เจ้าของSINGHAสลับซื้อขาย โมเดลใหม่กำไรเข้ากระเป๋า


ผู้จัดการรายสัปดาห์(29 กันยายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

SINGHA กำลังสร้างโมเดลต้นแบบให้ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน สร้างกำไรจากการซื้อขายเข้ากระเป๋าตัวเอง ไล่เก็บหุ้นตั้งแต่ก่อนปรับพาร์ได้โอกาสเหมาะเทขาย นักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตุเป็นผู้บริหารกลุ่มเดียวกันช่วยกันซื้อ ราคาขยับ อีกรายดอดขาย สลับกันตลอดเวลา หวั่นเอาเปรียบนักลงทุนรายอื่น

จากรายงานการซื้อขายหุ้นของผู้บริหารบริษัท สิงห์ พาราเทค จำกัด(มหาชน) หรือ SINGHA ที่แจ้งมายังสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ตั้งแต่ปลายปี 2547 ถึงเดือนกันยายน ที่ซื้อขายกันถี่ยิบแถมยังรายงานล่าช้านั้น ได้สร้างข้อสงสัยให้กับนักลงทุน โดยเฉพาะรายการซื้อ ๆ ขาย ๆ ของผู้บริหารทั้ง 8 คน

แม้ ก.ล.ต. ได้ตรวจสอบการซื้อขายของผู้บริหารข้างต้นแล้วไม่พบว่า มีการกระทำในลักษณะการใช้ข้อมูลภายในหรือการสร้างราคาหลักทรัพย์ เพียงแค่เป็นการรายงานล่าช้ามีโทษแค่ปรับเท่านั้น

อย่างไรก็ดีราคาหุ้นของ SINGHA ยังคงเดินหน้าต่อไปที่ระดับราคา 11 บาท แม้จะมีบทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ไซรัส แนะนำให้ขายบริษัท สิงห์ พาราเทค จำกัด(มหาชน) หรือ SINGHA โดยให้เหตุผลว่า ณ ระดับราคาที่ 10.60 บาทคิดเป็น PE ที่ 13.7 เท่านับว่าสูงกว่าค่า PE เฉลี่ยของกลุ่มวัสดุก่อสร้างที่ 8 เท่า

ทั้งนี้ทางไซรัสได้ประมาณราคาที่เหมาะสมของ SINGHA ที่ 12 เท่า ดังนั้นกำไรในปี 2548 จะต้องสูงถึง 282.7 ล้านบาท หรือกำไร 0.88 บาทต่อหุ้น ขณะที่ในครึ่งแรกของปีมีกำไรเพียง 56.1 ล้านบาท ซึ่งดูจะเกินกำลังความสามารถของบริษัท โดยประมาณการดังกล่าวได้คำนึงถึงสัญญาขายที่ต้องส่งมอบในปีนี้มูลค่า 1.1-1.2 พันล้านบาท ซึ่งขณะนี้บริษัทเดินกำลังการผลิตเต็มที่แล้ว คาดว่าครึ่งหลังของปียอดขายของ SINGHA จะมียอดขาย 903.6 ล้านบาท กำไรสุทธิ 190.7 ล้านบาท

ทั้งนี้หาก SINGHA ต้องการขยายกำลังการผลิต จะต้องใช้เวลาสร้างโรงงานไม่ต่ำกว่า 1 ปี แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปจากผู้บริหาร โดยราคาพื้นฐานของ SINGHA อยู่ที่ 9.30 บาท

สำหรับ SINGHA ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไม้พื้นสำเร็จรูป ซึ่งเป็นวัสดุใช้สำหรับปูพื้นเพื่อตกแต่งบ้านและอาคาร ภายใต้เครื่องหมายการค้า SINGHA PARKET และรับจ้างผลิตภายใต้เครื่องหมายการค้าของลูกค้า โดยส่งออกเป็นส่วนใหญ่กว่า 90% และมีนโยบายจะขยายตลาดในประเทศให้มากขึ้น โดยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อ 19 ธันวาคม 2546

ไล่เก็บ-โอนหุ้น

นักวิเคราะห์ด้านกลยุทธ์กล่าวว่า เรื่องการซื้อ ๆ ขาย ๆ หุ้นของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนถือเป็นสิ่งที่ทำได้เพียงแต่ต้องรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ ในอดีตก็มีหลายบริษัทที่ผู้บริหารซื้อ ๆ ขาย ๆ ในลักษณะนี้เช่นกัน

กรณีของสิงห์ พาราเทค ราคาหุ้นในระยะที่ผ่านมาปรับตัวค่อนข้างโดดเด่น สวนทางกับหุ้นในกลุ่มเดียวกัน อีกทั้งเป็นหุ้นขนาดเล็ก ดังนั้นความร้อนแรงทั้งราคาและมูลค่าการซื้อขายจึงเป็นที่จับตาของนักลงทุนว่าเกิดอะไรขึ้นกับหุ้นตัวนี้ โดยเฉพาะช่วงที่ก่อนปรับราคาพาร์จาก 5 บาท เหลือ 1 บาท เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2548 ราคาหุ้นขยับเกินกว่า 40 บาท จากราคาช่วงปลายปีที่ประมาณ 18 บาท

จากรายงานการถือครองหลักทรัพย์ของผู้บริหาร SINGHA พบว่าตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม 2547 ผู้บริหารของบริษัท 8 ท่านได้เข้าซื้อขายหุ้นตัวนี้อย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย สมจิตร โบว์เสรีวงศ์,ชาญ ธาระวาส,วิภาภรณ์ โบว์เสรีวงศ์,วิศัลย์ วิสุทธิธรรม,วีณา ณ อุบล,รจนา มหาวนา,กอบแก้ว ด่านชัยวิจิตร และศิริลักษณ์ โบว์ศรีวงศ์

โดยเฉพาะช่วงปลายปี 2547 มีรายการโอนหุ้นระหว่างกันของผู้บริหาร เช่น กอบแก้ว ด่านชัยวิจัย โอนหุ้น 6.02 แสนหุ้นให้กับรจนา มหาวนา ในวันเดียวกัน รจนาได้โอนต่อไปให้กับกอบแก้วอีกครั้งหนึ่งในวันรุ่งขึ้นเป็นต้น หรือศิริลักษณ์ โบว์เสรีวงศ์ที่โอนหุ้นราว 3 ล้านหุ้นออกและเป็นผู้รับโอนในวันรุ่งขึ้นเช่นกัน เช่นเดียวกับวิภาภรณ์ โบว์เสรีวงศ์กับหุ้นจำนวน 7.62 แสนหุ้น

เรื่องนี้ได้รับคำชี้แจงจาก ก.ล.ต.ว่า ที่ผ่านมารายการดังกล่าวเป็นการร้องขอให้ผู้บริหารบริษัทแจ้งรายการให้ถูกต้อง เนื่องจากในระยะนั้นมีการดำเนินการซื้อขาหุ้นผ่านตัวแทน(นอมินี) ซึ่งจากการตรวจสอบไม่พบความผิดปกติในเรื่องการใช้ข้อมูลภายในแต่อย่างใด ส่วนหลังจากนั้นเป็นเรื่องที่ฝ่ายตรวจสอบกำลังดำเนินการอยู่ว่าผิดปกติหรือไม่อย่างไร

กำไรมากกว่าที่เห็น

เจ้าหน้าที่การตลาดของโบรกเกอร์ กล่าวว่า เราได้เห็นการไล่เก็บหุ้นของผู้บริหารมาโดยตลอด จาก 18 บาทไปถึง 40 บาท มีส่วนต่างถึง 12 บาท ก่อนที่จะมีการแตกพาร์จาก 5 บาทเป็น 1 บาท และต้องไม่ลืมว่าผู้บริหารเหล่านี้ได้หุ้นมาตั้งแต่แรก ย่อมได้ต้นทุนที่ต่ำกว่าคนอื่น หากประเมินจากราคา IPO ที่ 21 บาท เมื่อปรับพาร์แล้วแสดงว่าต้นทุนสูงสุดครั้งแรกที่ผู้บริหารได้มาไม่ควรเกิน 2.10 บาทต่อหุ้น แต่ราคาหุ้นกลับโด่งเคลื่อนไหวบริเวณ 8 บาทมาโดยตลอด และต้องไม่ลืมว่าเมื่อปรับราคาพาร์แล้วจำนวนผู้ที่ผู้บริหารไล่เก็บมาจะเพิ่มขึ้นอีก 5 เท่า

ผู้บริหารบางรายเก็บหุ้นที่มีต้นทุนเพียง 18 บาทเศษและขายออกมาที่ระดับราคากว่า 33 บาท หากรวมต้นทุนครั้งแรกที่ได้มาคงกำไรค่อนข้างมาก ที่ผ่านมา SINGHA หลายครั้งหุ้นของบริษัทนี้มักจะขึ้นก่อนที่จะมีข่าวออกมาเสมอ ซึ่งแต่ละข่าวที่ออกมาก็เป็นจริงทุกครั้งไม่ว่าจะเป็นการแตกพาร์หรือการได้ลูกค้าจากแคนาดาเพิ่ม

หากถามว่าผู้บริหารซื้อขายหุ้นนั้นผิดไหม คงไม่ผิด แต่พฤติกรรมอาจแตกต่างกันไป กรณีของ SINGHA นั้น ผู้บริหารซื้อขายค่อนข้างถี่ บางครั้งซื้อและขายกันในวันเดียวเป็นการซื้อขายในลักษณะหักกลบลบหนี้เหมือนนักลงทุนทั่วไปทำ

แต่ในแง่ของภาพพจน์ที่ออกมาดูจะไม่เหมาะนัก เนื่องจากผู้บริหารที่ซื้อขายหุ้นบ่อย ๆ อาจถูกมองได้ว่ารู้ข้อมูลดีกว่านักลงทุนทั่วไป ส่วนจะเป็นการใช้ข้อมูลภายในซื้อขายหุ้นหรือไม่คงต้องเป็นหน้าที่ของทางการที่จะเข้าไปตรวจสอบ

ในอีกด้านหนึ่งอาจถูกมองว่า แทนที่จะทุ่มเทกำลังสติปัญญาเพื่อให้บริษัทมีกำไรที่ดี แต่กลับมามุ่งแต่ซื้อขายเพื่อกำไรของตัวเอง ทำให้ภาพของบริษัทติดลบ เพราะเงินส่วนต่างที่ได้นั้นถือเป็นเรื่องของบุคคล ไม่เกี่ยวข้องกับบริษัท ดูเหมือนเป็นการเอาเปรียบนักลงทุนทั่วไปที่ลงทุนก็เพื่อได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า

สลับซื้อขายกลุ่มเดียวกัน

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์รายหนึ่งกล่าวว่า เกือบทุกบริษัทพยายามที่จะหลีกเลี่ยงในการวิเคราะห์หุ้นตัวนี้ เพราะราคาค่อนข้างหวือหวา ผิดเพี้ยนไปจากการซื้อขายปกติ ยิ่งเมื่อเห็นรายงานการซื้อขายหุ้นของผู้บริหารที่ซื้อขายกันเกือบทุกวันด้วยแล้ว ยิ่งทำให้การคาดการณ์เรื่องราคาเป็นไปได้ยาก

เราตั้งข้อสังเกตุว่า กลุ่มผู้บริหารที่ซื้อขายหุ้นนั้นส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเดียวกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นตระกูลโบว์เสรีวงศ์ หรือตระกูล ณ อุบล รวมไปถึงบุคคลอื่น ๆ ที่เป็นผู้ก่อตั้งร่วมกันมาตั้งแต่แรก และลักษณะการซื้อขายก็มักจะเป็นการสลับกันไปมา เช่น มีกลุ่มที่ไล่ซื้อเมื่อราคาขยับขึ้นมาระดับหนึ่งก็จะมีอีกคนหนึ่งขายออกมา สลับกันไปมาตลอดเวลา

ส่วนหนึ่งทำให้ราคาหุ้นตัวนี้ไม่อ่อนตัวลงไปนับตั้งแต่ปรับพาร์ลงเหลือ 1 บาท ยิ่งช่วงหลังราคากลับพุ่งขึ้นจากระดับ 8.20 บาทขึ้นไปถึง 11 บาท ด้วยวอลุ่มที่หนาตา โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 22-23 กันยายน ทั้งนี้คงต้องรอผลการตรวจสอบของทางการว่าจะออกมาอย่างไร


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.