|
1ต.ค.เบนคิวทำตลาดมือถือซีเมนส์เต็มตัว "สุวรรณี"หันสร้างเอนเตอร์ไพรส์เน็ตเวิร์ก
ผู้จัดการรายวัน(30 กันยายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
หลังเบนคิวซื้อกิจการมือถือซีเมนส์ยันลูกค้ายังได้รับการบริการอย่างดี พร้อมเตรียม เปิดตัวโปรดักต์ใหม่ 4 รุ่นไตรมาสหน้า "สุวรรณี สิงห์ฤาเดช" ย้ายไปดูแลเอนเตอร์ไพรส์ เน็ตเวิร์กโดยมีภารกิจแรกที่ต้องทำคือ เพิ่มรายได้ เพิ่มยอดขาย ขยายชั่นแนล
สุวรรณี สิงห์ฤาเดช Vice President Enterprise Networks บริษัท ซีเมนส์ จำกัด กล่าวว่า ได้เข้ามานั่งในตำแหน่งผู้บริหารซีเมนส์ ดูแล เอนเตอร์ไพรส์เน็ตเวิร์กควบกับตำแหน่งเดิมที่ดูด้านโมบายแล้วตั้งแต่ 3 เดือนที่ผ่าน โดย ส่วนหนึ่งเป็นการปรับทีมงานหลังซีเมนส์ตกลงขายกิจการโทรศัพท์มือถือให้กับเบนคิว โดยหลังจากวันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไปคนของเบนคิวก็จะเป็นผู้ทำตลาดโทรศัพท์มือถือของซีเมนส์อย่างเต็มตัว
เบนคิวเข้าซื้อกิจการโทรศัพท์มือถือของ ซีเมนส์เมื่อเดือนมิถุนายนปี 2005 ที่ผ่านมา ส่วน หนึ่งของสัญญาระบุว่าเบนคิวจะใช้โลโก้ซีเมนส์ในการทำตลาดได้ 5 ปี ขณะที่ เจอรี่ หวัง ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด เบนคิว คาดว่าในประเทศที่แบรนด์เบนคิวยังไม่ติดตลาดหรือไม่เป็นที่รู้จักก็ยังจะใช้แบรนด์ซีเมนส์ไปก่อนแต่ไม่เกิน 18 เดือน
แม้จะอยู่ในระหว่างการโอนงานด้านการขายแต่ซีเมนส์ก็ยังเปิดตัวเครื่องรุ่นใหม่ออกมาคือ CX75 และ A 70 พร้อมมีแผนเปิดตัวเครื่องรุ่นใหม่ประมาณไตรมาสหน้าอีก 4 รุ่นคือ C75, SL75, S75 และ M75 พร้อมให้ความมั่นใจกับลูกค้าเรื่องการบริการหลังการขายโดยจะมีบริษัทที่เข้ามาดูแลลูกค้าต่อคือ SEMICTEX
ปัจจุบันซีเมนส์มีส่วนแบ่งในตลาดประมาณ 16% หรือประมาณอันดับ 5 ในตลาด ด้วยจำนวน เครื่องในตลาดโลกประมาณ 8 ล้านเครื่อง
สุวรรณี กล่าวว่า หลังเบนคิวเข้ามาดูแลมือถือซีเมนส์เต็มตัว ตนก็จะย้ายมาเป็นผู้บริหารในส่วนเอนเตอร์ไพรส์เน็ตเวิร์ก โดยในส่วนของเอนเตอร์ไพรส์เน็ตเวิร์กของซีเมนส์จะเน้นหนักในธุรกิจที่เกี่ยวกับคอมมูนิเคชัน อย่างระบบโทรศัพท์ PABX, ดาต้าเน็ตเวิร์ก, VOIP, คอลเซ็นเตอร์, โฮเทล โซลูชัน
ภารกิจแรกที่สุวรรณีต้องทำทันทีที่เข้านั่งในตำแหน่งผู้บริหารใหม่เอนเตอร์ไพรส์เน็ตเวิร์ก คือ การเพิ่มยอดขาย เพิ่มรายได้ รวมถึงการเพิ่ม ช่องทางการขายของส่วนนี้ให้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้จากปี 2547 ที่ผ่านมา ส่วนเอนเตอร์ไพรส์เน็ตเวิร์กมีรายได้ประมาณ 400 ล้านบาท
ผู้บริหารซีเมนส์กล่าวว่า ที่ผ่านมาตนใช้เวลา กับการทำงานในซีเมนส์มาประมาณ 10 ปี เริ่มจากจุดยากสุดคือการสร้างแบรนด์ เพราะที่ผ่านมาคนจะรู้จักชื่อซีเมนส์ แต่คนไม่รู้ว่า เรามีแบรนด์ มือถือทำตลาดด้วย มาถึงปี 2001 ซึ่งเป็นปีที่ซีเมนส์บูมอย่างมาก เป็นผลต่อเนื่องมาจากการทำตลาดและการออกตัวของโปรดักต์ในช่วงเวลา ที่เหมาะสม โดยในช่วงนั้นซีเมนส์เป็นรายแรกที่เปิดตัวในตลาดโลวเอนดเป็นรายแรก ด้วยแนวคิดที่ว่า ให้ในสิ่งที่ลูกค้าต้องการเท่านั้น ฟังก์ชันที่ไม่ต้องการใช้ก็ไม่ควรมี ทำให้สามารถทำตลาดนี้ได้อย่างดี
กับความแตกต่างของการทำงานด้านเครื่อง ลูกข่ายกับงานด้านเน็ตเวิร์ก สุวรรณี กล่าวว่า แตกต่างกันอย่างมาก เครื่องลูกข่ายโทรศัพท์มือถือเป็นตลาดแมส มองไปทางไหน ทุกคนก็เป็นลูกค้าของเราได้ อาจจะมีการแยกเซกเมนต์การทำตลาดลูกค้าไปตามกลุ่มบ้างตามความเหมาะสม แต่เน็ตเวิร์ก เป็นการทำตลาดตามแอ็กเคานต์ไม่ได้ทำตลาดถึงตัวคน มุ่งไปที่องค์กร หรือการใช้ตามบ้าน การทำตลาดลูกค้าประเภทนี้ต้องสร้างความเข้าใจในแบรนด์ ตัวสินค้า เพราะลูกค้าพวกนี้จะไม่ได้ซื้อสินค้าบ่อย ซื้อระบบ PABX ไปแล้วหนเดียว อีก 5-10 ปีถึงคิดซื้อใหม่ และจะออกมาหาข้อมูลเมื่อต้อง การซื้อเท่านั้น ไม่เหมือนโทรศัพท์มือถือเปลี่ยนกันทุกไตรมาส
"ความยากในการทำงานจะเป็นคนละแบบ ซึ่งที่ผ่านมาตนมีประสบการณ์ในวงการไอทีมาก่อนก็สามารถเอามาปรับใช้ได้"
กับบทบาทใหม่ในเอนเตอร์ไพรส์เน็ตเวิร์ก สุวรรณี คือ เพิ่มยอดขาย เพิ่มรายได้ และขยายช่องทางการตลาดใหม่มากยิ่งขึ้น โดยอาศัยชื่อเสียงของซีเมนส์ซึ่งมีชื่อเสียง ในตลาดโลกในธุรกิจนี้ไม่แพ้การทำตลาดโทรศัพท์มือถือ ว่าจะสามารถขยายตลาดได้มากขึ้นเช่นกัน โดยจะชูจุดขายของโปรดักต์ซีเมนส์ที่จับตลาดกลุ่มคนที่ต้องการสินค้าไฮเทคโนโลยีที่มีความไว้วางใจได้เป็นหลัก
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|