้เศรษฐกิจโลกปีจอชะลอตัว หลังพบค่าเฉลี่ยความมั่นใจทั่วโลกหด ส่วนอนาคตไทยอีก 12 เดือนส่อแววสดใส โชว์มีปัจจัยบวกหนุน นำร่องเมกะโปรเจกต์ 1.7 ล้านล้านบาท พ่วงต่างประเทศตบเท้าลงทุนโดยตรง 1.74 แสนล้านบาท หนุนเศรษฐกิจไทยโต 5.2% ปี 49 ยานยนต์-ท่องเที่ยว ส่งออกรุ่ง "เอซีนีลเส็น" ชี้ คนไทยกังวลภาวะเศรษฐกิจ เร่งออมเงินติดอันดับ 9 ในเอเชีย พร้อมซบอกซื้อสินค้าเฮาส์แบรนด์ติดอันดับ 7 เพราะมองว่าคุ้มค่าเงิน
นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในงานสัมมนาวันนักการตลาดแห่งประเทศไทยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจระดับโลกในปีหน้าจะชะลอตัวลงเล็กน้อย ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยคาดว่าจะเติบโต 5.2% ซึ่งเป็นระดับที่น่าพอใจ เนื่องจากมีปัจจัยบวกช่วยผลักดัน ไม่ว่าจะเป็นโครงการเมกะโปรเจกต์ 1.7 ล้านล้านบาท การตอกย้ำจุดแข็งแกร่งของประเทศในด้านต่างๆ อาทิ กลุ่มยานยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เกษตร และการท่องเที่ยว เพิ่มการส่งออกที่ได้ประโยชน์จากเอฟทีเอ อีกทั้งยังมีการลงทุนโดยตรงของต่างชาติเติบโตสูงถึง 33% หรือคิดเป็นมูลค่า 1.74 แสนล้านบาท
สำหรับแนวโน้มของอุตสาหกรรมปีหน้า กลุ่มยานยนต์คาดว่าเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ส่วนกลุ่มสินค้าเกษตร หรือราคาไก่ทรงตัว เนื่องจากอุปทานของไก่ในประเทศมีไม่เพียงพอ ทำให้แนวโน้มราคาไก่ลดลง ส่วนธุรกิจกุ้งคาดว่าปริมาณการส่งออกขยายตัวระดับสูง กลุ่มธนาคารพาณิชย์ ความต้องการใช้สินเชื่อเมกะโปรเจกต์ แต่ละปีสัดส่วนเฉลี่ย 1-2% ของสินค้าเชื่อรวม ขณะที่ธุรกิจค้าปลีกการเติบโตมาจากการขยายสาขา และธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมได้รับผลดีจากการขยายตัวของการลงทุนตรง และเอฟทีเอกับประเทศต่างๆ
ธุรกิจการท่องเที่ยวจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ไทยเร่งเปิดน่านฟ้าเสรีกับประเทศต่างๆ ทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวสูงขึ้น กลุ่มพลังงานคาดว่าราคาถ่านหินมีแนวโน้มอ่อนตัวลงในปี 2549 จากอุปทานที่เพิ่มขึ้น ส่วนกลุ่มบันเทิงและสันทนาการ คาดว่าการใช้จ่ายโฆษณาในปี 2549 ยังมีการเติบโตใกล้เคียงในปีนี้ 6-7% สื่อโทรทัศน์ยังครองส่วนแบ่ง ประมาณ 60% ของเม็ดเงินโฆษณารวมโดยมีการเติบโต 5-7%
"ผู้ประกอบการไทยเองต้องปรับตัวและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น ดังนั้น หากนักการตลาดคิดนอกกรอบหรือใช้วิธีคิดผลงานในแบบก้าวกระโดด ตลอดจนหากลยุทธ์ใหม่ๆ ทางการตลาดมาใช้ รวมทั้งใช้โอกาสขยายธุรกิจจากการขยายตัวของจีน อินเดีย และญี่ปุ่น เชื่อว่าจะทำให้ธุรกิจไทยประสบความสำเร็จได้ในภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มดีขึ้น หลังจากเจอจุดต่ำในปีที่ผ่านมา"
ไตรมาสสามไทยเริ่มส่อเค้าดีขึ้น
นายก้องเกียรติ กล่าวว่า ช่วงไตรมาสที่สามไทยเริ่มมีปัจจัยบวกเกิดขึ้นบ้าง อาทิ ดุลการค้าเป็นบวกครั้งแรกในเดือนส.ค.เกินดุล 10 ล้านเหรียญ จากในช่วง 8 เดือนขาดดุลการค้า 8.8 พันล้านเหรียญ และคาดว่าเป็นตัวเลขสูงสุดของปี 2548 และใน 4 เดือนที่เหลือของปีนี้คาดดุลการค้าจะเป็นบวก ต่อเนื่องจากการส่งออกที่สูงตามฤดูกาล อย่างไรก็ตาม คาดว่าทั้งปีนี้ ไทยก็ยังขาดดุลบัญชีเดินชสะพัด 2% ของจีดีพี ส่วนปัจจัยบวกอื่นๆ การท่องเที่ยวก็เริ่มกลับสู่ภาวะปกติในเดือนสิงหาคมเกินดุล 500 ล้านเหรียญ จากการฟื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยว 7 เดือนแรกเกินดุลบริการ 2.7 พันล้านเหรียญ และคาดว่าดุลบริการเฉลี่ยเดือนละ 500 ล้านเหรียญในช่วง 4 เดือนที่เหลือของปีนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจทั่วโลก
นายสันจัย อนุมานราชธน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอซี นีลเส็น (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จากการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคจำนวน 21,261 คน ใน 38 ตลาดครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วโลก พบค่าเฉลี่ยความมั่นใจต่อภาพรวมเศรษฐกิจของผู้บริโภค อยู่ที่ระดับ 92 โดยประเทศที่มีความมั่นใจสูงสุด คือ อินเดียที่ระดับ 127 ต่ำสุดคือเกาหลีที่ระดับ 58 ขณะที่ประเทศไทยอยู่ที่ระดับ 98
จากการสำรวจความมั่นใจในภาพรวมเศรษฐ-กิจอีก 12 เดือนข้างหน้า หรือในช่วงไตรมาส 2 ปี 2549 ผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก ระบุว่าดีขึ้น 48% คงที่ 34% และแย่ลง 20% ขณะที่ยุโรประบุว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น 29% คงที่ 37% และแย่ลง 34% ขณะที่ค่าเฉลี่ยของผู้บริโภคทั่วโลกระบุว่าดีขึ้น 38% คงที่ 34 และแย่ลง 28% แสดงให้เห็นว่าความมั่นใจในภาพรวมเศรษฐกิจของคนเอเชีย สูงกว่ากลุ่มยุโรปและค่าเฉลี่ยทั่วโลก ความกังวลส่วนใหญ่ เกิดจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว จากวิกฤตราคาน้ำมัน ดอกเบี้ยปรับตัวสูง
โดยระบุว่าการสำรวจการซื้อสินค้าของผู้บริโภคในสิ่งที่ต้องการซื้อในอีก 12 เดือนข้างหน้าพบว่า ผู้บริโภคเอเชียแปซิฟิกไม่เห็นด้วยอย่างมากที่จะซื้อสินค้า 3% เห็นด้วย 36% ไม่เห็นด้วย 51% และไม่เห็นด้วยอย่างมาก 11% ขณะที่ภูมิภาคยุโรป เห็นด้วยอย่างยิ่ง 1% เห็นด้วย 36% ไม่เห็นด้วย 48% และไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง 15% ขณะที่ค่าเฉลี่ยของภาครวมทั่วโลกที่เห็นด้วยอย่างยิ่งอยู่ที่ 3% เห็นด้วย 36% ไม่เห็นด้วย 49% และไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง 12% เอเชียกังวลเรื่องเศรษฐกิจอันดับแรก
ดร.สันจัย กล่าวว่า ความกังวลของผู้บริโภค ในเอเชียแปซิฟิก พบว่ากังวลเรื่องเศรษฐกิจ 25% เรื่องงาน 24% สุขภาพ 15% อื่นๆ 12% การเมือง 8% อาชญากรรม 6% การก่อการร้าย 5% สงคราม 4% ทั้งนี้พบว่าผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิกจะนำเงินที่เหลือ จากการใช้จ่ายผ่านการออมทรัพย์สูงสุด 51% ท่องเที่ยว 31% หาความบันเทิงนอกบ้าน 30% จ่ายหนี้บัตรเครดิต 30% ซื้อเสื้อผ้า 27% ซื้อสินค้าเทคโน-โลยีใหม่ 25% ลงทุนในตลาดหุ้นและกองทุน 19% ซ่อมแซมบ้าน 15% ลงทุนในกองทุนบำเหน็จบำนาญ 8%
สำหรับการเก็บเงินออมของคนไทยจะอยู่ในอันดับ 9 ของเอเชียที่สัดส่วน 51% อันดับหนึ่ง ฟิลิปปินส์ 63% อันดับ 2 ไต้หวัน 60% อันดับ 3 สิงคโปร์ 58% นอกจากนี้คนไทยยังมานิยมใช้สินค้าเฮาส์แบรนด์เพราะมีความคุ้มค่าที่จะจ่ายเงินเป็นอันดับ 7 ของโลกหรือคิดเป็นสัดส่วน 39% อันดับหนึ่งอินเดีย 56% จีน 52% โปแลนด์ 51% ด้านการใช้จ่ายเงินเพื่อการท่องเที่ยวไทยมาเป็นอันดับ 1 สัดส่วน 56% อันดับ 2 นอร์เวย์ 51% อันดับ 3 อิสราเอล 47%
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|