เอสเอ็มอีแบงก์ซุกปีก"บัวหลวง" ปล่อยสินเชื่อ"ครัวไทย-โอทอป"


ผู้จัดการรายสัปดาห์(30 กันยายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ด้วยนโยบายสนับสนุน"ครัวโลก" ทำให้"เอสเอ็มอีแบงก์"ต้องมีฐานลูกค้าที่กว้างขึ้น ซึ่งไม่เฉพาะที่ประเทศไทยเท่านั้นแต่หมายถึงฐานลูกค้าที่อยู่ต่างประเทศด้วย แต่ด้วยข้อจำกัดของเครือข่ายหรือสาขาที่เชื่อมโยงเข้าถึงลูกค้า ทำให้เอสเอ็มอีแบงก์มีอุปสรรคด้านช่องทางในการปล่อยสินเชื่อ ดังนั้นการจับมือเป็นพันธมิตรกับธนาคารกรุงเทพจึงเป็นทั้งทางออกที่ลงตัว และปิดจุดอ่อนด้านแขนขาหรือเครือข่ายที่มีอยู่น้อย

เอสเอ็มอีแบงก์ ได้รับประโยชน์อย่างมากกับการผูกมิตรในครั้งนี้ เพราะการขยายเครือข่ายออกไปทั่วโลกหากต้องเปิดเป็นสาขาหรือสำนักงานก็จะกลายเป็นเรื่องของภาระต้นทุนไป ในส่วนของธนาคารกรุงเทพเองก็ได้รับประโยชน์จากค่าธรรมเนียมการจัดการ ดังนั้นการจับมือเป็นพันธมิตรครั้งนี้จึงกลายเป็นผลประโยชน์ต่างตอบแทน

ประสงค์ อุทัยแสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ บอกว่า การที่เอสเอ็มอีแบงก์ดึงธนาคารกรุงเทพเป็นตัวแทนหลักประกันขยายขอบเขตการให้บริการสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในต่างประเทศ เพราะเป็นธนาคารเดียวที่มีเครือข่ายมากที่สุด โดยมีสาขาและสำนักงานผู้แทนในต่างประเทศ 21 แห่ง ในเขตเศรษฐกิจสำคัญทั่วโลก อย่าง จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ

"การมีสาขาในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญทำให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งทุนง่าย และยังเป็นการช่วยเหลือให้เขาได้มีโอกาสนำเงินทุนไปพัฒนาขีดความสามารถเพื่อเป็นที่ยอมรับในฐานะครัวของโลกต่อไป"

ผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในต่างประเทศ สามารถใช้หลักทรัพย์ในต่างประเทศเป็นหลักประกันในการยื่นขอสินเชื่อจากเอสเอ็มอีแบงก์ได้ โดยที่ธนาคารกรุงเทพสาขาต่างประเทศจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนหลักประกันแทน เอสเอ็มอีแบงก์ ในการดำเนินการเกี่ยวกับหลักประกัน เช่นการจัดหาบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือมาประเมินทรัพย์สิน จัดหาทนายความมาทำนิติกรรมสัญญาต่าง ๆ ตลอดจนการจดจำนอง

ประสงค์ บอกว่า ครัวไทยสู่ครัวโลก โครงการที่มากกว่าการโฆษณาอาหารไทยในต่างประเทศ เพราะถ้าคาดหวังถึงผลที่ตามมาอย่างต่อเนื่องหากโครงการนี้ประสบความสำเร็จ คือ การส่งออกแรงงาน เครื่องปรุงประกอบอาหาร รวมถึงการนำมาซึ่งการท่องเที่ยว

ความสำคัญของร้านอาหารไทยคือ"หน้าตา"ของประเทศ ขณะเดียวกันโครงการนี้จะทำให้สินค้าแบรนด์ไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้น เพราะร้านอาหารไทยส่วนใหญ่มีการสั่งเข้าสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่มีความเป็นไทยมาตกแต่ง ประดับประดา หรือมากกว่านั้นมีการสั่งสินค้าไทยในโครงการหนึ่งตำลหนึ่งผลิตภัณฑ์(OTOP) มาวางขาย จึงเห็นได้ว่า เป็นโครงการที่มากกว่าการโฆษณาอาหารไทย

ความร่วมมือในครั้งนี้ระหว่างเอสเอ็มอีแบงก์ และธนาคารกรุงเทพ นอกเหนือจากเหตุผลเพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งทุนแล้วยังเป็นการสนับสนุนการเพิ่มจำนวนร้านอาหารไทยในต่างประเทศให้เป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ 10,000แห่งภายในปี 2551

พัชราภรณ์ สุทธิโชติ ผู้ช่วยผู้จัดการ เอสเอ็มอีแบงก์ บอกว่า แม้รัฐบาลจะตั้งตัวเลขในการขยายร้านอาหารในต่างประเทศไว้ถึง 10,000 แห่งก็ตาม แต่เอสเอ็มอีแบงก์ในฐานะแหล่งเงินกู้คงไม่สามารถเร่งปล่อยสินเชื่อได้ เพราะผู้ประกอบการแต่ละรายที่เข้ามา ธนาคารจะต้องพิจารณาให้ละเอียดรอบครอบถึงความพร้อม ความตั้งใจจริง และโอกาสในการเข้าไปทำธุรกิจ

"ไม่ปฏิเสธว่าที่ผ่านมาการปล่อยสินเชื่อค่อนข้างยาก เพราะธนาคารเองก็ต้องพิจารณาด้วยว่าผู้ประกอบการมีความพร้อมแค่ไหน ปัญหาหนึ่งที่เราพบคือเป็นการยากมากที่ธนาคารจะรู้ถึงขีดความสามารถที่แท้จริงผู้ประกอบการการในต่างประเทศ เนื่องจากไม่สามารถตามไปดูถึงแห่งที่นั้นได้ ตรงนี้เองที่เป็นปัญหาให้ต้องระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ"

อย่างไรก็ตาม เอสเอ็มอีแบงก์กำลังดูแนวทางสำหรับแก้ปัญหาเรื่องนี้อยู่ อาจเป็นไปได้ว่าธนาคารจะส่งพนักงานหรือตัวแทนไปเก็บข้อมูลหรือพูดคุยกับลูกค้า ในระยะเวลาประมาณ 3 เดือน โดยตัวแทนที่ส่งไปอาจไปนั่งประจำในสำนักงานการท่องเที่ยวที่ประเทศไทยเข้าไปเปิดให้บริการ ซึ่งวิธีนี้จะเป็นการประหยัดต้นทุนมากกว่าการที่เอสเอ็มอีแบงก์ไปเปิดสาขาหรือสำนักงานให้บริการ

ความร่วมมือระหว่าง 2 พันธมิตรที่เป็นแบงก์รัฐและเอกชนนั้นอาจเพิ่มความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้นสำหรับผู้ประกอบการที่จะเข้าถึงแหล่งทุน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าผู้ประกอบการจะเข้าถึงได้ทุกราย เพราะหลักการพิจารณาปล่อยกู้โดยเฉพาะธุรกิจขนาดย่อมนั้นยังไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้รวดเร็วทันใจ ด้วยขั้นตอนที่ละเอียดถี่ยิบในการตรวจสอบของธนาคาร ทำให้ผู้ประกอบการที่เตรียมพร้อมและมีแผนงานมาอย่างดีที่สุดมาเสนอเท่านั้นจึงจะผ่านการพิจารณา...


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.