บอร์ดขายตรงชุดใหม่พายเรือในอ่าง จวกรัฐยังสับสน เอกชนมึนหวั่นตลาดรวมพัง


ผู้จัดการรายวัน(3 ตุลาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

สมาคมอุตฯขายตรงไทยเผยการเลือกบอร์ดขายตรงชุดใหม่เป็นการชี้วัดขายตรงครั้งสำคัญ รวมถึงแนวทางของภาครัฐว่าให้ความสำคัญกับขายตรงพันธุ์ไทยหรือพันธุ์นอก ด้านนายกสมาคมฯระบุการที่ภาครัฐไม่มีความ ชัดเจนส่งผลต่อภาพรวมขายตรงที่มีความคลุมเครืออยู่ รวมถึงพ.ร.บ.ขายตรงที่ ยังไม่ได้รับการแก้ไข ด้านตัวแทนสมาคม TDSA ชี้ขายตรงควรสังกัดพาณิชย์เหมือน กรมการประกันภัย เผยหากภาครัฐมีความ ชัดเจนจะทำให้ภาพรวมขายตรงเดินได้ไม่สะดุด

นายประพันธ์ คูณมี ที่ปรึกษาสมาคม อุตสาหกรรมขายตรงไทย หรือ TDIA เปิด เผยถึงความคืบหน้าของการคัดเลือกคณะกรรมการขายตรงและตลาดแบบตรงชุดใหม่ว่า เรื่องดังกล่าวนี้ถือได้ว่าต้อง เริ่มต้นนับศูนย์ใหม่ เนื่องจากทางหน่วยงานภาครัฐนำโดยนายพินิจ จารุสมบัติ รองนายกรัฐมนตรีที่ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีได้มีการแก้ไขระเบียบและกฎเกณฑ์วิธีการเสนอชื่อผู้แทนสมาคมที่จะเป็นกรรมการขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2548 ใหม่ อาทิ สมาคมหรือมูลนิธิเสนอชื่อผู้แทนได้สมาคมหรือมูลนิธิ รวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 5 คน หรือการที่ สมาชิกหรือกรรมการขายตรงต้องเป็นผู้ที่มี ประสบการณ์และผลงานที่ดำเนินธุรกิจ ขายตรงหรือตลาดแบบตรงเป็นที่ประจักษ์ ไม่น้อยกว่า 3 ปีนับถึงวันที่ได้รับการเสนอ ชื่อเป็นผู้แทน

นายประพันธ์ กล่าวด้วยว่า วิธีการคัดเลือกคณะกรรมการฯถือเป็นหัวใจสำคัญ และเป็นเครื่องชี้ถึงแนวทางของภาครัฐว่าจะให้ความสำคัญต่อธุรกิจขายตรงสายพันธุ์ต่างประเทศหรือสายพันธุ์ไทย ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าสมาชิกของสายพันธุ์ต่างประเทศส่วนใหญ่จะอยู่ในสมาคมการขายตรงไทย (TDSA) อาทิ แอมเวย์ และ นูสกิน ฯลฯ ขณะที่ธุรกิจสายพันธุ์ไทยจะเป็นธุรกิจขายตรงของคนไทยและจะอยู่ในสมาคมอุตสาหกรรมขายตรงไทย (TDIA) อาทิ บริษัท โกลเด้น กรีนเนเจอร์ และบริษัท ไทยพับบลิค รีเลชั่นส์ เป็นต้น ซึ่งตามหลักเกณฑ์จะเห็นได้ว่ามีเพียง 2 สมาคมเท่านั้นที่มีสิทธิ์เสนอรายชื่อคณะกรรมการฯ โดยทางTDIAเสนอรายชื่อนาย ประพันธ์ คูณมีไป ขณะที่ TDSA เสนอชื่อนายคมศักดิ์ อำพันยุทธ์

ทั้งนี้ หากรัฐบาลต้องการส่งเสริมให้ธุรกิจขายตรงของคนไทยโกอินเตอร์เหมือนกับการที่รัฐส่งเสริมสินค้าโอทอป ตรงนี้ภาครัฐควรจะให้การสนับสนุนธุรกิจ ขายตรงที่เป็นของคนไทย แต่หากรัฐให้ธุรกิจสายพันธุ์นอกมาครอบงำ ก็คิดว่าอุตสาหกรรมไทยก็จะสิ้นหวังและไม่ได้เกิด อย่างไรก็ตาม การสรรหาบอร์ดชุดใหม่ยังไม่ได้ข้อยุติ บอร์ดชุดเดิมที่จะหมดวาระในวันที่ 24 ก.ย. 48 ก็ยังคงรักษาการ แทนอยู่จนกว่าจะได้คณะกรรมการฯชุดใหม่ ‘ ภาครัฐไม่ชัดเจนส่งผลลบต่อขายตรง นางสาวเบญจวรรณ สุขประพฤติ นายกสมาคมอุตสาหกรรมขายตรงไทย (TDIA) เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจขายตรง ในปัจจุบันยังมีความคลุมเครืออยู่ เนื่อง จากทางภาครัฐไม่มีความชัดเจน ดังนั้นการดำเนินงานอย่างอื่นก็ยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจนและกำหนดไม่ได้ ขณะที่ตัวเลขการดำเนินธุรกิจของขายตรงมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เพราะคนจะหาทางออกด้วยการทำธุรกิจขายตรงมากขึ้น โดยตัวเลขคนที่ทำธุรกิจขายตรงในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาพบว่ามีจำนวนกว่า 4 ล้านคน และมีมูลค่าตลาดรวม 35,200 ล้านบาท

ส่วนความคืบหน้าของเรื่องพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 ที่ทางสมาคมอุตสาหกรรมขายตรงไทยเดินหน้าเสนอแก้จำนวน 11 มาตรา ขณะนี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข และมองว่าหลายเรื่องยังมีความคลุมเครือ โดยในส่วน การทำงานของสคบ.และกระบวนการต่างๆยังไม่ชัดเจน

ด้านนายสมภพ กุลโชควณิช กรรมการฝ่ายพัฒนาของสมาคมฯ กล่าวว่า ธุรกิจขายตรงในไทยเกิดขึ้นมานานกว่า 30 ปีแล้ว ถึงแม้ว่าภาวะเศรษฐกิจของประเทศจะเป็นอย่างไรธุรกิจขายตรงก็ยังอยู่ได้และดำเนินได้ด้วยดี ซึ่งปัจจุบันแม้ภาวะเศรษฐกิจไม่ดีหรือน้ำมันจะมีราคา แพงก็ยังเชื่อว่าขายตรงยังอยู่ได้ เพราะคนจะหันมาประหยัดมากขึ้นและจะเดินทางน้อยลง ดังนั้น ธุรกิจขายตรงจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่เหมาะกับภาวะเศรษฐกิจ ‘ TDSA ชี้ขายตรงควรสังกัดพาณิชย์

นายอิทธิศักดิ์ อำพันยุทธ์ กรรมการ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สมาคมการขายตรงไทย (TDSA) เปิดเผยกับ "ผู้จัดการรายวัน" ถึงประเด็นที่ทางสคบ.จะเข้าไปอยู่ ในสังกัดกระทรวงยุติธรรมว่า ยังไม่มั่นใจ ว่าตรงนี้จะมีหลักการอย่างไร แต่มองว่าธุรกิจขายตรงควรจะอยู่ในสังกัดกระทรวงพาณิชย์เหมือนกรมการประกันภัย โดยเรื่องดังกล่าวต้องรอฟังความชัดเจนจากทางภาครัฐก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไร

ส่วนเรื่องความคืบหน้าการเสนอชื่อผู้แทนของทางสมาคมฯเพื่อนำไปคัดเลือก เป็นคณะกรรมการขายตรงและตลาดแบบตรงชุดใหม่ ทางสมาคมฯได้ส่งทุก อย่างตามขั้นตอนเป็นที่เรียบร้อยแล้วโดยในส่วนรายชื่อบอร์ดที่ส่งไป คือ นายคมศักดิ์ อำพันยุทธ์ ซึ่งทางภาครัฐจะดำเนินการอย่างไรทางสมาคมฯก็ต้องดำเนินตามอยู่แล้ว

"วันนี้ภาพรวมธุรกิจขายตรงยังเดินได้ตามกลไกของตลาด แต่หากผู้บริโภค ผู้ประกอบการ หรือผู้จำหน่ายอิสระได้รับความไม่โปร่งใสก็จะกลายเป็นประเด็นให้ถกต่อไปว่ากฎหมายขายตรงไทยจะปกป้องผู้ที่เกี่ยวข้องได้อย่างไร"

หากภาครัฐมีความชัดเจนมากกว่านี้ ในแง่การปกป้องผู้ประกอบการ ผู้จำหน่าย อิสระ และผู้บริโภคจะทำให้ธุรกิจขายตรงเดินไปได้อย่างไม่ติดขัด แต่จากการที่นโยบายของรัฐบาลในปัจจุบันที่ยังไม่ชัดเจนส่งผลให้บริษัทขายตรงใหม่ๆ แห่เปิดกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งตรงนี้ทำให้ภาพรวมขายตรงต้องสะดุดไปหากธุรกิจที่เปิดใหม่ไม่ได้มาตรฐานและต้องถูกปิดลง ซึ่งส่งผลต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งผู้บริโภคและผู้จำหน่ายอิสระหลายคนที่ทำธุรกิจนี้อย่างถูกต้อง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.