รัฐบาลไทยกับการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮา


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

การเจรจาการค้าพหุภาคี (Multilateral Trade Negotiation) รอบใหม่เริ่มต้นแล้ว

ภายหลังจากที่การเจรจาการค้ารอบอุรุกวัย (Uruguay Round) ยุติลงในเดือนธันวาคม 2537 จนมีการก่อตั้งองค์การการค้าโลก นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2538 เป็นต้นมา ความไม่พอใจระเบียบการค้าระหว่างประเทศฉบับใหม่ยังคงดำรงอยู่ ทั้งในหมู่ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและประเทศในโลกที่สาม

ประเทศมหาอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ต้องการผลักดันให้ภาคีองค์การการค้าโลกเปิดเสรีทางเศรษฐกิจในทุกๆ ด้านในระดับที่มากกว่าในปัจจุบัน

ประเทศโลกที่สามจำนวนไม่น้อย มีปัญหาในการปฏิบัติตามพันธะผูกพันในการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบอุรุกวัย และมีข้อกังขาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ว่า ประเทศด้อยพัฒนาได้ประโยชน์อะไรบ้างจากผลการเจรจาดังกล่าว

ในการประชุม WTO Ministerial Conference ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 9-14 พฤศจิกายน 2544 ณ นครโดฮา (Doha) ประเทศกาตาร์ (Qatar) ที่ประชุมมีมติให้เปิดการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบใหม่เริ่มต้นวันที่ 28 มกราคม 2545 และจบในวันที่ 1 มกราคม 2548 ด้วยเหตุที่มติดังกล่าวนี้ก่อเกิดในนครโดฮา การเจรจาการค้าพหุภาคีรอบ นี้ จึงมีชื่อเรียกว่า Doha Round

แต่การกำหนดกรอบเวลาการเจรจาเพียง 3 ปี นับเป็นการมองการณ์ข้างดีมากเกินไป ในประวัติการเจรจาการค้าพหุภาคี การเจรจารอบแรกๆ มักเป็นไปตามกรอบเวลา (ดูภาคผนวก) แต่ในการเจรจารอบอุรุกวัยต้องใช้เวลายาวนานและเกินกว่ากรอบเวลามาก โดยใช้เวลาถึง 8 ปี การเจรจารอบโดฮาคงตกอยู่ในสภาพ การณ์เดียวกัน ทั้งนี้ด้วยเหตุผลอย่างน้อย 3 ประการ กล่าวคือ

ประการแรก องค์การการค้าโลกในปัจจุบันมีภาคีสมาชิกถึง 140 ประเทศ นับเป็นองค์กรขนาดมหึมาและอุ้ยอ้าย ขนาดขององค์กรยิ่งใหญ่โตมากเพียงใด ความยากลำบากในการบรรลุข้อตกลงยิ่งมีมากเพียงนั้น โดยที่การบรรลุข้อตกลงในประเด็นสำคัญต้องเสียค่าโสหุ้ย (Transaction Cost) สูง ในอดีตกาล เมื่อ GATT/WTO มีสมาชิกจำนวนน้อย การบรรลุข้อตกลงเป็นไปได้ง่ายกว่าโดยเปรียบเทียบ

ประการที่สอง ประเด็นการเจรจาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศมีความละเอียดอ่อน และซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ ความละเอียดอ่อน และความซับซ้อนยิ่งทำให้การบรรลุข้อตกลงเป็นไปได้ยากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า องค์การการค้าโลกมีภาคีสมาชิกตั้งแต่จนสุดถึงรวยสุด

ประการที่สาม ในปัจจุบันมีขบวนการประชาชนและองค์กรเอกชนระหว่างประเทศ ที่ต่อต้านกระแสโลกานุวัตร และต่อต้านองค์กรโลกบาล รวมทั้งองค์การการค้าโลก การขับเคลื่อนของขบวนการประชาชนระหว่างประเทศ อาจทำให้การเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮาล้มเหลว

ทั้งๆ ที่การเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮาเริ่มต้นแล้ว แต่รัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร กลับมิได้เตรียมการในการเจรจา และมิได้มีนโยบายที่ชัดเจนว่า จะเจรจาอะไร และเจรจาอย่างไร

การกำหนดองค์กรที่มีหน้าที่ในการเจรจาการค้าพหุภาคีควรจะเป็นไปอย่างชัดเจน แม้จะมีการแต่งตั้งนายประจวบ ไชยสาส์น เป็นผู้แทนการค้าไทย (Thai Trade Repressentative = TTR) ดุจเดียวกับ USTR แห่งสหรัฐอเมริกา แต่นายประจวบไม่มีองค์กรและกำลังคนที่สั่งการได้ ต่างกับ USTR ที่มีการจัดองค์กรอย่างดียิ่ง ด้วยเหตุดังนี้ นับตั้งแต่ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนการค้าไทย นายประจวบจึงได้แต่นั่งตบยุง เนื่องจากไม่มีงานทำ

ความเป็นปรปักษ์และการแย่งชิงอำนาจหน้าที่ในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับกระทรวงต่างประเทศ เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไป การจัดองค์กรในการเจรจาการค้าพหุภาคี รวมทั้งการกำหนดอำนาจและหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงต่างประเทศให้ชัดเจน จึงเป็นวาระเร่งด่วน ในประการสำคัญ จะต้องพิจารณาถึงกำลังคนที่มีความรู้ความสามารถจากกระทรวงทั้งสอง และส่วนราชการอื่นๆ มาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ รัฐบาลมิควรปล่อยให้กระทรวงพาณิชย์ หรือกระทรวงต่างประเทศกระทรวงหนึ่งกระทรวงใดมีอำนาจในการเจรจาโดยเสรี เพราะการเจรจาการค้าพหุภาคีเป็นวาระแห่งชาติ สมควรที่รัฐบาลจะกุมวาระการเจรจา โดยคำนึงถึงประโยชน์ของสังคมโดยส่วนรวม ในการนี้ควรจะศึกษาการจัดองค์กรในการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบอุรุกวัย เพื่อสรุปบทเรียนสำหรับการจัดองค์กรสำหรับการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบใหม่นี้

การเจรจาการค้าพหุภาคีเป็นกระบวนการต่อรองทางการเมืองระหว่างประเทศ การรวมกลุ่มภาคีองค์การการค้าโลก เพื่อรวมพลังในการเจรจานับเป็นยุทธวิธีสำคัญ ในการเจรจารอบอุรุกวัย ไทยร่วมกับกลุ่ม CAIRNS และกลุ่ม ASEAN ในการรวมพลังในการเจรจา ในการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบใหม่ การรวมพลังในการ เจรจายังคงเป็นยุทธวิธีที่ใช้ได้ แต่ต้องมีการศึกษาอย่างถ่องแท้ว่า จะรวมพลังกับประเทศหรือกลุ่มประเทศใดในการเจรจาประเด็นใด เพราะการเจรจาการค้าระหว่างประเทศเป็นกระบวนการต่อรองผลประโยชน์ ดังนั้น จึงอาจต้องยอมเสียประโยชน์ในบางเรื่อง เพื่อแลกกับผลประโยชน์ในเรื่องอื่น

การเจรจารอบโดฮา ก็ดุจดังการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบก่อนๆ ที่ประเด็นหลักในการเจรจาอยู่ที่การเปิดเสรีทางการค้า ในการเข้าร่วมเจรจา รัฐบาลควรจะมีการศึกษาด้วยวิธีการ ทางวิทยาศาสตร์ว่า การเปิดเสรีในด้านต่างๆ ให้ผลดีและผลเสียอะไรบ้างแก่สังคมเศรษฐกิจไทย และกำหนดจุดยืนในการเจรจาจากผลการศึกษาเหล่านี้ว่า จะยอมเปิดเสรีในด้านใด และจะยอมเปิดเสรีระดับใด พร้อมทั้งกำหนดเงื่อนไขในการเปิดเสรี ขณะเดียวกันก็ต้องกำหนดจุดยืนให้ชัดเจนด้วยว่า จะไม่ยอมเปิดเสรีในด้านใด

การยอมเปิดเสรีทางการค้าด้านต่างๆ เป็นยุทธวิธีการเจรจาที่มีลักษณะตั้งรับ รัฐบาลควรรวมพลังกับกลุ่มประเทศต่างๆ ในการเล่นเกมรุกในการเจรจา หากตั้งรับอย่างเดียว อาจมีแต่ทรงกับทรุด เพราะสังคมเศรษฐกิจไทยต้องปรับตัวตามระเบียบการค้าใหม่ โดยที่กระบวนการปรับตัวที่มีต้นทุนที่ต้องเสีย

การเข้าสู่กระบวนการเจรจาการค้าพหุภาคี ต้องมีการจัดองค์กรที่เข้มแข็ง และมีประสิทธิภาพ อีกทั้งต้องมีการกำหนดยุทธวิธีและจุดยืนในการเจรจา ทั้งหมดนี้ต้องมีการศึกษาและวิจัยในระดับพื้นฐาน

รัฐบาลพรรคไทยรักไทยถึงเวลา 'คิดใหม่ ทำใหม่'



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.