|
จี้รัฐรื้อนโยบายรับมือค้าเสรี ไม่ปรับตัวอีก2ปีก้าวสู่วิกฤต
ผู้จัดการรายวัน(30 กันยายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ผ่าทางตันอุตสาหกรรมไทยนโยบายรัฐต้องปรับเปลี่ยน รับมือให้ทันกระแสโลกาภิวัฒน์ โดยเฉพาะ FTA หวั่น ขาดดุลฯเพิ่มมากขึ้นเหตุไทยไม่ส่งเสริมการใช้วัตถุดิบในประเทศ นโยบายพัฒนาเครื่องจักรและโลหการที่เป็นต้นทุนอุตฯทั้งระบบในอดีตพลาดทำให้ต้องนับหนึ่งใหม่ เอกชนจี้ใช้จังหวะนี้เร่งปรับตัวหวั่น 2 ปีจะลำบาก ชี้แนวโน้ม ดบ.น้ำมัน ค่าแรง เงินเฟ้อขยับเพิ่มทุกด้าน เตือนส่งเสริมอุตฯโตเร็วต้องระวังเรื่องย้ายฐานผลิต
วานนี้ (29 ก.ย.) สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ได้จัดสัมมนาเรื่อง "ความท้าทายของอุตสาหกรรมไทยในเวทีเศรษฐกิจโลก" ซึ่งมีนายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เกียรติกล่าวเปิดการสัมมนา
นายเกียรติพงษ์ น้อยใจบุญ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า แม้ว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมไทยจะต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงหลายด้านโดยเฉพาะต้นทุนที่เพิ่มจากระดับราคาน้ำมันสูงขึ้นแต่การส่งออกก็ยังคงขยายตัวตามเป้าหมายในปีนี้เฉลี่ย 15-16% อย่างไรก็ตาม การทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีหรือ FTA กำลังทำให้ไทยเริ่มมีภาวะการ ขาดดุลทางการค้ามากขึ้น เนื่อง จากอุตสาหกรรมไทยแม้จะส่งออกเพิ่ม แต่กลับต้องนำเข้าวัตถุดิบ และเครื่องจักรเข้ามามาก
"นโยบายปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมถือว่าเป็นสิ่งดี แต่จะต้องทำให้ดีขึ้นกว่านี้ ทำอย่างไรให้ลดใช้พลังงานเพื่อลดการนำเข้า ลดการนำเข้าสินค้าทุน เชื่อมโยงอุตสาหกรรม เพื่อลดการขาดดุลทางการค้า ช่วงนี้ถือว่าเป็นโอกาสที่เป็นรัฐบาลเดียว นโยบายเดียวจะมีส่วนพัฒนาอุตสาหกรรมไทยได้อย่างมาก แต่ที่ผ่านมามีการเปลี่ยนรัฐมนตรีอุตสาหกรรมถึง 6 ท่าน นโยบายบางอย่างก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา หากอุตสาหกรรมไทยไม่มีการปรับตัวอีก 2 ปีทุกอย่างก็จะลำบาก"
ทั้งนี้ การเจรจา FTA กับประเทศต่างๆ ควรมองภาพรวมและต้องทำรายละเอียดว่าอุตสาหกรรมใดได้เปรียบ-เสียเปรียบ และหามาตรการรองรับว่าจะให้อุตสาหกรรมที่เสียเปรียบและในที่สุดแข่งขันไม่ได้ไปอยู่ในจุดใดไม่ใช่ทิ้งไปเลย ขณะเดียวกันก็จะต้องแบ่งกลุ่มสนับสนุนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ กลาง และเล็กที่ต่างกันไม่ใช่ใช้นโยบายเดียวกันไปหมด ซึ่งนโยบายรัฐมีส่วนสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมไปพร้อมๆ กับการปรับตัวของเอกชน ตัวอย่างความผิดพลาดของนโยบาย ที่ปัจจุบันมีผลให้อุตสาหกรรมไทยพัฒนาช้าคือ การไม่ส่งเสริมอุตสาหกรรมเครื่องจักรและโลหการ และทำให้อุตสาหกรรมนี้ตายไปก่อนหน้าด้วยการไปทำให้ภาษีนำเข้าจากต่างประเทศถูกแต่วัตถุดิบในประเทศแพง ในที่สุดอุตสาหกรรมนี้ของคนไทยต้องตายไปและรัฐเพิ่งจะเริ่มมาฟื้นฟู
จี้ก้าวให้ทันกระแสการค้าโลก
นายสมภพ อมาตยกุล รองประธานหอการค้าไทย กล่าวว่า แนวโน้มราคาน้ำมันคาดว่าจะทรง ตัว ระดับสูง อัตราดอกเบี้ยที่คาดว่า จะยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีผลให้เงินเฟ้อปรับเพิ่มตาม และแน่นอนว่าจะสะท้อนมายังค่าแรง ดังนั้นต้นทุนของอุตสาหกรรมมีทิศทางปรับขึ้นตลอดเวลา ขณะที่อุตสาหกรรมไทยที่มีอัตราเติบโตส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่ย้ายฐานมาจากต่างประเทศและมาอาศัยค่าแรงที่ต่ำของไทย เช่น ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และ ชิ้นส่วนฯ เหล่านี้ต้องระวังเพราะท้ายสุดก็จะมีการย้ายฐานออกไปอีกไม่มีความแน่นอน ขณะเดียวกัน ศูนย์กลางการค้าก็เริ่มเปลี่ยนไปจากอดีตตลาดใหญ่อยู่ที่สหรัฐฯ และยุโรป แต่ปัจจุบันเริ่มย้ายมาอยู่ยังจีน และอิเดีย ดังนั้นเอกชนและรัฐบาลจะมัวไปส่งเสริมอุตสาหกรรมที่โต หรือตลาดที่โตในอดีตไม่ได้อีกต่อไปแล้ว
จักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ต้นทุนของประเทศที่ผ่านมามีเพียง ค่าแรง ทรัพยากรธรรมชาติ เงินทุน แต่ขณะนี้มีหลายปัจจัยเข้ามา มีส่วนอย่างมาก ทั้งการจัดการ คุณภาพแรงงาน สิ่งแวดล้อม ฯลฯ และปัจจุบันมองกันถึง Value Innovation หรือการเพิ่มมูลค่าจาก การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ใหม่ๆ ซึ่งปัจจัยนี้เป็นสิ่งท้าทายสำหรับไทยที่ต้องพร้อมรับมือกับกระแสการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างมาก หาก 5 ปีไทยไม่เร่ง ปรับตัวอุตสาหกรรมไทยจะแข่งขันได้ยาก
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|