เปิดกรณีศึกษา บทเรียนราคาแพง ‘แฟรนไชส์ไทย go inter’


ผู้จัดการรายสัปดาห์(30 กันยายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

‘ตลาดต่างประเทศ’ เป็นคำหอมหวนในวงการธุรกิจแฟรนไชส์ จะด้วยปัจจัยจำนวนประชากร การรับรู้และเข้าใจธุรกิจแฟรนไชส์อย่างถ่องแท้ง่ายต่อการทำธุรกิจร่วมด้วยก็ตามแต่

ที่ผ่านมาจะเห็นว่าธุรกิจแฟรนไชส์ไทย go inter กันแล้วหลายรายแต่ยังกระจุกตัวในธุรกิจประเภทร้านอาหาร ธุรกิจบริการอย่างสปา ขณะเดียวภาพที่ปรากฏมีทั้งที่ประสบความสำเร็จและบาดเจ็บกลับมา

“ผู้จัดการรายสัปดาห์” ฉบับนี้นำกรณีศึกษากลุ่มธุรกิจที่ทำตลาดต่างประเทศทั้งที่สำเร็จและล้มเหลวด้วยปัจจัยต่างๆ ที่เป็นองค์ประกอบในการทำธุรกิจ เพื่อเป็นข้อมูลในระดับหนึ่งสำหรับผู้ที่อยู่ระหว่างการตัดสินใจลุยตลาดต่างประเทศ

แบล็คแคนยอน ธุรกิจร้านกาแฟควบคู่กับการให้บริการอาหารปรุงสด 6 ปีกับการไปทำตลาดต่างประเทศของ ถือเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษา ด้านความสำเร็จ จากสาขาแรกที่สิงคโปร์จนถึงปัจจุบันสามารถขยายสาขาในมาเลเซียได้ 3 สาขา บาหลี 2 สาขา พม่า 1 สาขาและจะเปิดที่มันดาเลย์อีก 1 สาขา และดูไบอีก 5 สาขา น่าจะเป็นเครื่องพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีถึงความพร้อมของ แบล็คแคนยอนได้เป็นอย่างดี

กรรณิการ์ ชินประสิทธิ์ชัย ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท แบล็คแคนยอน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ควรเตรียมพร้อมในเรื่องขององค์กรและความเป็นคู่ค้าที่ดีจะต้องมีความสามารถในการบริหารจัดการที่เป็นมาตรฐานสากล กรณีแบล็คแคนยอนจะทำเป็นคู่มือภาษาอังกฤษทั้งหมด

นอกจากนี้ ความพร้อมของทีมงานสำหรับพัฒนาเมนูอาหารและการทำอาร์แอนดี ส่วนเรื่องกฎหมายก็ต้องมีการจัดลิขสิทธิ์ตัวแบรนด์ตัวโลโก้ เนื่องจากเป็นสิ่งสำคัญที่ควรจะทำเพื่อป้องกัน และหลังจากที่มีการศึกษาข้อมูลต่างๆ แล้วจะต้องลงมือปฏิบัติด้วยมิใช่ขายแฟรนไชส์ไปก่อนแล้วค่อยทำที่หลัง

สำหรับการไปขยายสาขาในต่างประเทศของอาหารไทยนั้นตนมองว่ายังมีโอกาสที่จะเปิดได้อีกมากเนื่องจากยังไม่ถึงจุดอิ่มตัว และการไปลงทุนในตลาดต่างประเทศของนักธุรกิจไทยก็ยังเป็นที่สนใจ

กรรณิการ์ ยกตัวอย่างการพิจารณาแฟรนไชซีของแบล็คแคนยอนในสาขาต่างประเทศว่า 1.ความพร้อมของเงินทุน ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท 2.ความสามารถในการบริหารจัดการและทีมงานของผู้ลงทุน 3.ความสามารถในการบริการจัดการครอบคลุมตั้งแต่การบริหารจัดการร้าน การตลาด การส่งเสริม การขาย การโฆษณา และการประชาสัมพันธ์ และ 4.เรื่องของโลเกชั่น

“ด้านข้อกฎหมายในการขยายสาขาไปต่างประเทศมองว่ามิใช่อุปสรรค และการเลือกแฟรนไชซีที่เป็นคนประเทศนั้นๆ ถือเป็นจุดดี เพราะเขาจะรู้ข้อกำหนดของประเทศเขาดีกว่า แต่อุปสรรคจริงๆ คือการคัดเลือกแฟรนไชซีที่เหมาะสมและมีความพร้อมซึ่งเป็นจุดหลักที่ทำให้บริษัทต้องใช้เวลาในการคัดเลือกให้เหมาะสม และต้องให้รายละเอียดกับเรื่องนี้มาก” กรรณิการ์กล่าว

ขณะเดียวกันยังอาศัยองค์ประกอบอื่นๆ คือมีโปรดักซ์ที่น่าสนใจนั้นคือมีกาแฟที่ได้รสชาติมาตรฐานสากลและมีอาหารที่มีหลากหลายเมนูทั้งอาหารไทยจานเดียวและอาหารต่างชาติ มีการบริหารจัดการร่วมกับแฟรนไชซีที่ต่างประเทศเพื่อศึกษาถึงวัฒนธรรม สังคม และเศรษฐกิจของประเทศ เช่น ประเทศที่ไม่ทานหมู จะมีการปรับเปลี่ยนเมนูให้เหมาะกับแต่ละประเทศ

ขณะที่ตลาดในจีน ที่มีการพูดถึงอย่างมากในส่วนของนักลงทุนไทยนั้น บริษัทเล็งไว้เช่นกัน เพราะเห็นโอกาสเนื่องจากประชากรของจำนวนมากและกำลังซื้อก็มีมากด้วย เพียงแต่ต้องมองหาโลเกชั่นที่ดีที่สามารถทำให้บริษัทสามารถสร้างแบรนด์ให้ได้รับความนิยมได้แต่เนื่องจากจีนมีข้อกำหนดว่าถ้าจะขายแฟรนไชส์ในจีนได้ต้องมีสาขาของตัวเองหรือร้านตัวอย่างก่อนซึ่งตรงนี้บริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณา ส่วนปัญหาเรื่องความไม่ซื่อสัตย์ของคู่ค้านั้นในการทำธุรกิจตนมองว่าเป็นเฉพาะบางคนมากกว่า หรืออย่างเรื่องกฎหมายก็เป็นปัญหามากซึ่งถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ

ด้าน ‘นีโอสุกี้’ ธุรกิจสุกี้ที่มีประสบการณ์จากการขยายสาขาไปยังต่างประเทศในลักษณะร่วมทุน และแฟรนไชส์กับทุนท้องถิ่น ในประเทศอินโดนีเซีย 4 แห่ง และกัมพูชาอีก 2 แห่ง ประสบการณ์ดังกล่าวทำให้ ‘สกนธ์ กัปปิยจรรยา’ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นีโอ สุกี้ ไทย เรสเตอร์รองส์ จำกัด มั่นใจกับการขยายสาขาไปยังประเทศอื่นต่อไป ประกอบกับขณะนั้นสาขาในประเทศต้องทยอยกิจการลงคงไว้เพียง 1 สาขาที่เซ็นเตอร์เท่านั้น

จีน เป็นประเทศที่เขายอมรับว่าเป็นประเทศใฝ่ฝัน ด้วยจำนวนประประชากรกว่า 1,000 ล้านคนและพฤติกรรมการจับจ่ายของผู้ประเทศ ทำให้เขาเริ่มหาคู่ค้าในจีน และลงทุนในสัดส่วน 60/40 เป็นลักษณะภัตคารสุกี้ในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ในจีน เพื่อหวังเป็นร้านต้นแบบเพื่อขยายสาขาในรูปแบบแฟรนไชส์ต่อไป

สกนธ์ เพิ่งขยายธุรกิจเข้าจีนเมื่อกลางปี 2548 ที่ผ่านมา ประสบการณ์เพียงระยะสั้นนี้ กับเป็นอุทาหรณ์ให้วันนี้เขาต้องพิจารณาการลงทุนให้มาก และบอกเล่าถึงสิ่งที่เขาพบเจอจากการเชข้าไปทำธุรกิจใน

เหมือนลิงกำเม็ดถั่วในมะพร้าวไม่ยอมปล่อย ‘สกนต์’ เปรียบเทียบให้เห็นภาพของนีโอสุกี้ที่เข้าไปลงทุนในจีน อยากเข้าไปลงทุน เพราะมองเห็นตลาด 1,000 กว่าล้านคนอยู่ตรงหน้า ขณะเดียวกันคู้ค้าในจีนก็สร้างความเชื่อมั่นให้เต็มที่

แต่ ณ วันนี้ภาพฝันกลับไม่เป็นจริง เขาต้องเจอปัญหาอุปสรรค ทุกวันนี้นีโอสุกี้ในจีนยังคาราคาซังในเรื่องขอการจดทะเบียนธุรกิจและปล่อยให้อยู่ภายใต้การดูแลของหุ้นส่วน และคงธุรกิจในจีนไว้เพียงเท่านี้

สกนต์ กล่าวว่า การเข้าไปลงทุนในจีนค่อนข้างมีปัญหา ที่แรกดีมากเชื้อเชิญปูพรมรับรองอย่างดี บอกว่าไม่มีปัญหาจัดการให้ได้หมดทุกอย่าง แต่มาเจอปัญหาว่าอะไรที่สัญญาไว้ไม่ได้หรือไม่เป็นไปตามนั้น กรณีที่นีโอสุกี้เจอคือปัญหาของคู่ค้า พันธมิตร ด้วยความสนิทและเชื่อใจ

โดยสัดส่วนการลงทุน คู่ค้าในจีน 40% นีโอสุกี้ 60% โดยดูแลด้านเพื่อใช้จ่ายในการจัดการ ดูแลการเงิน การบริหารภายในร้าน พอทำไประยะหนึ่งคู่ค้าแจ้งว่าตามกฎหมายเงินที่เป็นรายได้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของคนจีนก็คือให้คนของเขาเข้ามาดูแลเรื่องการเงิน การเสียภาษี

และยังเจอปัญหาแรงงาน เพราะช่วงที่เข้าไปขั้นตอนการขอใบอนุญาติยังไม่แล้วเสร็จ ทำให้มีปัญหาด้านการจ้างงานตามมา ซึ่งขั้นตอนการขอใบอนุญาติยุ่งยากมากเพราะแต่ละหน่วยงานไม่ว่าจะเรื่องแรงงาน สาธารณสุขแยกจากกัน

แต่พอมาถึงขั้นตอนที่ต้องจดทะเบียนบริษัท สัดส่วนที่ว่า 40/60 นั้น คู่ค้าทางจีนกลับบอกว่ามีปัญหา ให้นีโอสุกี้โอนเงินเพิ่มอีก 1 ล้านเหรียญจีนแล้วถึงค่อยได้จดทะเบียนบริษัทตามกฎหมาย ทั้งที่ก่อนหน้านี้ได้โอนไปจำนวนหนึ่งเพื่อตกแต่งร้าน ซื้อของ พอจะจดทะเบียนบริษัทกลับไม่ใช่ยังต้องโอนเงินให้ก่อน เริ่มคิดหนัก เพราะเป็นการจ่ายที่ไม่พร้อมกันไม่รู้คู่ค้าจะจ่ายส่วนของเขาหรือไม่และเขาเข้ามาคุ้มเงินแล้วโดยอ้างขอกฎหมาย

ทุกวันนี้การจดทะเบียนการยังคาราคาซังอยู่ ธุรกิจก็ดำเนินไปเท่าที่ได้ แต่ถ้าดูจากการตลาดก็มีข้อผิดพลาดตรงแม้ทำเลที่ตั้งจะตั้งอยู่ในห้างสรรพสินที่ใหญ่ในจีน แต่กลุ่มลูกค้าจะเป็นชาวต่างชาติ นักธุรกิจ ขณะที่คนในประเทศค่าครองชีพไม่สูงมาก และสินค้าคู่แข่งใกล้เคียงอย่างก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ ก็ขายในราคาไม่แพงและให้ในปริมาณที่มากจึงเป็นทางเลือกให้เขาอย่างดี

“เราเหมือนลิงกำเม็ดถั่วในมะพร้าวไม่ยอมปล่อย อยากจะได้ ดูดี อยากขยาย คู่ค้าก็สร้างความเชื่อมั่นเชื่อใจให้เราเต็มที่ ความอยากไปลงทุนที่จีน กฎหมายตัวหนึ่งบอกว่าจะไปลงทุนที่จีนรูปแบบแฟรนไชส์ต้องมีพาร์ทเนอร์ ร่วมทุนกับจีนถึงลงทุนได้ อยู่ๆ ไปขายแฟรนไชส์ไม่ได้ เล็งเห็นศักยภาพ การลงทุน ถ้าได้มันดี แต่ปัญหาของนักธุรกิจจะออกหัวออกก้อยก็ต้องประเทศเขา ก็เป็นเรื่องของธุรกิจทั่วไป ที่มองความน่าจะเป็น เอาเข้าจริงไม่ศึกษาให้ถ่องแท้ในข้อกฎหมาย พฤติกรรมคน ซึ่งสำคัญมาก แรกๆ รู้สึกตอนรับเราดี แต่สักพักรู้สึกหวาดกลัว เหมือนเราเป็นคนต่างด้าว คือทะเบียนเราไม่พร้อม ผมว่าร้านอาหารไทยในจีนไม่มี เพราะคนไม่กล้าลงทุน เจ็บตัวหลายรายก็เป็นอุทาหรณ์ให้คนที่จะไปลงทุนในจีน” สกนต์กล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.