ถกเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯคืบหน้า20%เป็นงงไม่มีข้อเสนอเรื่องสิทธิบัตรยา


ผู้จัดการรายวัน(4 ตุลาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ถกเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ ประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาคืบหน้า 20% "คณิสสร" ย้ำชัดอะไรเป็นไปตามกฎหมายไทยก็ยอมรับ แต่ หากต้องแก้ไขกฎหมายจะยังไม่รับ เผยสหรัฐฯ รุกไทยเร่งปราบปรามสินค้า ละเมิด ขยายความคุ้มครองลิขสิทธิ์ และเครื่องหมายการค้า ส่วนไทยรุกกลับ ขอให้สหรัฐฯ แบ่งปันผลประโยชน์หากนำภูมิปัญญาไทยไปใช้ เพิ่มการคุ้มครองข้าว ผ้าไหม เป็นงง สหรัฐฯ ไม่รุกเรื่องสิทธิบัตรยา แย้มประเด็นการละเมิดลิขสิทธิ์เคเบิลทีวีจะเป็นเรื่องใหญ่

นายคณิสสร นาวานุเคราะห์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยถึงผลการประชุมเจรจาจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างไทย-สหรัฐฯ รอบที่ 5 ระหว่างวันที่ 26-30 ก.ย.2548 ในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาว่า การเจรจาในรอบนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายได้ยื่นข้อเสนอที่ตัวเองต้องการ เข้าสู่การพิจารณา โดยในเบื้องต้นมีประเด็นที่สามารถตกลงกันได้แล้ว ประมาณ 20% จากภาพรวมทั้งหมด และสิ่งที่สหรัฐฯ เรียกร้องไทยรับได้ เพราะไม่ขัดกับกฎหมายภายในประเทศที่มีอยู่ ส่วนข้อเสนอที่จะทำให้ไทยต้องไปปรับปรุงกฎหมายภายในประเทศนั้น ไทยยังไม่ยอมรับ

ทั้งนี้ ประเด็นที่สหรัฐฯ ยื่นข้อเสนอเข้ามาในครั้งนี้ ได้แก่ การบังคับใช้กฎหมายด้านทรัพย์สินทาง ปัญญา โดยเฉพาะการปราบปรามการละเมิด เช่น วิธีการตรวจจับ บท ลงโทษไทยรับได้ ส่วนวิธีพิจารณา ของศาลที่สหรัฐฯ ขอให้เร็วขึ้น ไทยไม่รับ เพราะในทางปฏิบัติเป็นเรื่องของศาล หรือการตรวจสอบสินค้าที่ผ่านระบบศุลกากรทั้งหมด ทั้งนำเข้า ส่งออก หรือส่งผ่าน ไทย ก็ยังไม่รับ เพราะเห็นว่าระบบที่มีอยู่ เพียงพออยู่แล้ว

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังขอให้ไทยเพิ่มความคุ้มครองในเรื่องลิขสิทธิ์ตามกฎหมายสหรัฐฯ ที่อายุการคุ้มครอง 70 ปีหลังเจ้าของ เสียชีวิต แต่ของไทยกำหนดเพียง 50 ปี และในประเด็นเครื่องหมาย การค้าขอให้คุ้มครองถึงเครื่องหมาย ที่เกี่ยวกับเสียงและกลิ่น ซึ่งไทยยังไม่ยอมรับทั้ง 2 ประเด็น เพราะต้องหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องก่อน

ส่วนประเด็นเรื่องสิทธิบัตร โดยเฉพาะสิทธิบัตรยา และพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์นั้น สหรัฐฯ ไม่ได้ยื่นข้อเสนอในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเพราะอะไร แต่สหรัฐฯ คงชะลอการเสนอไว้ก่อน เนื่องจากเห็นว่าไทยมีปัญหา แต่ทั้งนี้ หากเสนอมาไทยก็มีจุดยืนสำหรับ ตัวเองไว้แล้ว โดยข้อเสนอใดๆ ก็ตาม ต้องเป็นไปตามหลักความตกลง ว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการค้า (TRIPs) ภายใต้ องค์การ การค้าโลก (WTO) ที่จะจัดหา ยาที่จำเป็นในราคาที่เป็นธรรม หาก เกินหรือมากไปกว่านี้ก็ไม่ยอมรับ

นายคณิสสรกล่าวว่า สำหรับข้อเสนอที่ไทยได้ยื่นให้สหรัฐฯ ในครั้งนี้ ไทยได้เน้นในเรื่องการแบ่งปัน ผลประโยชน์จากการนำภูมิปัญญา ท้องถิ่นของไทยไปต่อยอดก็ต้องแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้ให้กับไทย ด้วย การขอให้สหรัฐฯ เพิ่มความคุ้มครองในสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เช่น ข้าว และผ้าไหม การขอความร่วมมือให้สหรัฐฯ ช่วยให้ไทยจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา เช่น สิทธิบัตร และเครื่องหมายการค้าใน สหรัฐฯ ให้ง่ายขึ้นและเร็วขึ้น และขอความร่วมมือจากสหรัฐฯ ถ่ายทอด เทคโนโลยี การวิจัย และหากได้ทรัพย์สินทางปัญญาขึ้นมาก็ต้องเป็นเจ้าของร่วมกัน

"ภาพรวมตอนนี้ ต่างฝ่ายต่าง ยื่นข้อเสนอ อะไรที่เรารับได้ก็รับ ส่วนข้อเสนอที่ไทยยื่นให้สหรัฐฯ เขาก็ยังไม่ตอบว่ารับได้หรือไม่ คง จะไปหารือกันในรอบที่ 6 ที่จะมีขึ้นในเดือนพ.ย.หรือม.ค.ปีหน้า" นายคณิสสรกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมครั้งนี้ สหรัฐฯ ยังได้มีการหารือถึงการ ให้ความคุ้มครองการละเมิดลิขสิทธิ์ ทางอินเทอร์เน็ต และเคเบิลทีวี ซึ่งไทย ยังไม่ยอมรับ เพราะเป็นเรื่องใหม่ แต่ ก็เห็นว่าจะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ มากในอนาคต เนื่องจากปัจจุบันนี้ อินเทอร์เน็ตมีความสำคัญเพิ่มมาก ขึ้น การดูหนัง ฟังเพลง ก็ทำผ่าน อินเทอร์เน็ตได้ จึงได้ขอความร่วมมือ ให้สหรัฐฯ เข้ามาอบรมสัมมนา รวมทั้งชี้แจงวิธีการ และมาตรการป้องกันการละเมิดให้ไทยด้วย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.