"เทสโก้ โลตัส"เอาอีกแล้ว รีดกำไรคู่ค้าย้อนหลัง2ปี


ผู้จัดการรายวัน(21 ตุลาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

เทสโก้ โลตัส ได้ใจช่วงผลัดรัฐมนตรีดูปัญหาค้าปลีก เรียกซัปพลายสินค้าอุปโภคบริโภค เปิดโต๊ะเจรจาเรียกเก็บรายได้ย้อนหลัง 2 ปี อ้างจัดโปรโมชั่นให้ซัปพลายเออร์จนกำไรหาย บริษัทแม่ประกาศให้ปีนี้เทสโก้ โลตัส ต้องฟันกำไร 3% จากยอดขายหรือคิดเป็นเม็ดเงินกว่า 1,200 ล้านบาท ด้านซัปพลายเออร์หวั่น! หากโลตัสรีดได้ดิสเคานต์สโตร์รายอื่นทำตามแน่ เผยแม็คโครเริ่มส่งสัญญาณมาแล้ว ขณะที่ซูเปอร์มาร์เกตหลายรายเริ่มเอาอย่างเรียกเก็บค่าใช้จ่ายหลังจากที่ไม่เคยทำมาก่อน

แหล่งข่าวซัปพลายเออร์ที่ส่งสินค้าให้เทสโก้ โลตัส เปิดเผย "ผู้จัดการรายวัน" ว่าขณะนี้เทสโก้ โลตัส ได้เรียกซัปพลายเออร์กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคหลายรายเข้า ไปพบตั้งแต่วันจันทร์ที่ 14 ต.ค. 2545 ที่ผ่านมา โดยเปิดห้องประชุม ของโรงแรมปริ๊นเซส ศรีนครินทร์ เพื่อเจรจาและแจ้งให้ซัปพลายเออร์ รับรู้ทีละรายว่าจะเรียกเก็บเปอร์ เซ็นต์ยอดขายสินค้าย้อนหลัง 2 ปี จากซัปพลายเออร์ โดยกำหนดสัดส่วนไม่เท่ากันในแต่ละราย ขึ้นอยู่กับยอดขายของซัปพลายเออร์รายนั้นๆ ซึ่งคาดว่าเทสโก้ โลตัสจะเรียกซัปพลายเออร์เข้าไปคุยประมาณ 1,000 ราย

อ้างขายสินค้าขาดทุน

เทสโก้ โลตัส อ้างว่าที่ต้องเรียกเก็บรายได้ย้อนหลัง 2 ปี จากซัปพลายเออร์ เนื่องจากไม่สามารถ ทำกำไรจากการขายสินค้าได้ จากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในสินค้าอุปโภค บริโภคมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้คำอ้างดังกล่าวถือ ว่าฟังไม่ขึ้นสำหรับซัปพลายเออร์ เพราะเทสโก้ โลตัส นำสินค้าไปจัดรายการส่งเสริมการขาย เอง โดยบางครั้งถึงขั้นขายสินค้าต่ำกว่าทุน เพื่อเร่งสร้างยอดขายและดึงคนเข้าร้าน ทั้งที่ซัปพลายเออร์ไม่ได้ให้เทสโก้ โลตัสนำสินค้าของตนเองไปจัดรายการส่งเสริมการขายด้วยซ้ำ เพราะช่วงใดที่เทสโก้ โลตัส ต้องการจัดรายการส่งเสริมการขายก็จะมาเก็บเปอร์เซ็นต์ส่วนลดจากซัปพลายเออร์เป็นครั้งคราวไป

การที่เทสโก้ โลตัส มาเรียกเก็บรายได้ย้อน หลังกับซัปพลายเออร์น่าจะมาจาก ในปีนี้บริษัทแม่ของเทสโก้ โลตัส ได้ให้นโยบายว่าธุรกิจในประเทศไทยจะต้องสร้างผลกำไรให้ได้ 3% และเทสโก้ โลตัสก็ได้ประกาศกับพนักงานไปแล้วว่าจ่ายโบนัสสิ้นปี 3-5% ขณะที่ผลประกอบการของเทสโก้ โลตัส ที่แจ้งกับกระทรวงพาณิชย์ ช่วงที่ถูกตรวจสอบว่าทำการค้าไม่เป็นธรรม สมัยนายเนวิน ชิดชอบ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระ ทรวงพาณิชย์ พบว่าเทสโก้ โลตัส ไม่มีกำไรจากการประกอบกิจการ แต่กลับมีกำไรจากค่าธรรม เนียมต่างๆแทน ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขบริษัทแม่ที่ต้องการให้เทสโก้ โลตัส สร้างผลกำไรเพิ่มขึ้นในปีนี้

"ยอดขายของเทสโก้ โลตัสในสิ้นปีนี้น่ามีตัวเลขประมาณ 40,000 ล้านบาท ถ้าต้องการผลกำไร 3% ก็เท่ากับว่าจะต้องหาเงินให้ได้ 1,200 ล้านบาท หากเทสโก้ โลตัส ยืนยันที่เรียกเก็บรายได้ย้อนหลังจากซัปพลายเออร์ให้ได้ คาดว่าจะต้องรีดรายได้จากซัปพลายเออร์เป็นจำนวน 1,200 ล้านบาท"

แหล่งข่าวซัปพลายเออร์ ยังกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาซัปพลายเออร์ถูกดิสเคานต์สโตร์เรียกเก็บ ค่าธรรมเนียมหลายรูปแบบ เช่น เป้ายอดขายขาย ประจำเดือน ที่เรียกเก็บเดือนละ 1% ของยอดขาย ซึ่งซัปพลายเออร์จะต้องจ่ายเงินล่วงหน้าให้กับเทสโก้ โลตัส และเมื่อถึงสิ้นปีหากเทสโก้ โลตัส สามารถทำยอดขายได้สูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้ ซัปพลายเออร์จะต้องจ่ายเป้ายอดขายประจำปีให้กับเทสโก้ โลตัสอีกครั้ง คิดตามเปอร์เซ็นต์ยอดขายที่เพิ่มขึ้น

รายเล็กบ่นอุบไม่มีทางสู้

ซัปพลายเออร์ อีกรายหนึ่ง กล่าวกับ"ผู้จัดการรายวัน" ว่า บริษัทของตนเองก็เป็นอีกราย หนึ่งที่ถูกเรียกเข้าไปเจรจา โดยก่อนที่จะเข้าไปพบทางเทสโก้ โลตัส ได้ให้บริษัทเตรียมข้อมูลผลประกอบการของบริษัทในปี 2544 , 2545 และของปี 2546 ที่คาดว่าจะทำได้ด้วย รวมทั้งการเสนอแผนการตลาดว่าจะจัดรายการส่งเสริมการขายอย่างไรบ้าง

"เราจะเสนอตัวเลขอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งต้องมาดูเจตนารมณ์ของเทสโก้ โลตัสว่าเขาต้องการอะไร สิ่งไหนที่ยอมได้ก็ยอม เพราะว่าเป็นช่องทางหลักที่หากเราไม่ขายคู่แข่งของเราก็ขาย ถ้าเราเสียโอกาสในช่องทางนี้ไปก็สู้กับคู่แข่ง ขันรายอื่นไม่ได้ แต่หากการเจรจาเห็นว่าถูกเอาเปรียบมากเกินไปก็คงต้องทำใจที่จะไม่ขายในช่องทางนี้"

แหล่งข่าว ได้ยกตัวอย่างให้ฟังว่า การที่เทสโก้ โลตัส ต้องการรายได้ที่เพิ่มขึ้นเพื่อให้บริษัทมีกำไรนั้น เป็นเพราะที่ผ่านมาการค้าขายกับเทสโก้ โลตัส เช่น สินค้าราคาข้างกล่อง 50 บาท แต่เทสโก้ โลตัส จะขายในราคา 45 บาท และบางช่วงที่ต้องการดัมป์ราคาลงมาก็ขายในราคาเพียง 40 บาท ซึ่งต่ำกว่าทุน โดยไม่ได้บอกให้เจ้าของสินค้าได้ทราบ ซึ่งส่วนต่างระหว่าง 40-45 บาท เทสโก้ โลตัส ควรรับไปฝ่ายเดียว แต่กลับมาเรียกร้องให้เจ้าของสินค้าต้องรับภาระไปด้วย ซึ่งเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรม หวั่นแม็คโครเอาแบบอย่าง

สิ่งที่ซัปพลายเออร์เป็นกังวลอยู่ในขณะนี้ คือหากเทสโก้ โลตัส สามารถเรียกเก็บรายได้ย้อนหลังได้ เชื่อว่าดิสเคานต์สโตร์รายอื่นจะต้อง ทำตามแน่นอน เพราะขณะนี้ฝ่ายจัดซื้อของแม็คโคร ได้เริ่มส่งสัญญานแจ้งให้ซัปพลาย- เออร์ ทราบว่าผู้บริหารระดับสูงต้องการพบ ซัปพลายเออร์หลายรายกังวลว่าจะเป็นเรื่องเดียวกับเทสโก้ โลตัส เพราะปัจจุบันผู้บริหารระดับผู้จัดการฝ่ายของดิสเคานต์สโตร์แต่ละรายจะรู้จักกัน โดยส่วนใหญ่จะโยกย้ายการทำงานกันอยู่ในวงการดิสเคานต์สโตร์กันเอง ดังนั้นข้อมูลเทสโก้ โลตัส จะเรียกเก็บรายได้ย้อนหลังจากซัปพลายเออร์อาจจะรู้ถึงค่ายดิสเคานต์สโตร์อื่นๆ แล้ว

ประกอบกับปีนี้ยอดขายของแม็คโครถือ ว่าตกลงอย่างมากไม่ต่ำกว่า 20% เนื่องจากรูปแบบ ค้าปลีกของแม็คโคร ที่เน้นเฉพาะผู้ค้าส่ง ทำให้ไม่ลูกค้าทั่วไป ขณะที่ดิสเคานต์สโตร์รายอื่นจะทำตลาดลูกค้าทุกประเภท ทำให้แม็คโคร ไม่สามารถสู้ดิสเคานต์สโตร์รายอื่นๆได้

ซัปพลายเออร์ยักษ์ใหญ่ไม่ยอมจ่าย

ทางด้านแหล่งข่าวระดับสูง จากบริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ที่สุดของไทย กล่าวกับ "ผู้จัดการรายวัน" ว่า ในฐานะที่เป็นบริษัทรายใหญ่ รู้สึกเห็นใจซัปพลายเออร์รายเล็กๆเป็นอย่างมาก ที่ได้รับแรงกดดัน และถูกขูด รีดจากดิสเคานต์สโตร์รายใหญ่ ซึ่งในส่วนของบริษัทเอง ที่ผ่านมาก็เคยยอมจ่ายค่าแรกเข้า เปอร์เซ็นต์จากยอดขายประจำปีให้แก่ดิสเคานต์สโตร์เหล่านี้ แต่ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไปบริษัทได้มีนโยบายอย่างชัดเจนที่จะไม่จ่ายค่าเรียกเก็บใดๆก็ตามที่ไม่มีเหตุผลอันควร กับดิสเคานต์สโตร์เหล่านี้ แต่จะส่งสินค้าเข้าไปจำหน่าย

"หลังจากที่ผมประกาศนโยบายไม่จ่ายค่าสินค้าแรกเข้าให้กับดิสเคานต์สโตร์แล้ว ก็ไม่เห็นเขาว่าอะไร เพราะเรารายใหญ่มีสินค้ามากมาย และผมยินดีที่จะจ่ายหากเห็นว่าจะได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย เช่นการแบ่งเปอร์เซ็นต์ยอดขายประจำปี เพราะถ้าเขาขายของให้เราได้มาก ก็สมควรจะได้รับค่าตอบแทน แต่ถ้าเรียกเก็บโดยที่เราเป็นฝ่ายเสียประโยชน์อย่างเดียว แล้วเขาได้อย่างเดียว อย่างนี้ถือว่าทำการค้าที่ไม่เป็นธรรม"

แหล่งข่าวระดับสูง กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาทางผู้บริหารที่เป็นคนต่างชาติก็เริ่มจะรู้บ้างแล้วว่าการเรียกเก็บค่าใช้จ่าย อย่างเช่น ค่าสินค้าแรก เข้ารายการละเป็นแสนนั้น เข้าข่ายผิดกฎหมาย ถึงได้ยอมให้กับซัปพลายเออร์บางรายที่ไม่ยอมจ่าย แต่ซัปพลายเออร์รายเล็กๆ ทางดิสเคานต์สโตร์ก็จะเรียกเก็บก่อน หากได้ก็เอา ไม่ได้ก็ไม่ให้ขาย ซึ่งทำให้ซัปพลายเออร์รายเล็กๆที่กลัวว่าจะไม่ได้ขายในห้างเหล่านี้ก็ต้องยอมทำตาม

นอกจากนี้แหล่งข่าวยังกล่าวอีกว่า ผลพวง จากการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายต่างๆ ส่งผลให้ซูเปอร์ มาร์เก็ตหลายรายเริ่มที่จะเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเหล่านี้กับซัปพลายเออร์บ้างแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก หากรัฐบาลไม่ออกมาจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น

"อาจจะเป็นโชคร้ายของซัปพลายเออร์ไทย ที่แนวทางในการแก้ปัญหาค้าปลีก ที่นายเนวิน ชิดชอบ ได้ดำเนินการมาด้วยดีและทำท่าว่าจะยุติปัญหานี้ได้ กลับต้องมาหยุดชะงักลงในช่วงนี้ ซึ่งมีข้อน่าสังเกตว่าอาจกลัวว่าเจ้าตำรับในการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายต่างๆจากซัปพลายเออร์ ซึ่งเป็นคอนวีเนียนสโตร์รายใหญ่ที่ขยายสาขาในเมืองไทย จะต้องถูกหางเลขไปด้วย"

แหล่งข่าวรายเดียวกันยังกล่าวอีกว่า จากนโยบายที่ไม่ยอมเสียค่าแรกเข้าให้กับผู้ประ กอบการค้าปลีก ส่งผลให้ในปัจจุบันมีสินค้าหลาย รายการของบริษัท ไม่สามารถเข้าไปวางขายในคอนวีเนียนสโตร์รายใหญ่ได้ ซึ่งบริษัทก็ไม่กังวล เพราะสามารถหาช่องทางอื่นขายทดแทนได้

"การที่เราไม่ได้ขายของในช่องทางของคอนวีเนียนสโตร์รายใหญ่ก็ไม่เป็นไร เพราะผมคิดว่ายังดีกว่าที่จะยอมเสียค่าโง่ให้แก่คนเห็นแก่ประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว โดยที่ไม่เคยคิด ถึงซัปพลายเออร์ โดยเฉพาะที่เป็นรายเล็กๆ เลยว่าเขาจะอยู่ได้หรือไม่"

แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ทางคอนวีเนียนสโตร์รายใหญ่ของไทย เคยมาประชุมร่วม กับบริษัท เพื่อหาความร่วมมือในการทำการค้าร่วมกัน ซึ่งบริษัทก็ยินดีแต่เมื่อคุยกันในรายละเอียดแล้ว ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าสินค้าแรกเข้า ค่าโปรโมชั่น ค่าเมล์ออเดอร์ หรือส่วนแบ่งจากยอด ขาย ซึ่งเราได้แต่ทำใจว่า ไม่ขายในร้านของเขาเราก็ไม่ตาย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.