|
ผ่อนกฎเหล็กคุมกองทุนซื้อบี/อี TBDCรับหน้าเสื่อตีราคาซื้อคืน
ผู้จัดการรายวัน(30 กันยายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ก.ล.ต.คลายกฎเหล็กคุมกองทุนซื้อตั๋วบี/อี อีกรอบ หลังสมาคมบลจ.โวยเกณฑ์ใหม่ที่จะมีผลในกลางปีหน้าที่บีบให้ต้องมี Firm bid ทำวงการกองทุนป่วน ล่าสุด ก.ล.ต.แก้เกณฑ์ใหม่ด้วยการดึงศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทย (TBDC) ทำหน้าที่ Firm bid ส่วนตั๋วบี/อี ที่ไม่มีการจัดเรตติ้งจะต้องมีผู้ซื้อเกินกว่า 10 ราย และจะต้องมี บลจ. ร่วมซื้อไม่น้อยกว่า 3 ราย ยังคงเหมือนเดิม
แหล่งข่าวจากวงการกองทุน เปิดเผยว่า หลังจากที่ตัวแทนจากสมาคมได้หารือกับคณะกรรมการสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เมื่อวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา เพื่อขอผ่อน ปรนเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การลงทุนในตั๋วเงินระยะสั้น (บี/อี) ที่ก.ล.ต.ได้ประกาศในช่วงก่อนหน้า และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2549 นั้น สมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เห็นว่าเป็นข้อจำกัดการลงทุน และจะส่งผลกระทบต่อการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้
สำหรับสาระสำคัญที่สมาคมบลจ.หยิบยก เพื่อ นำเสนอก.ล.ต.เพื่อให้ดำเนินการแก้ไขคือ เรื่องของการกำหนดให้ต้องมีผู้พร้อมเสนอซื้อ (Firm bid) ซึ่ง จุดนี้ยังมีปัญหา เพราะปัจจุบันการบันทึกบัญชีตามราคาตลาด (mark to market) ของแต่ละบลจ.ไม่เหมือนกัน ซึ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในราคา และทำให้ไม่มีตัวกลางเข้ามาทำหน้าที่ผู้พร้อมเสนอซื้อ
"สมาคมจึงเสนอให้มีตัวกลางเข้ามาทำหน้าที่ Firm bid ซึ่งได้ข้อสรุปเรียบร้อยแล้วว่า จะให้ศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทย เข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวกลางกำหนดราคารับซื้อคืน นอกเหนือจากที่ก.ล.ต.ได้กำหนดให้ตั๋วบี/อี หรือหุ้นกู้ต่างๆ ต้องขึ้นทะเบียนกับศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทย"แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวกล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น และทำให้ก.ล.ต.ต้องเข้ามาดูแลในจุดนี้ เนื่องจากการ กำหนดราคาพร้อมรับซื้อ ในช่วงที่ผ่านมา การบันทึกราคาของบลจ.บางแห่งไม่สะท้อนถึงความเป็นจริง แม้จะเป็นการลงทุนในตราสารชนิดเดียวกัน ซึ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ และไม่เป็นธรรม สำหรับบาง บลจ. ที่บันทึกบัญชีตามมูลค่า ที่แท้จริง
ส่วนการลงทุนของกองทุนรวม และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในตั๋วบี/อี ที่ไม่ได้รับการจัดอันดับจะต้องมีผู้ซื้อเกินกว่า 10 ราย และจะต้องมี บลจ. ร่วมซื้อไม่น้อยกว่า 3 ราย ก.ล.ต.ยังยืนยันหลักเกณฑ์ตามเดิม เนื่องจากเป็นการรักษาผลประโยชน์ให้แก่นักลงทุนรายย่อย
แหล่งข่าว กล่าวว่า หลังจากที่ก.ล.ต.แก้ไขประกาศใหม่ เชื่อว่าจะทำให้การลงทุนผ่านตั๋วบี/อี มี ความคล่องตัวมากขึ้น เนื่องจากมีตัวกลางเข้ามาทำหน้าที่กำหนดราคากลางในการรับซื้อคืน และที่สำคัญจะทำให้ความน่าเชื่อถือในด้านข้อมูล ผลการดำเนินงานของบลจ.เป็นมาตรฐานเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ในแง่ของการกำหนดให้การลงทุนในตั๋วบี/อี ที่ไม่มีการจัดเรตติ้ง จะต้องมีบลจ.ถึง 3 รายเข้าไปลงทุน ถือว่ายังเป็นข้อจำกัดในการลงทุน หรือทำให้ผู้ประกอบการที่จะระดมทุนผ่านการออกตั๋วบี/อี มีข้อจำกัด และทำให้ตลาดบี/อี ไม่ได้รับความ สนใจจากผู้ออก และกองทุนรวมก็อาจไม่สนใจที่จะออกกองทุนใหม่ เนื่องจากเห็นว่ามีความยุ่งยาก ซึ่งจุดนี้ ก.ล.ต.ควรที่จะมองในแง่ของการกำหนดมูลค่า การลงทุนของแต่ละกองทุน มากกว่าที่จะกำหนดให้ว่าต้องมีกี่กองทุนเข้าไปลงทุน ถึงจะนำมาเสนอขายหน่วยลงทุนให้กับประชาชนทั่วไปได้
นอกจากนี้ ยังพบว่าบลจ.หลายแห่งในขณะนี้ค่อนข้างไม่เห็นด้วยกับหลักเกณฑ์ของ ก.ล.ต.เกี่ยวกับการโฆษณากองทุน เพราะหลักเกณฑ์ที่ประกาศออกมาไม่สะท้อนกับความเป็นจริง ซึ่งเห็นได้จากการที่นักลงทุนจะเข้าไปซื้อหน่วยลงทุน ไม่ว่าจะเป็นผ่านโบรกเกอร์ หรือผ่านเครือข่ายสาขาของธนาคารพาณิชย์ ตามปกติแล้วนักลงทุนแต่ละคนย่อมถามถึงผลตอบแทนในอนาคต ซึ่งแต่ละแห่งต้องตอบคำถามกับนักลงทุนอยู่แล้ว แต่การที่ก.ล.ต.มาตีกรอบไม่ให้ผู้บริหารกล่าวถึงผลตอบแทน แล้วนักลงทุนจะสามารถทราบผลตอบแทนได้อย่างไร
"ที่สำคัญหากผู้บริหารของบลจ.เป็นผู้ออกมาให้ข่าวเกี่ยวกับผลตอบแทนแล้ว แน่นอนว่าสิ่งที่เขาพูดจะเป็นสิ่งที่ผูกมัด และก่อนที่ผู้บริหารจะตัดสินใจกล่าวถึงผลตอบแทนในอนาคต เชื่อว่าทุกฝ่ายต่างได้มีการประเมินถึงแนวโน้มรายได้ในอนาคตอยู่แล้ว เรื่องนี้ก.ล.ต.ไม่น่าเข้ามาควบคุม แต่สิ่งที่ควร เข้ามามีบทบาทน่าจะเป็นการตรวจสอบว่า หลังจากที่ให้ความเห็นเรื่องของผลตอบแทน แล้วเขาสามารถทำได้หรือไม่ หากไม่สามารถทำได้ ก.ล.ต. อาจเข้ามาตรวจสอบหรือกำหนดบทลงโทษในอนาคตก็ไม่น่าจะมีปัญหา" แหล่งข่าวกล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|