|

แนะนักธุรกิจไทยลงทุนในกลุ่มอินโดจีน ชี้เป็นตลาดใหญ่มีศักยภาพโอกาสสูง
ผู้จัดการรายสัปดาห์(30 กันยายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
นักวิชาการเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขงระบุกลุ่มประเทศอินโดจีน มีศักยภาพสูงและเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่น่าเข้าไปลงทุน แนะผลิตพืชผักออร์แกนนิกในลาว ทำธุรกิจบริการ-ก่อสร้างในกัมพูชา และลงทุนด้านการประมงในเวียดนาม เชื่อไปได้สวยแต่ต้องศึกษากฎระเบียบการลงทุนแต่ละประเทศให้ชัดเจนก่อนเดินหน้า
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่(มช.) จัดการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง "ลุ่มน้ำโขงสายสัมพันธ์เศรษฐกิจ" เพื่อเป็นการให้ข้อมูลด้านเศรษฐกิจการลงทุนในภูมิภาค และเป็นการเตรียมความพร้อมต่อการแข่งขันด้านเศรษฐกิจในอนาคต โดยมีผู้ประกอบการ ประชาชนทั่วไป และนักศึกษาให้ความสนใจเข้าร่วมประมาณ 150 คน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมหมาย ชินนาค รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย และกรรมการศูนย์วิจัยสังคมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า ประเทศในกลุ่มลุ่มน้ำโขงโดยเฉพาะกลุ่มประเทศอินโดจีน ที่ประกอบด้วย ลาว เวียดนาม และกัมพูชา ถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพและน่าลงทุน เนื่องจากในแง่ของขนาดตลาดแล้ว ประเทศกลุ่มนี้เป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ จากจำนวนประชากรทีมีรวมกันกว่า 100 ล้านคน
ที่ผ่านมาการเข้านักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในประเทศกลุ่มนี้ไม่มาก ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะประวัติศาสตร์ความเป็นมาระหว่างกันไม่ราบรื่นเท่าที่ควร อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมองว่าไม่น่าจะมีปัญหาแล้ว เพียงแต่ว่าจะต้องศึกษาข้อมูล กฎระเบียบและหลักเกณฑ์ในการเข้าไปลงทุนในแต่ละประเทศให้ชัดเจน
สำหรับการเข้าไปลงทุนในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) ตามศักยภาพแล้วมองว่า น่าจะเข้าไปลงทุนทางด้านธุรกิจท่องเที่ยว เพราะเป็นประเทศที่มีทรัพยากรทางการท่องเที่ยว ที่น่าสนใจอยู่มากมาย ทั้งในแง่ของความงดงามตามธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตและศิลปวัฒนธรรม เพียงแต่ว่า ต้องเข้าไปทำในลักษณะร่วมลงทุนกับบริษัทท่องเที่ยวลาว ที่เป็นกิจการของรัฐบาลทั้งหมด โดยการลงทุนด้านการเกษตรเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการลงทุนในการผลิตพืชผักปลอดสารพิษหรือพืชออร์แกนนิก เพราะลาวเป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมากทั้งดินและน้ำ
ส่วนประเทศกัมพูชา น่าจะเข้าไปทำการลงทุนเกี่ยวกับธุรกิจก่อสร้าง เนื่องจากปัจจุบันกัมพูชากำลังเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั่วทั้งประเทศ เช่น การสร้างถนน การวางระบบสาธารณูปโภค เป็นต้น ขณะที่การลงทุนเกี่ยวกับการทำธุรกิจภาคบริการก็มีโอกาสที่ดี เพราะทุกวันนี้กัมพูชาถือเป็นจุดหมายทางการท่องเที่ยว ที่นักท่องเที่ยวจากที่ต่างๆ ให้ความสนใจ แต่ธุรกิจภาคบริการ เช่น โรงแรม บริษัทนำเที่ยว ของกัมพูชายังขาดคุณภาพ และการเข้าไปลงทุนผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน ยังเป็นอีกการลงทุนหนึ่งที่น่าจะมีโอกาสที่ดี ด้วยการย้ายฐานการผลิตไปอยู่ที่นั่นเพราะมีค่าจ้างแรงงานที่ต่ำและมีแรงงานเหลือเป็นจำนวนมาก จากการที่มีการปิดโรงงานทอผ้าหลายแห่งทั่วกัมพูชา
ด้านการลงทุนในประเทศเวียดนาม เนื่องจากประเทศเวียดนามเป็นประเทศที่มีชายฝั่งทะเลยาว ตั้งแต่เหนือถึงใต้ ธุรกิจที่น่าจับตามอง คือ ด้านการประมง โดยเฉพาะการผลิตเครื่องมือในการทำประมงทางทะเล เช่น แห อวน เพราะปัจจุบันเวียดนามยังไม่สามารถผลิต เพื่อตอบสนองความต้องการในประเทศได้อย่างเพียงพอ นอกจากนี้การลงทุนทำธุรกิจด้านการขนส่ง ก็น่าสนใจ จากโครงการก่อสร้างถนนสายอีสต์-เวสต์ คอริดอร์ ที่เป็นเส้นทางผ่านทั้งไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม
"ประเทศกลุ่มนี้มีศักยภาพและน่าสนใจที่จะเข้าไปลงทุน ต้องศึกษารายละเอียด กฎระเบียบ ข้อบังคับให้ชัด ทั้งนี้ในด้านการบริหารกิจการแล้ว ควรจะต้องส่งคนไทยด้วยกันเข้าไปควบคุมดูแลเองจะดีที่สุด เพียงแต่ว่าควรจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับภาษาท้องถิ่นเป็นอย่างดีด้วย" ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมหมาย กล่าว
นอกจากนี้รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี แสดงความเห็นว่า เวียดนามเป็นประเทศคู่แข่งทางเศรษฐกิจของไทยที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง เพราะที่ผ่านมาเวียดนามให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรบุคคลเป็นอย่างมาก ปัจจุบันเรียกได้ว่าศักยภาพและความสามารถของบุคลากรของเวียดนาม แทบจะไม่แตกต่างจากไทย ขาดแต่การฝึกฝนในความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านบางอย่างเท่านั้น ซึ่งไทยเองมีความจำเป็นที่จะต้องรู้เท่าทันและให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรให้มากขึ้นด้วย
ส่วนทางด้านการเกษตรเห็นว่า แม้ปัจจุบันไทยจะเป็นประเทศที่มีการส่งออกข้าวเป็นอันดับหนึ่งของโลก แต่เวลานี้เวียดนามได้มีการพัฒนาการผลิตขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับข้อได้เปรียบของเวียดนามที่มีอัตราผลผลิตข้าวต่อพื้นที่ปลูกสูงกว่าไทย จึงทำให้ไม่อาจนิ่งนอนใจใดๆ ได้
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|