TAX KNOWLEDGE : 8 ข้อที่ต้องจารึกใน 'ใบกำกับภาษีฯ'

โดย สมเดช โรจน์คุรีเสถียร
ผู้จัดการรายสัปดาห์(30 กันยายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ปัจจัยสี่ของการดำรงชีวิตในยุคนี้คงไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพในภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน ที่ต้องมีการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ น้ำมันกลายเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แทบจะเป็นปัจจัยที่ห้าของการดำรงชีวิตในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้

ประเทศไทยเราไม่มีแหล่งน้ำมันเพียงพอในเชิงพาณิชย์จึงต้องอาศัยแหล่งน้ำมันจากต่างประเทศที่ต้องนำเข้าทำให้ประเทศไทยต้องจ่ายเงินซื้อน้ำมันเป็นจำนวนเงินมหาศาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาน้ำมันที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ไม่มีทีท่าว่าจะลดลงได้เลย ยิ่งเข้าหน้าหนาวปลายปีก็ยิ่งมีราคาสูงขึ้นเนื่องจากความต้องการในการใช้น้ำมันจะสูงขึ้นในช่วงดังกล่าว

ประเทศไทยเราคงต้องต่อสู้กับราคาน้ำมันอีกยาวนานที่ได้แต่ภาวนาให้ราคาลดลง หรือมีราคาที่เหมาะสมที่ยอมรับได้ อย่างไรก็ดีไม่ว่าน้ำมันจะขึ้นหรือลงคนไทยก็คงหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่ต้องจ่ายตามความจำเป็นในการใช้น้ำมันของแต่ละคน

ผู้ประกอบการที่ประกอบธุรกิจในรูปของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต้องมีการติดต่อธุรกิจกับลูกค้าอยู่เป็นประจำต้องมีการยานพาหนะที่ใช้ในการติดต่อทำธุรกิจกับลูกค้าในแต่ละวันก็คงหลีกเลี่ยงไม่พ้นจะต้องมีการใช้น้ำมันในการเติมรถยนต์ในการติดต่อธุรกิจ

รถยนต์ที่ใช้ในการติดต่อธุรกิจแยกออกเป็น 2 ชนิดตามประมวลรัษฎากร คือ

1. รถยนต์นั่ง หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน เช่น รถเก๋ง รถแวน รถกระบะดัดแปลงเป็นรถยนต์นั่ง รถตู้ที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน

2. รถยนต์นอกจาก 1. เช่น รถกระบะ รถบรรทุก รถตู้ที่มีที่นั่งเกิน 10 คน

เมื่อผู้ประกอบการจ่ายค่าน้ำมันรถยนต์จะได้รับหลักฐานเป็นใบกำกับภาษีเต็มรูปหรือใบกำกับภาษีอย่างย่อ หากค่าน้ำมันรถยนต์ดังกล่าวเป็นการใช้กับรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งเกิน 10 คนใบกำกับภาษีที่ได้รับไม่ว่าจะเป็นใบกำกับภาษีเต็มรูปหรือใบกำกับภาษีอย่างย่อภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีซื้อที่เกิดขึ้นไม่มีสิทธิขอคืนหรือนำไปหักออกจากภาษีขาย

แต่นำไปถือเป็นค่าใช้จ่ายรวมค่าน้ำมันได้ แต่หากค่าน้ำมันรถยนต์ ดังกล่าวใช้กับรถยนต์ประเภทอื่นที่ไม่ใช่ข้อ 1. ภาษีซื้อค่าน้ำมันผู้ประกอบการมีสิทธินำไปขอคืนหรือนำไปหักออกจากภาษีขายได้ไม่ต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร

สิ่งที่ต้องระมัดระวังก็คือจะขอภาษีซื้อคืนได้ต้องขอใบกำกับภาษีจากปั๊มน้ำมันเป็นใบกำกับภาษีเต็มรูปเท่านั้นและจะต้องระบุเลขทะเบียนรถยนต์ไว้บนใบกำกับภาษี โดยเลขทะเบียนรถยนต์ดังกล่าวจะกระทำด้วยลายมือ ตรายาง หรือพิมพ์ดีดก็ได้

ปัญหาอย่างหนึ่งของ "ใบกำกับภาษีค่าน้ำมันรถยนต์" เมื่อพนักงานของกิจการนำรถยนต์ของกิจการไปเติมน้ำมันรถยนต์จะต้องมีการขอหลักฐานการจ่ายเงินซึ่งทางปั๊มน้ำมันจะออกหลักฐานให้เป็น "บิลเงินสด/ใบกำกับภาษีอย่างย่อ" ซึ่งไม่ได้มีการระบุไว้บนใบกำกับภาษีว่า ใครเป็นผู้จ่ายเงิน และหากมีการระบุก็มักจะมีการระบุว่า "สด" หรือ "เงินสด" ทำให้หลักฐานการจ่ายเงินหรือบิลค่าน้ำมันดังกล่าวไม่สามารถระบุได้ว่า ใครเป็นผู้จ่าย ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ตรี (9) กำหนดเงื่อนไขของรายจ่ายต้องห้ามในการนำไปคำนวณกำไรสุทธิไว้ดังนี้

"มาตรา 65 ตรี (9) รายจ่ายซึ่งกำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริง หรือรายจ่ายซึ่งควรจะได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีอื่น เว้นแต่ในกรณีที่ไม่สามารถจะลงจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีใดก็อาจลงจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่ถัดไปได้"

ดังนั้นหาก "บิลน้ำมัน" ไม่สามารถระบุได้ว่าใครเป็นผู้จ่ายเงินจะถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามในการนำไปคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี (9) รายจ่ายซึ่งกำหนดขึ้นเองโดยไม่ได้จ่ายจริง พนักงานของกิจการที่มีหน้าที่นำรถยนต์ไปใช้และจ่ายค่าน้ำมันรถยนต์จะต้องให้ปั๊มน้ำมันออกใบกำกับภาษีเต็มรูปให้เพื่อที่จะระบุชื่อผู้ซื้อหรือผู้จ่ายเงินเป็น "ชื่อของกิจการพร้อมที่อยู่" และเมื่อได้รับบิลเงินสดและใบกำกับภาษีเต็มรูปจากค่าน้ำมันรถยนต์ผู้จ่ายเงินหรือพนักงานของกิจการควรตรวจสอบว่า ข้อความที่ปรากฏบนบิลเงินสด/ใบกำกับภาษีนั้นมีข้อความครบถ้วนหรือไม่ดังต่อไปนี้

1. ชื่อ-ที่อยู่ของผู้ขาย (ปั๊มน้ำมัน)
2. เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ขาย (ปั๊มน้ำมัน)
3. คำว่า "ใบกำกับภาษี" หรือ "บิลเงินสด/ใบกำกับภาษี"
4. เลขที่ และเล่มที่ (ถ้ามี) ของใบกำกับภาษี
5. ชื่อ-ที่อยู่ของผู้ซื้อ (ผู้จ่ายเงิน)
6. วันที่ที่ออกใบกำกับภาษี
7. รายละเอียดของค่าน้ำมันที่เติม เช่น ชนิดน้ำมัน ปริมาณ ราคาต่อหน่วย จำนวนเงิน
8. จำนวนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม

ดูเหมือนว่าจะยุ่งยากพอสมควรในการที่พนักงานของบริษัทหรือพนักงานขับรถยนต์เมื่อมีการเติมน้ำมันจะต้องมีการตรวจสอบ "บิลเงินสด/ใบกำกับภาษี" ทุกครั้งที่เติมน้ำมัน พนักงานส่วนใหญ่มักจะจำไม่ได้ว่า 8 ข้อข้างต้นมีอะไรบ้าง

แต่มีเทคนิคง่าย ๆ อย่างหนึ่งก็คือ ทุกครั้งที่นำรถยนต์ไปเติมน้ำมันก็บอกเด็กปั๊มว่า "ขอใบกำกับภาษีเต็มรูป" แล้วยื่นนามบัตรที่ระบุชื่อบริษัทพร้อมที่อยู่ให้เด็กปั๊มน้ำมันเพื่อให้ออกใบกำกับภาษีได้ถูกต้อง และเมื่อได้รับใบกำกับภาษีมาแล้วก็ส่งมอบให้กับฝ่ายบัญชีของกิจการช่วยตรวจความถูกต้องอีกครั้งก็น่าจะเพียงพอ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.