"mai Executive Award 2005" คิดใหม่-ทางใหม่-เลือดใหม่-ตลาด mai


ผู้จัดการรายสัปดาห์(30 กันยายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

- แลลอด 10 โมเดลการบริหารจัดการของนักธุรกิจรุ่นใหม่กับรางวัล "TOP TEN mai Exective Award 2005"
- ความสามารถบนวิถีทางแห่งความโปร่งใส ใหม่สดและสอดรับกับโลกยุคบรอดแบนด์
- ผลักแนวคิดบริหารคนและองค์กร ของเหล่าบรรดาเลือดใหม่ไฟแรง : ฟาร์มโชคชัย-ดวงฤทธิ์ บุนนาค-อมรินทร์ พรินติ้ง-สหมงคลฟิล์ม-แมทชิ่ง-บ้านใร่กาแฟ-เมืองไทยประกันชีวิต...
- อะไรคือแก่นสารความคิด และทางเลือกแห่งความสำเร็จ ที่สะท้อนบริบทตลาด mai?

แลลอด 10 โมเดลการบริหารจัดการของนักธุรกิจรุ่นใหม่ ในสังคมใหม่ๆ ของการทำงานที่อยู่บนพื้นฐานการเรียนรู้ บ่มเพาะความสามารถในกรอบวิถีแห่งความโปร่งใส

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าภาพลักษณ์ใหม่สดของ 10 ผู้บริหารคนรุ่นใหม่เหล่านี้ คือสีสันที่สะท้อนบทบาทของตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ (mai) อย่างชัดเจน

ในฐานะศูนย์กลางของคนรุ่นใหม่ และเป็นส่วนหนึ่งของตลาดทุนไทย โดยตลาด mai ก่อตั้งขึ้นภายใต้พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อเป็นตลาดทางเลือกในการระดมทุนของธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโต และเป็นตลาดที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อการร่วมลงทุนระหว่างผู้ประกอบการ และนักลงทุนที่มุ่งหวังจะได้รับประโยชน์ร่วมกันจากการเติบโตของธุรกิจจากเล็กไปใหญ่

ปาร์ตี้แห่งความสำเร็จในค่ำคืนแห่ง buzi G party ปลายเดือนก.ย. ผ่านพ้นไปแล้ว แต่เมล็ดพันธุ์ความคิดที่นิตยสาร Positioning และตลาด mai ร่วมกันเพาะ 10 นักธุรกิจรุ่นใหม่กับ 10 รางวัล "TOP TEN mai Exective Award 2005" ล้วนแล้วแต่คือ "ต้นกล้า" ที่ช่วยกันพัฒนาองค์กรและสังคมไทยให้เติบโตอย่างมีทิศทางและไม่ไร้สติ

ฟาร์มโชคชัย : ดีที่สุดเท่าที่ทำได้

โชค บูลกุล กรรมการผู้จัดการบริษัทกลุ่ม บริษัท กลุ่มบริษัทฟาร์มโชคชัย บอกเล่าวิธีคิดที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้ สิ่งที่สำคัญคือเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ ต้องคิดแบบเด็กแล้วทำให้ได้แบบผู้ใหญ่ ไม่ใช่คิดแบบผู้ใหญ่แล้วลงมือทำอะไรแบบเด็กๆ ในขณะที่ใครๆ ชอบพูดกัน ถึงแนวคิดนอกกรอบ ถ้ามัวแต่คิดแล้วปฏิบัติไม่ได้ก็จบลงแค่ความเป็นศิลปิน แต่ผู้ชายคนนี้คิดแล้วลงมือทำ ก่อให้เกิดเป็นเชิงพาณิชย์จริงๆ แต่ไม่ใช่พาณิชย์แล้วต้องตีกรอบเป้าหมายว่าต้องใหญ่สุด

"ขอให้ทำธุรกิจดีที่สุด หรือดีที่สุดเท่าที่ทำได้ นั่นแหละคือเป้าหมาย ไม่ต่างอะไรกับคอมพิวเตอร์แอปเปิ้ล มีแชร์นิดเดียว สู้พีซีก็ไม่ได้ แต่เจ้าของเขาทำแล้วสนุก ไม่ใช่ต้องเป็นบิล เกตส์ แล้วมีคนไม่ชอบขี้หน้า เพราะผูกขาดธุรกิจ"

ดวงฤทธิ์ : ทำในสิ่งที่เชื่อ

ดวงฤทธิ์ บุนนาค กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดวงฤทธิ์ บุนนาค จำกัด ให้นิยามความคิดตัวเองว่า ต้องทำในสิ่งที่เชื่อ เชื่อในความจริง และเชื่อในความคิด การออกแบบสถาปัตยกรรมควรมีช่วงเวลาของมัน ในยุคสมัยที่เราดำรงอยู่ ผู้ชายคนนี้ชอบตั้งคำถามถึงการออกแบบว่า ทำไมรีสอร์ทต้องมีหน้าตาค่อนไปทางบาหลี หรือไม่ก็ติดรูปแบบไทยแท้ทุกอัน เมื่อไม่คำตอบก็ต้องลองทำอะไรตามความเชื่อของตัวเองคือ คงความเป็นปัจจุบัน มีความสมดุลระหว่างสถาปัตย์กับความอ่อนโยนของธรรมชาติ

ดวงฤทธิ์ให้ความเคารพต่อข้อจำกัดทั้งภายในและภายนอกอาคาร เขามองว่าถ้าทำได้สมดุลลงตัวก็จะทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ไม่ใช่มุ่งรับใช้เพียงด้านใดด้านหนึ่ง ความคิดสร้างสรรค์ของเขาก่อตัวง่ายมาก และย้ำว่าไม่เกี่ยวกับ magic หรือ talent แต่เป็นสมองที่ทำหน้าที่ในการคิด และลงทุนยัด data เข้าสู่สมองให้มากพอ เพื่อจะได้คิดอะไรบางอย่างได้ออกเสมอ

อมรินทร์ : ซื่อสัตย์-ไม่โลภ

ระริน อุทกะพันธุ์ กรรมการผู้จัดการสายธุรกิจสำนักพิมพ์ บริษัท อมรินทร์ พรินติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด ผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่ไม่เคยมองว่าธุรกิจสิ่งพิมพ์ที่เก็บเกี่ยวกำไรไม่ค่อยได้คือ ภาระของรุ่นที่ 2 อย่างเธอ ตรงกันข้ามนี่คือสมบัติมูลค่ามหาศาลที่ยังประโยชน์ให้ผู้คนล้นหลาม

เธอไม่ต่างอะไรกับลูกเถ้าแก่คนอื่นๆ ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าจะต้องถูกจับตามองจากสายตาคนอื่น นอกจากแรงกดทับให้ทำงานหนักแล้ว เธอคนนี้ยังมุ่งมั่นในการทำทุกหน้าที่ให้ดีที่สุด โดยไม่แคร์ว่าใครจะมองอย่างไร "เมื่อมั่นใจว่าเราทำดีที่สุดแล้ว และทำเพื่อองค์กร แล้วจะมานั่งกลุ้มใจทำไม"

จุดเด่นของเลือดใหม่ไฟแรงคนนี้คือความเสียสละ ที่ทำให้ตัวตนของเธอสะท้อนผ่านตัวละครหลายตัวในหนังสือ อย่าง "โฟรโด" ใน Lord of the rings คนธรรมดาที่มีความกลัว แต่ถ้าไม่ทำภารกิจสำคัญนี้ แล้วใครจะทำกันล่ะ? สุดท้ายก็ต้องเพียรพยายามทำให้สำเร็จ

"พ่อสอนไว้เลยว่า ทำธุรกิจต้องมีความเพียรในทางที่ชอบเป็นที่ตั้ง รวมทั้งต้องซื่อสัตย์ และไม่โลภ" คำสอนนี้กลายเป็นจุดยืนในการบริหารจัดการของเธอ และแรงใจที่ทำให้เธอทุ่มเทไม่มีวันหมดคือคำขอบคุณจากคนอ่าน ที่บอกจากใจว่าหนังสือทำให้ชีวิตพวกเขาดีขึ้น

สหมงคล : พ่อคือพี่เลี้ยงมือโปร

ชมศจี เตชะรัตนประเสริฐ ผู้จัดการโปรแกรมภาพยนตร์ สหมงคลฟิล์ม เครือสหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล ลูกสาวคนสุดท้องที่ short cut key การบริหารธุรกิจผ่านประสบการณ์ผู้เป็นพ่อ การเรียนรู้และเติบโตในสายหนัง เธอบอกว่า ความสามารถที่สั่งสมล้วนกลั่นจากประสบการณ์เพียวๆ ไม่มีตำรา MBA ที่ไหนมากางสอน ผิดเป็นครู การเรียนรู้ทำให้เธอแยกได้ว่าอะไรใช่และอะไรไม่ใช่ ผ่านประสบการณ์ดีๆ ที่นำไปสู่การแก้ปัญหา ที่สำคัญต้องมี back up ที่ดี และพี่เลี้ยงคนสำคัญก็คือพ่อ

"ประสบการณ์ไม่ได้มาง่ายๆ ต้องรักษาเอาไว้ให้นานที่สุด คุณพ่อเป็นผู้ใหญ่ที่มีมุมมองที่แตกต่างอยู่เสมอ และหลายๆ มุมมองก็มาจากประสบการณ์ของท่าน ปกติเวลาทำงานคุณพ่อจะลองให้เราทำก่อนและเปิดกว้าง แค่บอกว่าเราทำอันนี้นะ ท่านก็ให้เราลองไปเดินเอง ไปตัดสินใจเอง ลองถูกเองลองผิดเอง พอหลังจากที่เราผ่านจุดในเรื่องของการถูกต้องหรือผิดแล้ว เราก็จะรู้ว่าอะไรมันคือสิ่งที่ถูก"

แมทชิ่ง : กล้าพูดกล้าฝัน

สมชาย ชีวสุทธานนท์ กรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท แม็ทชิ่ง สตูดิโอ จำกัด (มหาชน) นักสร้างมาตรฐานทางความคิด กับความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่ไม่เคยมีจุดสิ้นสุด เพื่อฉีก แปลก และแหวกให้ได้จากความจำเจ

วิสัยทัศน์ของตี๋ สมชาย คือการบอกปากเปล่าแบบโต้งๆ ไม่ต้องรีรอให้ใส่กรอบทองแล้วติดข้างฝา "ผมอยากเป็นบิล เกตส์ ผมกล้าพูด กล้าฝัน ทำไมล่ะ? ผมอยากทำงานกับ สปีลเบิร์ก หรือ ทอม ครุยส์ ผมกล้าฝันและสานฝันของผม" ตี๋สานความคิดองค์กรแมทชิ่งทำให้เหมือนเป็นทีมฟุตบอลแมนยู คืออยู่ได้เป็นร้อยปี แล้วคนก็ยังเชื่อมือ ต่อไปถึงจะไม่มีตี๋ งานดีๆ ก็ยังถูกผลักออกมาได้เพราะความเชื่อมั่นในองค์กร บางมุมมองความคิดของผู้บริหาร ตี๋บอกว่า ไม่มีทางที่ผู้บริหารจะเก่งไปหมดทุกอย่าง ซีอีโอที่เก่งคือคนที่สามารถเอาคนดีๆ มาช่วยงานทุกอย่างได้ และไม่ใช่เก่งแค่วางแผน

บ้านใร่กาแฟ : ความดีวัดผลงาน

สายชล เพยาว์น้อย ประธานบริหาร บริษัท ออกแบบใร่นา (ประเทศไทย) จำกัด ส่งผ่านความสำเร็จของธุรกิจผ่านความเชื่อเรื่องคน และความเชื่อที่เป็นบวกเท่านั้นที่สร้างโลกได้

บ้านใร่ให้ความสำคัญกับจิตใจคนเป็นปรัชญาการทำงาน และแข็งแรงอยู่ได้เพราะวัฒนธรรม โดยเอาระบบสังคมเข้ามา เอาสิ่งสวยงามมาเติมเต็ม ดึงความเป็นไทยมาสอดใส่อย่างเช่น การให้เกียรติ การเอื้ออาทร และระบบความดีเป็นตัวผลงาน สิ่งที่สายชลทำ คือความเพียรพยายามให้สากลยอมรับในแบรนด์ไทย แนวคิดเชิงธุรกิจแบบไทย การมองคนเป็นหัวใจองค์กร ดูแลจิตใจคน และสร้างความสมดุลระหว่างคุณค่าเชิงธุรกิจและสังคม

"ผมโตในยุคที่ฝรั่งเหนือกว่าไทย แต่ผมเชื่อว่าไทยเหนือกว่าในความเป็นไทยของเรา ผมพยายามพิสูจน์ให้เห็นว่าชื่อไทย สินค้าไทย แนวคิดแบบไทยก็ประสบความสำเร็จได้"

เมืองไทยประกัน : รับฟังสำคัญ

สาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด generation ที่ 3 เข้ามารับช่วงกิจการในช่วงรอยต่อของการปรับโครงสร้างองค์กร และปูพรมแนวคิด "บริษัทสำหรับคนหัวคิดทันสมัย" ความอินเทรนด์ของสาระ ทำให้บริษัทเดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคงแข็งแรง แต่ไม่ใช่เต็มไปด้วยสาระเพียงอย่างเดียว ต้องเบรกด้วยความไร้สาระที่เป็นเรื่องเบาๆ บ้าง เพื่อสร้างความสนุกสนาน สดใสให้กับทุกเช้าวันใหม่

เขา blend เอาข้อดีของคนเก่า มาใช้ร่วมกับความเป็นคนใหม่ เพื่อผลักการเปลี่ยนแปลงให้เคลื่อนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว แต่สิ่งสำคัญก็ต้องคอยดูด้วยว่า คนข้างหลังเดินตามทันด้วยหรือไม่?เพราะเมืองไทยเป็นธุรกิจของตระกูลที่มีผู้ถือหุ้นภายนอกมาก การรับฟังผู้อื่นจึงถือเป็นเรื่องสำคัญ

เครือทีซีซี : อาชาฝีเท้ากล้า

ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการบริหาร บริษัท ไทยเบฟเวอร์เรจส์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ลูกชายคนโต ลำดับที่ 3 จาก 5 คนของเจ้าสัวเจริญ การเปิดตัวเขาในห้วงเวลาเดียวกับการวางตลาดเบียร์อาชาในปีที่ผ่านมา คงไม่ผิดเลยถ้าจะบอกว่า young blood ฝีเท้ากล้าคนนี้ มีฝีมือจัดจ้านในระดับดีกรีนุ่มละมุนของเบียร์แอลกอฮอล์ 5.4% ที่สามารถทำให้ตลาดสุราและเบียร์หลายหมื่นล้านแตกฟองกระจายไปไกลกว่าที่นักการตลาดหลายคนจะคาดคิด

Inspire : ชีวิตไม่หยุดนิ่ง

วิลักษณ์ โหลทอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินสไปร์ เอนเตอร์เทนเมนต์ จำกัด เป็นทายาทของ "ระวิ โหลทอง" กลุ่มสยามสปอร์ต วิลักษณ์นั่งประจำการศูนย์หน้าในหลายตำแหน่งของธุรกิจในและนอกเครือ ชีวิตวัยมันกับเกมกีฬามันมันทำให้ผู้ชายคนนี้ kick off ไม่เคยหยุดนิ่ง และจัดเป็นหนุ่มไฟแรงในแวดวง media และ entertainment

บัณฑิตเซ็นเตอร์ : จงทำไม่ใช่แค่คิด

ปรเมศวร์ มินศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บัณฑิต เซ็นเตอร์ จำกัด ตำนานความสำเร็จข้ามคืนของเว็บรวมลิงค์ Sanook.com มูลค่าหลายสิบล้านบาทในยุคก้าวแรกของดอทคอม ทุกวันนี้เขาเดินไปเดินมาอยู่ในแวดวงการศึกษาและโลกแห่งการเรียนรู้ ในสังคม kapook.com ที่ครองอันดับความนิยม 1, 2 ผลัดกับ Sanook ทุกลมหายใจของปรเมศวร์คือไซเบอร์ และแนวทางบริหารธุรกิจที่ต้องคิดให้ไวและทำให้ไวกว่า hi speed internet "ทุกอย่างไม่ใช่แค่คิด แต่ต้องลงมือทำและก้าวเดินไป"

ทั้งหมดนี้คือ 10 โมเดลการบริหารจัดการของนักธุรกิจรุ่นใหม่ ในสังคมใหม่ๆ ของการทำงานที่อยู่บนพื้นฐานการเรียนรู้ บ่มเพาะความสามารถในกรอบวิถีแห่งความโปร่งใส

"TOP TEN mai Exective Award 2005" คิดใหม่-ทางใหม่-เลือดใหม่ของตลาด mai สีสันที่สะท้อนภาพลักษณ์และบทบาทของตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ (mai) ณ วันนี้ อย่างชัดเจน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.