|
อุตสาหกรรมไอทีรุ่งหรือร่วง วัดกันที่ "IP Management"
ผู้จัดการรายสัปดาห์(29 กันยายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
"IP Management" กำแพงด่านสำคัญ เบิกร่องอุตสาหกรรมไอทีไทยเติบโตอีกมหาศาล ระบุปัญหาจารกรรมซอฟต์แวร์ จุดบั่นทอนการยกระดับประเทศสู่สากล ไมโครซอฟท์เดินหน้าสเต็ปต่อเนื่อง มุ่งสร้างระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยผ่านการเรียนรู้ ส่งผู้บริหารระดับสูง "แบรด สมิธ" เสนอแนวทางบริหารจัดการด้านทรัพย์สินทางปัญญา ไล่ตั้งแต่ระดับรัฐบาล สถาบันการศึกษา และผู้นำในอุตสาหกรรมไทย สานโครงการความสัมพันธ์ไทย-ไมโครซอฟท์ ในฐานะหุ้นส่วน ต่อเนื่องจากการเยือนไทยของ "บิล เกตส์"
"ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการสร้างและปกป้องนวัตกรรม ซึ่งถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญา เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยยกระดับประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้าในภาคอุตสาหกรรมระดับโลกในอนาคต" เป็นคำกล่าวของ แบรด สมิธ รองประธานอาวุโส ที่ปรึกษาทั่วไปและเลขาธิการองค์กร ฝ่ายกฎหมายและองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น ซึ่งรับผิดชอบเกี่ยวกับงานด้านกฎหมายและกิจกรรมความสัมพันธ์กับภาครัฐ อุตสาหกรรมและชุมชน โดยถือเป็นผู้มีบทบาทสำหรับในด้านทรัพย์สินทางปัญหา และได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยเมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา
การมาเยือนเมืองไทยของ แบรด สมิธ ถือเป็นความต่อเนื่องของไมโครซอฟท์ที่ต้องการสานต่อโครงการต่างๆ หลังจากที่ "บิล เกตส์" ได้มาเยือนประเทศไทยเมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา และได้มีการนำเสนอโครงการต่างๆ ให้กับประเทศไทย
ครั้งนี้จึงเสมือนเป็นสเต็ปที่สองที่ แบรด สมิธ จะต้องเข้ามาประสานกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลหลายราย รวมทั้งเข้าร่วมการประชุมกับหน่วยงานภาครัฐ รัฐมนตรีและสถาบันการศึกษา และเข้าร่วมการอภิปรายโต๊ะกลมกับผู้นำในวงการอุตสาหกรรม เพื่อชี้ให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องเห็นถึงคุณค่าของนวัตกรรมและองค์ประกอบหลักในการจัดการนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ที่แข็งแกร่ง
เขามองว่าการที่ทำให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แข็งแกร่ง จะเป็นฐานที่สามารสร้างความเติบโตไปยังอุตสาหกรรมต่างๆ ให้เติบโตตามไปด้วย โดยเฉพาะอย่างอุตสาหกรรมไอทีของประเทศไทย ยังมีโอกาสการเติบโตขึ้นอีกมาก หากมีการดูแลเรื่องของการบริหารจัดการด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IP Management)
ตัวอย่างการสร้างระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ระดับโลก คือการที่ไมโครซอฟท์ได้ทำงานร่วมกับพันธมิตรกว่า 750,000 รายทั่วโลก ที่ประกอบด้วย ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ ผู้ให้บริการและบริษัทที่เป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างใกล้ชิด ปัจจุบันไมโครซอฟท์ได้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องด้านการพัฒนาโปแกรมที่สามารถทำให้ไมโครซอฟท์ ลูกค้า พันธมิตรและคู่แข่งสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของไมโครซอฟท์
"เราได้ทำงานร่วมกับพันธมิตรในส่วนของการใช้ลิขสิทธิ์ร่วมกันเพื่อเพิ่มรายได้และลดความขัดแย้งเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งในไทยเอง เรามุ่งสร้างระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ที่แข็งแกร่งผ่านการเรียนรู้ และเป็นพันธมิตรที่เสมือนการเป็นหุ้นส่วนร่วมกัน"
แบรด สมิธ บอกว่า จากผลการสำรวจของบริษัทจูปิเตอร์ ระบุว่าซอฟต์แวร์ของไมโครซอฟท์สามารถทำงานร่วมกับระบบไอทีอื่นๆ ภายในองค์กรหรือหน่วยงานได้เป็นอย่างดี และเชื่อว่านวัตกรรมของไมโครซอฟท์จะสามารถเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์หลากหลายบนเทคโนโลยีอื่นๆ รวมทั้งวิธีการใหม่ในการจัดการและเข้าถึงข้อมูลที่มีกฎหมายคุ้มครอง
ทั้งนี้มาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล อย่างเช่นมาตรฐานเปิด XML ทำให้ระบบและอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งก่อนหน้านี้แยกกันสามารถสื่อสารและทำงานร่วมกันได้โดยไม่จำกัดภาษาโปรแกรม จุดนี้เองถือเป็นปัจจัยสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์มีความก้าวหน้าเมื่อการทำงานร่วมกันของไอซีทีรุ่งเรืองขึ้น
และที่ผ่านมากับการเปิดตัวโครงการ Thailand.Net ถือเป็นกลยุทธ์ที่จะสร้างศูนย์กลางการพัฒนาซอฟต์แวร์ระดับโลกบนเทคโนโลยีเว็บเซอร์วิส มีการคาดการณ์ว่าเว็บเซอร์วิสจะมีมูลค่าสูงถึง 32,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2553
แบรด สมิธ กล่าวว่า ไมโครซอฟท์ต้องการช่วยรัฐบาลสร้างวัฒนธรรมทางด้านนวัตกรรมให้เกิดขึ้น ส่งผลให้ไทยสามารถสร้างเทคโนโลยีที่มีมูลค่าสูงและสามารถส่งออกได้ ด้วยการอบรมนักพัฒนาซอฟต์แวร์ 69,000 ราย และนักเรียนอีกหลายแสนคน และในอนาคตจากการผลักดันเรื่องนี้จะส่งผลต่อรายได้ที่เข้าสู่ประเทศจำนวนมหาศาลและเกิดการสร้างงานอย่างมากมายทั่วประเทศ
นอกจากนี้ไมโครซอฟท์ยังให้ความสำคัญกับเรื่องการพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะที่สามารถช่วยพัฒนาอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเยาวชนภายใต้โครงการ Partners in Learning ผ่านครูอาจารย์ที่ผ่านการฝึกอบรมทักษะด้านไอซีทีกว่า 10,000 คน ถ่ายทอดสู่นักเกรียนจำนวน 422,000 คน ปรากฎการณ์เช่นนี้จะทำให้เกิดการสร้างการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และเป็นส่วนสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของไทยในอนาคต
อย่างไรก็ตามสิ่งต่างๆ ที่ไมโครซอฟท์พยายามผลักดัน จะไม่สามารถบรรลุผลสำเร็จหากขาดองค์ประกอบสำคัญเรื่องของการบริการจัดการทรัพย์สินทางปัญญาที่มีประสิทธิภาพ เพราะหากผลิตภัณฑ์ในแต่ละอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นไอที ภาพยนตร์ ดนตรี หรืออื่นๆ คิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ขึ้นมาแล้ว ถูกคนลอกเลียนแบบ ย่อมส่งผลกระทบในภาพกว้างของการพัฒนาประเทศในอนาคตอย่างแน่นอน
"ประเทศที่เจริญแล้วจะพบว่าตัวเลขของการจารกรรมซอฟต์แวร์จะต่ำกว่าประเทศกำลังพัฒนาค่อนข้างมาก นั่นคือความแตกต่างที่ทำให้ประเทศเหล่านั้นสามารถสร้างอุตสาหกรรมที่มีความแข็งแกร่งระดับโลก" แบรด สมิธ ย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของเรื่องการดูแลทรัพย์สินทางปัญญา"
เขาย้ำว่า ภาคไอทีของประเทศไทยมีโอกาส มีศักยภาพสูงที่จะเติบโต สิ่งที่ไมโครซอฟท์จะสนับสนุนประเทศไทยได้ คือการเสริมสร้างทักษะความรู้ให้กับคนมากที่สุด ผลักดันเรื่องของการบริหารทรัพย์สินทางปัญญาให้เกิดประสิทธิภาพและยอมรับใช้กันในวงกว้าง และท้ายที่สุดคือการพัฒนาซอฟต์แวร์ของไมโครซอฟท์ให้สามารถใช้งานกับเทคโนโลยีอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|