|
ยุบศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีแห่งชาติ1 ปีลง 100 ล้านเป็นได้แค่เน็ตคาเฟ่
ผู้จัดการรายวัน(4 กันยายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
"พันศักดิ์" แจงเหตุควบรวมศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีแห่งชาติกับอุทยานการเรียนรู้ในสังกัดสบร.ไม่ใช่เรื่องขาดงบประมาณ อ้างเพื่อความ เปลี่ยนแปลง และจะไม่หยุดนิ่งในเชิงนโยบาย แฉศูนย์ไอซีที มูลค่า 100 ล้านครบ 1 ปีกลายเป็น "อิน-เทอร์เน็ต คาเฟ่"
นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษานโยบายนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ สบร. กล่าวถึงกระแสข่าวปิดตัวศูนย์การเรียนรู้ไอซีที แห่งชาติ บนอาคารเซ็นทรัล เวิลด์ พลาซ่า ว่า ศูนย์ การเรียนรู้ไอซีทีแห่งชาติจะไม่ล้ม แต่จะเป็นการให้เกิดกระบวนการควบรวมกันกับอุทยานการเรียนรู้ (ทีเคพาร์ค) เพื่อจะสามารถปรับปรุงให้ร่วมกันทำงาน ต่อไป และเชื่อว่าจะยิ่งดีขึ้น
ส่วนมีข่าวว่ามีการเลิกจ้างพนักงานของอุทยาน การเรียนรู้ไปจำนวนมากนั้นจะต้องมีการเปลี่ยน แปลง เมื่อมีการควบรวมกัน รวมทั้งก็ไม่ได้มีการตัดลดงบประมาณตามที่ว่ารัฐบาลไม่มีงบประมาณแล้ว เพราะเป็นการร่วมกับ ทีเคพาร์ค เพื่อจะสามารถ เป็นการจัดการรวมกันได้หมด ส่วนที่มองกันว่า การ ใช้บริการของอุทยานการเรียนรู้ (ทีเคพาร์ค) กลับกลายเป็นอินเทอร์เน็ต คาเฟ่ แทนเจตนารมณ์ของรัฐบาล ตนเชื่อว่าไม่ใช่ เพราะจะอยู่ที่ว่าเราจะปรับกระบวนการอย่างไร เพราะบางอย่างจะต้องควบรวมเข้ามาก่อน
"งานของศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีแห่งชาติ กำลังไปได้ดี และจะเมื่อรวมกันแล้วจะไม่หยุดนิ่งในเชิงนโยบาย และอิมพลีเมนเตชัน ขึ้นอยู่กับดีมานต์เชนส์ เอ็นชิป ของผู้ใช้บริการ เพราะจะต้องเป็นปรัชญาของการทำงานใหม่" นายพันศักดิ์กล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อปลายเดือน ก.ย. 2548 ได้มีบทความข่าวในเว็บไซต์ MSN.CO.TH ตอนหนึ่งระบุว่า หลังจากที่รัฐบาลได้จัดตั้ง National ICT Learning Center หรือศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีแห่งชาติ ที่ตั้งอยู่บนชั้น 6 ของศูนย์การค้าเซ็นทรัล เวิลด์พลาซ่า หรือเวิลด์เทรด ที่ครบวาระการก่อตั้งและให้บริการเป็น เวลา 1 ปี หลังจากที่เปิดให้บริการตั้งแต่ 29 ต.ค. 2547 ด้วยงบเกือบ 100 ล้านบาท แต่ทั้งนี้ 1 ปี สำหรับศูนย์ไอซีทีแห่งนี้ ก็ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่อาจจะประจานถึงความล้มเหลวกับผลงานของรัฐบาลที่อุตส่าห์ตั้งใจก่อสร้างขึ้นมา และกว่าจะได้มาอยู่บนพื้นที่แห่งนี้ ก็มีการหาที่ตั้งมาอยู่หลายแห่ง ด้วยหวังจะเป็นสถานที่แสดงถึงนวัตกรรมด้านไอซีที และการนำไอซีทีมาใช้ประโยชน์ให้ถูกต้อง พร้อมทั้งยังจะใช้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านไอซีทีให้แก่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่สูงอายุ ก่อนที่จะขยายการให้บริการไปยังเขตเมืองไอทีซิตี้ ใน 3 จังหวัด อาทิ เชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต
รายงานข่าวระบุอีกว่า บทความยังกล่าวถึงข้อกล่าวหาของการบริหารงานผิดพลาดของผู้บริหารศูนย์ไอซีที ที่แม้แต่รัฐมนตรีที่เข้ามารับงานต่อจาก น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรมว.ไอซีที ยังเอือมระอา และเคยบ่นกับข้าราชการที่เกี่ยวข้องว่า คงต้องรอให้ บรรดาผู้สื่อข่าวช่วยโหมกระพือเรื่องนี้ ทางกระทรวง จึงจะเข้าไปล้วงลูกจากเจ้าของโครงการได้ เพราะข้อกล่าวหานั้นมีตั้งแต่การโกงเงินเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่น ตั้งงบประมาณลูกจ้างเอาไว้สูง จ่ายจริงไม่ถึง ค่าโอที ที่ตั้งเอาไว้ เป็นต้น
นอกจากนี้ ศูนย์ดังกล่าวกลับกลายเป็นที่มาเล่นอินเทอร์เน็ตอย่างเดียว คล้ายกับอินเทอร์เน็ต คาเฟ่ ไม่ใช่เจตนารมณ์เดิมที่ต้องการไว้ใช้สำหรับงาน แถลงข่าวของชาวไอที และต้องเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ไม่ใช่การอบรมสอน power point เหมือนกับสถาบันสอนภาษาทั่วไป และสิ่งที่อยากท้วงติงหรือ ให้ขบคิด หากสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า มีการ ยื่นขอโดยอนุมัติเงินจำนวน 159 ล้านบาท เพื่อให้ ผู้บริหารที่เคยบริหารศูนย์แห่งนี้ ไปจัดตั้ง ศูนย์ไอซีทีฯในรูปแบบนี้ขึ้นใหม่อีก โดยจะให้มีการทำงานร่วมกับหน่วยงานราชการในพื้นที่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) หอการค้าจังหวัด หลังจากที่เห็น ผลงาน ความสำเร็จในการทำงานในความล้มเหลวที่ผ่านมาเป็นอย่างดี ที่ยังไม่นับรวมการถูกสอบสวนการ จัดซื้อจัดจ้าง หรือแม้กระทั่งการถูกร้องเรียนของพนักงานที่ได้มีการลงชื่อ ส่งถึง น.พ.สุรพงษ์ อดีต รมว.ไอซีที สมัยนั้น
"ถือว่าเป็นการบริหารงานที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงของศูนย์ไอซีทีแห่งนี้ นอกจากจะทำให้ประชาชนหวังใช้บริการหมดโอกาสแล้วยังสูญเสียงบประมาณอีกมากกว่าร้อยล้านบาท และในท้ายที่สุด โดยที่ผู้บริหารได้สร้างผลงานแบบเละเทะ สร้างปัญหาในหลากหลายรูปแบบ แต่พอแก้ไม่ได้หรือทำไม่ได้ พร้อมกับประกาศชัดว่าจะขอไปจับงานใน 3 จังหวัด" บทความระบุ
พร้อมกันนี้ บทความยังกล่าวถึงพนักงานของ ศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีแห่งชาติ ว่า เป็นหนูทดลองยาในด้านผลงานวิจัย ของรัฐบาล ในการทำงานในรูปองค์กรอิสระ ที่พนักงาน จาก 39 คน มีจำนวน เพียง 8 คน ที่ได้รับการจ้างงานต่อ หรือง่ายๆพนักงานจำนวน 31 คน ที่ถูกทิ้งให้ตกงานโดยไม่มีการจ้างต่อ ซึ่งถือว่าผิดหลักการของการโอนย้ายงาน ที่ของบุคคล ที่ทำงานรัฐ หรือแม้กระทั่งก่อนหน้านี้ พวกเขาก่อนที่จะโอนย้าย ยังยืนรอเงินตกเบิกกันปากแห้ง หรือแม้กระทั่งเจ็บป่วยยังเบิกประกันสังคมไม่ได้ด้วยซ้ำ หากที่นี่ไม่ได้มีการดำเนินการเข้าไปควบรวมอุทยานการเรียนรู้ หรือ TK Park ที่จะอยู่ภายใต้การบริการ ของ สบร. (Office of Knowledge Management and Development: OKMD) ที่จะเข้ามาบริหาร ในอีกรูปแบบใหม่อย่างที่ไม่เข้าใจโมเดลกับงานของที่แห่งนี้ หรือในรูปต่างจากวัตถุประสงค์ที่ก่อตั้งขึ้นมา
บทความ ยังสรุปด้วยว่า ศูนย์การเรียนรู้ไอซีที แห่งชาติ จะไม่มีชื่อปรากฏอีกต่อไปหลังจากเดือน ก.พ. 2549 นี้แล้ว ภารกิจและกิจกรรมต่างๆ ของที่นี่จากนี้ไปก็อาจจะเปลี่ยนแปลง ทั้งที่กิจกรรมและวัตถุประสงค์ของ ศูนย์ไอซีที จะต่างกับอุทยานการเรียนรู้ของสถานที่แห่งนี้ต่างกันอย่างสิ้นเชิง ในแง่ของระบบการศึกษา หรือการสร้างพัฒนาบุคคล ที่ออกจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|