ผู้ประกอบการฟันธงอสังหาฯปี49 ดีมานด์-ซัปพลายเข้าสู่ภาวะสมดุล


ผู้จัดการรายสัปดาห์(30 กันยายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ผู้ประกอบการจัดสรรชี้แนวโน้มอสังหาฯปีหน้าเข้าสู่ภาวะสมดุล ระบุผังเมืองใหม่-ปัญหาแบงก์เข้มงวดปล่อยสินเชื่อช่วยควบคุมโครงการจัดสรรเกิดใหม่ลดน้อยลง เผยภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นกระทบจิตวิทยา มั่นใจ "เมกะโปรเจกต์" สร้างรายได้เพิ่มให้กับผู้บริโภค พี่เบิ้ม "แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์"ประกาศคงนโยบายบ้านสร้างเสร็จก่อนขาย แม้เสี่ยงสูงแต่ยอดขายดีกว่าขายกระดาษ ลดปัญหาสูญเสียรายได้กรณีแบงก์ไม่ปล่อยกู้ให้ลูกค้า

การชะลอตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจ ราคาน้ำมัน แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้น ตลอดจนปัจจัยลบต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคและการลงทุนของผู้ประกอบการ

วรรณา ตัณฑเกษม ประธานกรรมการสภาที่อยู่อาศัยไทย เปิดเผยถึงภาวะอสังหาริมทรัพย์-ทิศทางและแนวโน้มในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นว่า ยอดจดทะเบียนที่อยู่อาศัยใหม่ในช่วงเดือนก.ค.-ส.ค.ที่ผ่านมามีจำนวนประมาณ 4,500 ยูนิต ซึ่งลดลงค่อนข้างมากเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และถือว่าอยู่ในระดับต่ำกว่าความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน โดยเป็นเหมือนสัญญาณบ่งบอกให้เห็นว่าแนวโน้มธุรกิจอสังหาฯ ในปีหน้าจะอยู่ในภาวะสมดุลระหว่างดีมานด์และซัปพลาย

อย่างไรก็ตาม การลดลงของจำนวนที่อยู่อาศัยสร้างใหม่เกิดขึ้นจากการชะลอการลงทุนของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายกลางและเล็กที่ชะลอการลงทุน เพื่อรอดูสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ประกอบกับมาตรการคุมเข้มของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการมากขึ้น ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการสกัดกั้นไม่ให้ผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ที่ไม่ใช่มืออาชีพเข้ามาทำตลาด ขณะเดียวกันก็เป็นการควบคุมจำนวนซัปพลายไม่ให้เพิ่มขึ้นจนเกินปริมาณความต้องการของลูกค้า

นอกจากนี้ยังคาดการณ์ว่าผังเมืองรวมกทม.ฉบับใหม่ที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงจะประกาศบังคับใช้ในช่วงเดือนธ.ค.นี้ ซึ่งจะทำให้การพัฒนาที่อยู่อาศัยทำได้ยากขึ้นอีกมาก ด้วยข้อกำหนดที่ซับซ้อนและเพิ่มขึ้น ทำให้โอกาสในการเกิดโครงการใหม่ๆ มีน้อยลง และส่งผลกระทบให้ราคาขายที่อยู่อาศัยในอนาคตมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

วรรณา กล่าวว่า แม้อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่สถานการณ์โดยรวมไม่น่ากลัวเท่ากับช่วงวิกฤติในปี 37-39 โดยเชื่อว่าในปี 48-49 อัตราดอกเบี้ยในตลาดไม่น่าจะปรับขึ้นเกิน 0.5% และเป็นการปรับขึ้นตามกลไกของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งต้องการระดมเงินออมจากประชาชนมากขึ้น ดังนั้นอัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นในปีหน้าก็ไม่น่าจะสูงมาก เมื่อเทียบกับกำลังซื้อของผู้บริโภคซึ่งจะมีรายได้และการจ้างงานเพิ่มจากการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาล

แม้จะหมดห่วงไปกับปัญหาดังกล่าวแล้วยังมีปัญหามาตรการคุมเข้มของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้ารายย่อย และปัญหาระบบข้อมูลเครดิตบูโรที่เข้ามามีส่วนต่อการพิจารณาสินเชื่อให้กับลูกค้า ทำให้ลูกค้าไม่สามารถโอนบ้านให้กับเจ้าของโครงการได้ และผู้ประกอบการเองก็จะสูญเสียรายได้จากกรณีดังกล่าว

นพร สุนทรเจริญจิตต์ รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ กล่าวว่า ท่ามกลางสถานการณ์ราคาบ้านและอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น ทำให้ในช่วงนี้เป็นระยะเวลาที่ดีที่สุดในการตัดสินใจซื้อบ้าน เพราะจะได้ราคาบ้านที่ต่ำกว่าราคาขายบ้านในอนาคตที่มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นสูง จากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งทุกๆ 1 บาทของราคาน้ำมันดีเซลที่เพิ่มขึ้น ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น 1.2% โดยขณะนี้ต้นทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นแล้วโดยเฉลี่ยประมาณ 10%

ท่ามกลางความผันผวนบริษัทยังคงยืนยันนโยบายการลงทุนในรูปแบบเดิมคือสร้างบ้านก่อนขาย แม้ว่าจะมีความเสี่ยงสูง แต่เอื้อประโยชน์ในการควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่าย และสามารถสร้างยอดขายได้ดีและเร็วกว่าการขายกระดาษ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจซื้อ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.