เปิดเมนูสั่งจองตราสารหนี้ร้อนๆ รอดอกเบี้ยไต่ขึ้นอาจ"ตกขบวน"


ผู้จัดการรายสัปดาห์(29 กันยายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ทรัพย์สินที่เคยได้ชื่อว่า "จับต้องยาก" อย่าง "ตราสารหนี้" โดยเฉพาะพันธบัตรภาครัฐ ไม่ว่าจะออกโดยแบงก์ชาติ กระทรวงการคลัง รัฐวิสาหกิจ หรือพันธบัตรออมทรัพย์ ถึงวันนี้กำลังอยู่ในความสนใจของเจ้าของเงินออมทั่วไป แต่ภายใต้สถานการณ์ดอกเบี้ยเบนทิศขาขึ้น ถ้ายังรีรอหวังจะซื้อล็อตใหม่ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่เป็นอยู่ อาจตกขบวนสำคัญ เพราะ "ผู้จัดการตลาดตราสารหนี้" แนะว่า ภายใน 1 ปีดอกเบี้ยจะปรับขึ้นไม่มาก ขณะเดียวกันสินค้าที่ออกมาแต่ละล็อตก็จะค่อยๆน้อยลง จนคนตั้งหน้าตั้งตารออาจพลาดไปแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว...

สันติ กีระนันทน์ ผู้จัดการตลาดตราสารหนี้ ลำดับความสำคัญตราสารหนี้จากอดีตถึงปัจจุบัน พบว่า ตราสารหนี้ที่เริ่มมีบทบาทมากขึ้น ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยปรับทิศขาขึ้น ต่างจากในอดีตที่ถูกมองข้ามความสำคัญไป เพียงเพราะเป็นทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ มีแต่สิทธิเรียกร้องเท่านั้น หากเทียบกับทรัพย์สินอื่น เช่น "ทองคำ" หรือ "เพชร" รวมถึง "หุ้น"

ขณะเดียวกัน ตราสารหนี้ก็ถูกมองว่าอยู่ห่างไกลกับเจ้าของเงินออม เพราะช่องทางหรือการได้มาของทรัพย์สินประเภทนี้ทำได้ยาก เข้าถึงยาก และเปิดทางสะดวกกับนักลงทุนเฉพาะกลุ่ม เช่น บรรดากองทุนต่างๆ นักลงทุนสถาบันอาทิ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และบริษัทจัดการกองทุน(บลจ.)

นั่นก็เพราะการออกพันธบัตรแต่ละครั้งจะตั้งเป้าหมายไปที่นักลงทุนกลุ่มนี้เท่านั้น ดังนั้นบุคคลทั่วไปที่ต้องการลงทุนพันธบัตรจึงทำได้ไม่ง่าย

นอกจากนั้นเมื่อ 2 ปีก่อน ตลาดตราสารหนี้ก็เผชิญกับมรสุมลูกใหญ่ "ช็อค" จากดอกเบี้ยสูง มูลค่าพันธบัตรตกวูบ กองทุนที่ลงทุนตราสารหนี้ต้องขายของราคาถูก ทำให้พันธบัตรราคาตก

ขณะที่นักลงทุนก็ตกใจรีบเทขายหน่วยลงทุน ผู้จัดการกองทุนก็ต้องรีบเอาของออกขาย ซึ่งพอขายมากกว่าซื้อราคาสินค้าก็ดิ่งลงอย่างรวดเร็ว ช่วงเวลานั้นกองทุนตราสารหนี้จึงประสบปัญหาเหมือนกันหมด

สันติ ก็กังวลในเรื่องนี้ แต่ได้แนะนำนักลงทุนทั่วไปที่สนใจจะเข้าลงทุนในตราสารหนี้ว่า ถึงแม้อัตราดอกเบี้ยขยับขึ้น ในช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด หากไม่ขายหน่วยลงทุนออกมาก็ไม่ขาดทุน เพราะตามเงื่อนไขผู้ถือครองตราสารหนี้ต้องได้รับดอกเบี้ยตรงตามกำหนดเช่นเดิมหรือตราบใดที่ไม่ขาย เจ้าของเงินก็ไม่รับรู้ผลขาดทุน เพียงแต่ตัวเลขที่วูบไหวไปมานั้นก็เพราะกองทุนต่างๆต้องตีราคาทรัพย์สินตามราคาตลาดหรือ มาร์ค ทู มาร์เก็ต

" สมัยก่อน จะซื้อพันธบัตรรัฐบาลทั้งทีต้องใช้เงินหลาย 10 ล้านบาท ก็แสดงว่าการลงทุนไม่กระจายตัว กลายเป็นอุปสรรค" สันติ บอกว่า ช่วงหลังจากนี้ตลาดตราสารหนี้เริ่มคึกคัก และนักลงทุนทั่วไปก็เข้าถึงได้ง่าย ขณะเดียวกันความคล่องตัวก็น่าจะสูงขึ้น เพราะเริ่มมีตลาดรองให้เปลี่ยนมือได้ง่าย

นอกจากนั้น ในระยะหลังมานี้ ภาครัฐก็มีการทยอยออกพันธบัตรค่อนข้างถี่ขึ้น โดยเจาะจงกลุ่มลูกค้าทั่วไปที่กำลังซื้อไม่มาก ขณะที่ผลตอบแทนก็จูงใจกว่าฝากเงินในธนาคาร

โดยเฉพาะพันธบัตรออมทรัพย์ ที่เปิดขายไปแล้วงวดแรกเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมามูลค่า 5 พันล้านบาท ปรากฏว่าขายเกลี้ยงอย่างรวดเร็ว โดยล็อตแรกกำหนดกลุ่มเป้าหมายมีเงินเพียง 10,000 บาทก็ลงทุนได้

สันติอธิบายว่า ล็อตที่แล้วเป็นพันธบัตรอายุ 7 ปีผลตอบแทน 5.4% ที่พิจารณาอัตราอ้างอิงดอกเบี้ย 4.7% บวกชดเชยภาษีหัก ณ ที่จ่ายอีก 1.5% ที่ต้องจ่ายให้รัฐในทันที

" รายย่อยเข้าถึงพันธบัตรง่ายขึ้น เงินที่ลงทุนก็ไม่ต้องเยอะเหมือนแต่ก่อน ขณะเดียวกันก็ได้สิทธิประโยชน์จากภาษีด้วย"

อย่างไรก็ตาม ภาครัฐก็มีนโยบายทยอยออกพันธบัตรออมทรัพย์มาเป็นงวดๆ งวดละเดือน แบ่งเป็นเดือนสิงหาคม 5 พันล้าน กันยายน 5 พันล้าน ตุลาคม 2 พันล้าน พฤศจิกายน 2 พันล้าน และธันวาคม 2 พันล้านบาท ดังนั้นจึงเชื่อว่าจะมีนักลงทุนทั่วไปเก็งกันว่าอัตราผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยจะสูงขึ้นในล็อตหลังๆ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด

สันติบอกว่า ตลอดทั้งปีมีการคาดกันว่าอัตราดอกเบี้ยจะปรับขึ้นแต่คงไม่ได้เห็นขยับขึ้น 1-2% เพราะจากการเฝ้าจับตาดูพบว่า เดือนสิงหาคมดอกเบี้ยขึ้นแรง แต่ปัจจุบันไม่ได้ขยับมากนัก หรือบ่งชี้ว่าดอกเบี้ยในตลาดเงินไม่ได้ปรับขึ้นทุกวัน แต่จะวิ่งแถวนั้นอยู่พักใหญ่

" ขอเตือนว่า ถ้าจะรอคงยาวเลย เพราะคิดว่าดอกเบี้ยพันธบัตรชุดใหม่ออกมาช่วงปลายปีดอกเบี้ยจะสูงกว่าที่ให้ในปัจจุบัน ซึ่งถ้ายังรีรอไม่รีบจอง บอกได้เลยว่าอาจไม่ได้ของ เพราะซัพพลายอาจน้อยลง"

สันติแนะนำเจ้าของเงินออม ที่เริ่มต้นคำนวณผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยพันธบัตรที่ต่างกันไม่กี่เบสิสพอยต์ ไม่ควรเกี่ยงเรื่องแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่จะปรับขึ้นอีกในอนาคต

แต่ก็ยังยืนยันว่า ดอกเบี้ยยังอยู่ในทิศทางขาขึ้น โดยเห็นสัญญาณจากธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด ที่เชื่อว่ายังพูดถึงนโยบายดอกเบี้ยที่จะออกมากำราบเงินเฟ้อ

ขณะที่ตลาดเงินในประเทศคาดกันว่าภายใน 3 ปีดอกเบี้ยจะปรับขึ้นตามที่คาดกันไว้ โดยไตรมาส 1-2 การปรับขึ้นอาจจะแรง จนน่าตกใจ แต่ยังเชื่อว่าตลอดทั้งปีคงยังไม่เห็นดอกเบี้ยปรับขึ้น 1-2% ตรงกันข้ามคนส่วนใหญ่กลับกลัวว่าดอกเบี้ยจะปรับขึ้นยกแผง ซึ่งเชื่อว่าดอกเบี้ยจะค่อยๆปรับขึ้นมากกว่า

สันติคะเนว่า การปรับดอกเบี้ยอาร์พี 14 วัน ยังห่างจากดอกเบี้ยเฟด ประมาณ 0.75 เบสิสพอยต์ ถือว่าห่างมากในรอบ 2 ปี จึงคาดว่าตลาดเงินบ้านเราจะขยับดอกเบี้ยให้เร็วเพื่อรักษาความห่างเอาไว้ ขณะเดียวกันภาครัฐก็ต้องดำเนินนโยบายรักษาตัวเลขจีดีพีให้เหมาะสมควบคู่กันไปด้วย

สิ่งหนึ่งที่ยืนยันว่าภาครัฐยังคงรักษาตัวเลขจีดีพีไม่ให้ถอยหลัง โดยไม่เร่งกดดันปรับดอกเบี้ยให้ขึ้นแรงๆ ก็เพราะหวั่นผลกระทบจากดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นเร็ว และแรงจะทำให้คนหันไปฝากเงิน ลดการบริโภค ต้นทุนทางการเงินจะสูง ภาคเอกชนจะลดการลงทุนหรือไม่ขยายการลงทุน ถึงวันนั้นตัวเลขจีดีพีอาจสะดุด

ในฝั่งของสหรัฐเองก็คงไม่คิดว่าอัตราดอกเบี้ยจะต้องขึ้นเร็วเหมือนครั้งก่อนๆ เว้นแต่จะมีอะไรมาทำให้ช็อค ช่วงนี้จึงอธิบายได้ว่าดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้นจริง แต่คงไม่ปรับขึ้นจนน่าตกใจ

สันติ แนะนำกองทุนใหม่ ซึ่งอยู่ในช่วงภาวะเงินเฟ้อที่ระบาดไปทั่วโลก ทำให้มีการศึกษาแนวคิดจัดตั้งกองทุน "อินเฟลชั่น อินเด็กซ์ บอนด์" ที่น่าจะเปิดตัวในปีหน้า กองทุนดังกล่าวจะให้ผลตอบแทนที่สามารถป้องกันความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อได้ โดยผู้ลงทุนจะได้ผลตอบแทน บวกภาษี พรีเมี่ยมเผื่อเงินเฟ้อ รวมถึงมูลค่าไถ่ถอนเมื่อครบกำหนด ก็อาจขยายตามภาวะเงินเฟ้อ

นอกจากนั้น กองทุนเอเชีย บอนด์ ฟันด์ เฟส 2 (ABF2)ที่จะคลอดตามมาก็ถือเป็นกองทุนที่น่าสนใจ คาดเดือนตุลาคมนี้จะเปิดให้จองโดยมีมูลค่า 5 พันล้านบาท กองทุนดังกล่าวอาจมีระดับความเสี่ยงที่ขึ้นกับความน่าเชื่อถือของแต่ละประเทศ เพราะกองทุนนี้เกิดขึ้นมาจากธนาคารกลางเอเชีย 11 ประเทศนำทุนสำรองมาลงขันซื้อพันธบัตรในประเทศสมาชิก จากนั้นนักลงทุนก็สามารถลงทุนโดยนำเงินไปลงทุนในพันธบัตรที่ขึ้นชื่อว่าเป็นพันธบัตรรัฐบาลแต่ละประเทศได้

อย่างไรก็ตามสำหรับนักลงทุนทั่วไป สันติบอกว่า ไม่ควรนำพันธบัตรอายุ 5 ปีมาเทียบกับเงินฝากออมทรัพย์ เพราะสภาพคล่องต่างกัน ปัจจุบันเงินฝากประจำอายุยาวสุดอยู่ที่ 3% หักภาษี 15% ก็ยังน่าสนใจน้อยกว่า พันธบัตรรัฐบาล...


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.