เตือนธุรกิจติดบ่วงปันจีดีพี


ผู้จัดการรายวัน(3 ตุลาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

นักเศรษฐศาสตร์ฉงนรัฐรวมศูนย์ตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจ หวั่นลากเอกชนเข้าไปติดบ่วงมายาภาพของรัฐบาลที่พยายามปั้นตัวเลขจีดีพีให้ขยายตัวในระดับสูง เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ส่งผลให้เอกชนเร่งขยายกำลังการผลิต การลงทุน ชี้ภาคเอกชนจำเป็นต้องมีข้อมูลเปรียบเทียบที่หลากหลายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง ส่วนปัญหาตัวเลขคาดการณ์ที่แตกต่างกันระหว่าง "ธปท.-สภาพัฒน์-สศค." ภาคเอกชนรับได้ เนื่องจากมีฐานการจัดเก็บข้อมูลที่แตกต่างกัน

ความพยายามของรัฐบาลในการรวมศูนย์ข้อมูลตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง เพื่อประกาศตัวเลขอย่างเป็นทางการเพียงตัวเลขเดียว เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดนโยบายของรัฐบาล และนโยบายในการทำธุรกิจของภาคเอกชนกำลังเป็นข้อกังขาว่าจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อภาครัฐ หรือ เอกชนตามที่คาดหวังหรือไม่ เนื่องจากหลักการประมาณการเศรษฐกิจของแต่ละหน่วยงานต่างมีฐานข้อมูลที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับฐานที่มาของข้อมูล และหลักการวิเคราะห์ของแต่ละสำนัก

ปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนหน้า ซึ่งเป็นที่มาซึ่งทำให้เกิดแนวคิดการรวมศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจคือ ตัวเลขคาดการณ์ ซึ่งมีความแตกต่างกันมากบ้างน้อยบ้าง ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่หน่วยงานแต่ละหน่วยงานให้น้ำหนัก โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นสภาพัฒน์ ธนาคารแห่งประเทศไทย และสศค. ต่างมีการปรับประมาณการจีดีพีประมาณ 3-4 ครั้ง ไปแล้ว หลังได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมัน ซึ่งฉุดเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และความเชื่อมั่นนักลงทุนในประเทศถดถอย

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนักลงทุนจะให้น้ำหนักกับข้อมูลของสภาพัฒน์มากกว่า เพราะถือเป็นหน่วยงานที่มีฐานข้อมูลที่แม่นยำ และประเมินจากภาพรวมเศรษฐกิจที่แท้จริง ขณะที่ข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถือเป็นฐานข้อมูลที่มีส่วนสำคัญเช่นเดียวกัน เพราะเป็นหน่วยงานที่กำข้อมูลเกี่ยวกับภาพรวมการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน หรือการให้สินเชื่อต่างๆ ของระบบสถาบันการเงิน
ขณะที่ข้อมูลของสศค. ซึ่งเป็นหน่วยงานของภาครัฐโดยตรง และเกี่ยวข้องกับแนวโน้มการจัดเก็บรายได้กรมสรรพากร กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต และแนวโน้มการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ ดังนั้น ตัวเลขจีดีพีของสศค.จึงเป็นตัวเลขคาดการณ์ที่ผูกพันกับแนวโน้มการจัดเก็บรายได้ และการใช้จ่ายด้านงบประมาณของรัฐบาลโดยตรง

สำหรับมุมมอง และความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับประเด็นในการรวมศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ หลายฝ่ายยังเห็นว่า ยังไม่มีความจำเป็นถึงขั้นที่จะต้องรวมศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ และควรปล่อยให้ ธปท. สภาพัฒน์ และสศค. มีความเป็นอิสระในการทำตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจ เพราะการนำข้อมูลมาสังเคราะห์เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนของภาคเอกชน หรือ ในส่วนของนักเศรษฐศาสตร์ ต่างเลือกที่จะหยิบข้อมูลที่จำเป็นในการทำธุรกิจ หรือการทำการวิเคราะห์ข้อมูล และเห็นว่า ข้อมูลของแต่ละหน่วยงานมีความสมบูรณ์ในเชิงของฐานข้อมูลที่แท้จริงอยู่แล้ว

แหล่งข่าวนักวิชาการ กล่าวว่า แนวคิดการรวมศูนย์ข้อมูลพยากรณ์เศรษฐกิจของกระทรวงการคลัง มีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยในส่วนของข้อดีคือ จะทำให้มีข้อมูลเพียงข้อมูลเดียวเพื่อทำให้เห็นถึงแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้เอกชนสามารถตัดสินใจลงทุน หรือเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มการขยายตัว ทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะขยายตัวในทิศทางนั้นๆ เพราะในปัจจุบันการที่มี 3 หน่วยงานของภาครัฐพยากรณ์เศรษฐกิจ ต่างมีฐานข้อมูลที่ต่างกัน ทำให้ตัวเลขที่ออกมามีความต่างกัน

อย่างไรก็ตาม ข้อเสียของการรวมศูนย์คือ ภาคเอกชนจะสามารถมั่นใจได้หรือไม่ว่า รัฐบาลจะไม่เข้ามาแทรกแซงในเรื่องของตัวเลขเศรษฐกิจ เพราะการรวมศูนย์จะทำให้มีข้อมูลเพียงข้อมูลเดียวที่ใช้ในการประกอบการตัดสินใจการลงทุนและถ้าหากข้อมูลเบี่ยงเบนไปในทิศทางที่รัฐบาลต้องการเห็น และต้องการชี้นำให้ภาคเอกชนเห็นว่าแนวโน้มเศรษฐกิจมีอัตราการขยายตัวที่สูงต่อเนื่อง เร่งขยายกำลังการผลิต การลงทุน โดยไม่มีข้อมูลของหน่วยงานอื่นมาช่างน้ำหนัก หรือประกอบในการพิจารณาลงทุน นั่นหมายความว่า อาจเป็นการตีฟองสบู่ให้เกิดขึ้น คล้ายกับในช่วงก่อนเกิดวิกฤตที่มีการขยายการลงทุนจนเกินตัว เนื่องจากการสร้างมายาภาพของรัฐบาล
นางสาวอุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ประเทศไทย กล่าวว่า ในปัจจุบัน 3 หน่วยงานที่ทำหน้าที่พยากรณ์เศรษฐกิจ ทำหน้าที่ของตัวเองได้ดีอยู่แล้ว และการคาดการณ์ของแต่ละหน่วยงานก็ขึ้นอยู่กับฐานข้อมูล หรือตัวเลขที่เก็บรวบรวมมาโดยตรงและการแถลงตัวเลขของแต่ละหน่วยงานในปัจจุบันถือว่ามีความรวดเร็วเมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤต

ขณะที่นางสาวถนอมศรี ฟองอรุณรุ่ง นักเศรษฐศาสตร์ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด กล่าวว่า เห็นด้วยกับการที่จะให้ 3 หน่วยงานคือ ธนาคารแห่งประเทศไทย สภาพัฒน์ และสศค. มีการหารือร่วมกันก่อนที่จะมีการประมาณการเศรษฐกิจ เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองของแต่ละหน่วยงานว่าภาพรวมที่แต่ละหน่วยงานเห็นมีข้อมูลอะไรบ้างที่น่าสนใจ ก่อนที่จะนำไปใช้เป็นฐานข้อมูลในการวิเคราะห์ของแต่ละสำนัก ก่อนประกาศตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจ และการที่มี 2-3 หน่วยงาน ทำหน้าที่คาดการณ์เศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องแปลกที่ข้อมูลอาจมีความแตกต่างกันบ้าง

"แม้ข้อมูลที่แต่ละหน่วยงานประกาศออกมามีความแตกต่างกัน แต่ทุกอย่างก็สามารถอธิบายได้ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลของธปท. หรือข้อมูลของกระทรวงการคลัง" นางสาวถนอมศรีกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของมุมมองภาคเอกชนที่นำข้อมูลไปใช้ในการพิจารณาตัดสินใจการลงทุนจะให้น้ำหนักกับข้อมูลตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ที่สภาพัฒน์เป็นผู้แถลงในรายไตรมาส เพราะเป็นข้อมูลที่มีความแม่นยำและสอดคล้องกับภาพรวมเศรษฐกิจที่แท้จริงมากกว่าที่จะมองตัวเลขการคาดการณ์ เพราะตัวเลขคาดการณ์เป็นเรี่องของมุมมองของแต่ละหน่วยงานที่มีฐานข้อมูลที่แตกต่างกัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.