ยูโอบีสิงคโปร์ลบภาพบีโอเอ ปั้นแบงก์ยูไนเต็ดโอเวอร์ซีส์


ผู้จัดการรายสัปดาห์(30 กันยายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ยูไนเต็ดโอเวอร์ซีส์ (ยูโอบี) สถาบันการเงินสายเลือดสิงคโปร์ หลังเข้ามาดำเนินธุรกิจภายใต้ชื่อ ยูโอบีรัตนสิน (ยูโอบีอาร์) เป็นเวลาเกือบ 7 ปี ก็เตรียมประกาศแบรนด์ และความเป็นตัวตนอย่างแท้จริงในสนามแข่งขันธุรกิจการเงินไทย โดยหลังทำแผนควบรวมกิจการระหว่างบีโอเอและ ยูโอบีอาร์ แล้วเสร็จ จะล้างภาพเดิมทิ้งทันที ส่วนแผนการดำเนินงานแม้จะยังไม่ชัดเจนในเวลานี้แต่ก็ประกาศพร้อมเป็นยูนิเวอร์แซลแบงกิ้ง

ย้อนไปเมื่อวันที่ 5 กันยายน กระทรวงการคลังได้อนุมัติแผนการควบรวมกิจการระหว่าง "บีโอเอ"และ"ยูโอบีอาร์" โดยเสนอให้ บีโอเอ เป็นธนาคารที่ยังคงดำเนินธุรกิจอยู่ต่อไป และทำการเพิกถอนยูโอบีอาร์ ออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งหลังจากที่เพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์แล้ว ยูโอบีอาร์ จะโอนกิจการ ทรัพย์สิน และหนี้สินไปยัง บีโอเอ พร้อมทั้งเลิกดำเนินกิจการในทันที

แผนการควบรวมระหว่าง 2 ธนาคาร เดิมที่ตกลงกันว่าจะเป็นการแลกหุ้นระหว่างกันก็เปลี่ยนเป็น บีโอเอจะหาเงินสดไปซื้อหุ้นของยูโอบีอาร์ โดยเงินสดนั้นจะได้มาจากการเพิ่มทุนของบีโอเอ 3 หมื่นล้านบาท

ธนชัย ธนชัยอารีย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บีโอเอ บอกถึงเหตุผลของการเพิ่มทุนในบีโอเอและการปรับเปลี่ยนวิธีควบรวมในครั้งนี้ว่าเป็นการรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นรายย่อยที่ถือหุ้นอยู่ในบีโอเอ 3% เพราะเมื่อบีโอเอและยูโอบีอาร์มีการแลกหุ้นระหว่างกันจะทำให้สัดส่วนผู้ถือหุ้นลดลงทันทีโดยเฉพาะรายย่อยจะได้รับผลกระทบตรงนี้ ดังนั้น บีโอเอ จึงต้องเพิ่มทุนให้สิทธิผู้ถือหุ้นซื้อหุ้นเพิ่มทุนเพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้นก่อน และเม็ดเงินที่ได้จากตรงนี้จะนำไปซื้อยูโอบีอาร์

ว่ากันตามจริงแล้ว ทั้งบีโอเอและยูโอบีอาร์ก็มีความเกี่ยวพันธ์ทางสายเลือด ด้วยผู้ถือหุ้นใหญ่ของทั้ง 2 ฝ่ายคือคน ๆ เดียวกัน สำหรับก่อนที่จะมีการควบรวม ยูโอบีอาร์ มี ยูไนเต็ดโอเวอร์ซีส์ (ยูโอบี)ถืออยู่ประมาณ 83% และ ถือในบีโอเอ 97%

แต่หลังจากที่ ยูโอบี ตกลงซื้อหุ้นของ ยูโอบีอาร์จำนวน 208 ล้านหุ้นจากกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน(เอฟไอดีเอฟ) ทำให้ยูโอบี ถือหุ้นในธนาคารดังกล่าว 99.99% และ ยูโอบีอาร์ก็มีสถานะเป็นบริษัทย่อยของบีโอเอ

หลังจากควบรวมเสร็จ ธนาคารเอเชียจะเป็นหลักในการดำเนินธุรกิจ แต่จะเปลี่ยนชื่อเป็น "ธนาคารยูไนเต็ดโอเวอร์ซีส์" เพื่อลบภาพเก่า ๆ ที่เป็นบีโอเอทิ้งไป และใส่ภาพลักษณ์ใหม่ที่แสดงถึงการเป็นสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่สายเลือดสิงคโปร์

อย่างไรก็ตาม แม้แผนการควบรวมและแปลงโฉมธนาคารบีโอเอจะมีความชัดเจนแล้วก็ตาม แต่แผนการดำเนินธุรกิจนั้นยังไม่เห็นภาพชัดเจนนัก เนื่องจากอยู่ระหว่างกระบวนการควบรวม แต่ผู้บริหารก็ยังยืนยันสถานภาพธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ

"ธนาคารเราก็รุกทำธุรกิจโดยเพิ่มบทบาทเป็นยูนิเวอร์แซลแบงกิ้งที่ให้บริการครบวงจร "

ธนชัยบอกว่า ถ้าให้กล่าวถึงจุดแข็งหลังจากที่ ยูไนเต็ดโอเวอร์ซีส์ เริ่มสตาร์ทเครื่องหลังการควบรวม นอกเหนือเครือข่ายก็มีความเข้มแข็งของบริษัทแม่ในสิงคโปร์ ที่จะช่วยให้พัฒนาและสร้างผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่แก่ยูไนเต็ดโอเวอร์ซีส์ประเทศไทย เพื่อใช้ในการต่อสู้บนสังเวียนธุรกิจการเงิน

ส่วนเรื่องเครือข่ายและสาขาในประเทศไทยนั้น ทั้งบีโอเอและยูโอบีอาร์ มีเครือข่ายอยู่บางส่วนแล้ว จุดนี้ก็จะสามารถพัฒนาได้ต่อเนื่องทันที พร้อมทั้งมีแผนที่จะขยายและเพิ่มทั้งสาขาและจำนวนบุคลลากรด้วย

ถึงแม้แผนการดำเนินธุรกิจหลังการควบรวมยังไม่เป็นที่ชัดเจนนักสำหรับแบงก์เก่าแต่ใช้ชื่อใหม่อย่าง"ยูไนเต็ดโอเวอร์ซีส์" แต่ภายใต้เครื่องหมายการค้า ที่ค่อนข้างแข็งแกร่งของกลุ่ม "ยูโอบี" นักลงทุนจากสิงคโปร์ แทบทุกแบงก์ก็ไม่เคยมองข้ามจุดนี้ไป....


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.