A Thread Across The Ocean


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

เคเบิลใต้น้ำข้ามแอตแลนติกสายประวัติศาสตร์

John Steele Gordon เป็นนักเขียนเรื่องเชิงประวัติศาสตร์ ที่มีผลงานเขียนมาแล้วมากมาย คราวนี้เขาหันมาจับเรื่องราวของคนและเทคโนโลยี ที่อยู่เบื้องหลังการวางสายเคเบิลใต้น้ำข้าม มหาสมุทรแอตแลนติกเส้นแรกของโลก ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ช่วง ที่ไม่ค่อยได้รับความสนใจหรือให้ความสำคัญเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่สายเคเบิลใต้น้ำข้ามแอตแลนติกสายแรกนี้ นับเป็นการเชื่อมการ สื่อสารระหว่างยุโรปและสหรัฐฯ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ซึ่ง นำไปสู่ยุค "ศตวรรษแห่งอเมริกัน" (American Century)

ในเวลาต่อมา Gordon สำรวจตรวจสอบประวัติศาสตร์สำคัญช่วงนี้อย่างละเอียดลออและตื่นเต้นเร้าใจ เพราะนับเป็นครั้งแรกในโลกที่การส่งข้อความเป็นระยะทางไกลมากๆ และด้วย ความรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน กลายเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ หนังสือของ Gordon ได้แสดงให้เราเห็นถึงความมุ่งมั่นและความ เพียรพยายามอย่างไม่ลดละ อันน่ายกย่องของบรรดาผู้อยู่เบื้องหลังโครงการยักษ์นี้ จนสามารถบรรลุถึงความสำเร็จในที่สุด

Gordon เริ่มต้นหนังสือของเขาด้วยการสรุปความก้าว หน้าทางเทคโนโลยีครั้งสำคัญๆ ที่ในที่สุดได้นำไปสู่การประดิษฐ์ คิดค้นโทรเลขขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี สำคัญๆ เหล่านั้นได้แก่ การทดลองเรื่องไฟฟ้าอันน่าหวาดเสียว ของ Benjamin Franklin การค้นพบวิธีส่งไฟฟ้าผ่านสายลวดของ Sir William Watson และการประดิษฐ์รหัสมอร์สของ Samuel F.B. Morse

หลังจากผู้คนเริ่มใช้สายโทรเลขส่งข้อความถึงกัน ด้วยความรวดเร็วกว่าวิธีเก่าๆ ถึงหลายพันเท่าแล้ว ยุโรปและสหรัฐฯ ต่างก็เร่งวางสายโทรเลขเชื่อมต่อภายในภูมิภาคและประเทศของตน โดยยังมิได้มีความคิดที่จะเชื่อมสายโทรเลขถึงกันแต่อย่างใด เพราะระยะทางระหว่างกันอันแสนไกลและการมีมหาสมุทรแอตแลนติกขวางกั้นอยู่ อย่างไรก็ตาม หลังจากฝรั่งเศสกับเกาะอังกฤษสามารถเชื่อมถึงกันได้สำเร็จ ด้วยเคเบิลที่ทอดวางอยู่ใต้ช่องแคบอังกฤษ (English Channel) แล้ว ความคิดที่จะเชื่อม 2 ฟากฝั่งของแอตแลนติกด้วยความมหัศจรรย์ของโทรเลข จึงเริ่มถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณากันอย่างจริงๆ จังๆ

รวมพลังนักลงทุนและวิศวกรที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

Cyrus Field สนับสนุนความคิดที่จะวางสายเคเบิลใต้น้ำที่จะต้องกินระยะทางยาวไกลถึง 2,000 ไมล์ และอยู่ในระดับความลึกถึง 2,600 ฟาทอม อย่างสุดตัว และเขาต้องใช้เวลาถึง 12 ปี ล้มแล้วลุกอีก 5 ครั้ง และต้องเผชิญกับความทุกข์ยากลำบากอีกนานัปการ จึงสามารถทำงานช้างซึ่งยังไม่เคยมีใครทำมาก่อนนี้ได้สำเร็จ Field เป็นคนเดียวในขณะนั้น ที่มีความสามารถมากพอที่จะรวบรวมสุดยอดนักวิทยาศาสตร์ นักลงทุนและวิศวกรในยุคนั้น ให้มารวมพลังกันทำความฝันอันยิ่งใหญ่นี้ให้กลายเป็นจริง ซึ่งจะเป็นการช่วยให้สหรัฐฯ ไม่ต้องถูกตัดขาดจากประเทศอื่นๆ ในโลกเพราะระยะทางอันห่างไกลอีกต่อไป

การอ่านเรื่องราวของครอบครัวและชีวิตในวัยเด็กของ Field ทำให้เราได้พลอยรับรู้ความเป็นไป ในยุคที่นิวยอร์กกำลังกลายเป็นศูนย์กลางทางการเงินของสหรัฐฯ ไปด้วย เมื่อ Cyrus Field สามารถถีบตัวเองขึ้นมาจากเสมียนหน้าร้านกระจอกๆ สู่นักธุรกิจค้าส่งกระดาษและวัสดุการพิมพ์ ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งของสหรัฐฯ ทรัพย์สินเงินทองของเขาก็พอกพูนใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับความฝันของเขา

ในขณะที่ความคิดที่จะวางสายเคเบิลใต้น้ำข้ามมหาสมุทร แอตแลนติกอันกว้างใหญ่ไพศาลเพิ่งจะเป็นรูปเป็นร่างในใจของนักธุรกิจอื่นๆ Cirus Field ได้ลงมือแล้ว เขามุ่งมาดปรารถนาที่จะแปรความคิดอันยิ่งใหญ่นี้ให้กลายเป็นจริงให้ได้ โครงการขนาดยักษ์ซึ่งไม่เคยมีใครทำมาก่อนนี้ จำเป็นต้องได้รับเงินทุนสนับสนุนจำนวนมหาศาลอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และต้องการความร่วมแรงร่วมใจอย่างสูงสุด และ Field คือผู้ที่สามารถนำนักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จจำนวนมาก ผู้ครอบครองเม็ดเงินจำนวนมหาศาล ให้มาจับมือกับเหล่าผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรม จนสามารถเนรมิตความฝันอันยิ่งใหญ่ของเขา ให้กลายเป็นจริงได้สำเร็จ

รากฐานทางเทคโนโลยีของโลกไร้พรมแดน

หลังจากล้มลุกคลุกคลานกับความสำเร็จ สลับกับความล้มเหลวมานับครั้งไม่ถ้วน ในที่สุด อภิมหาโครงการยักษ์นี้ก็บรรลุ ความสำเร็จ ในปี 1866 Cyrus Field สามารถวางเคเบิลใต้น้ำข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โลก ซึ่งเท่ากับเป็นการพิสูจน์ว่า นับแต่นี้ การวางสายเคเบิลใต้น้ำ เป็นระยะทางไกลๆ ไม่ใช่สิ่งที่ไกลเกินฝันอีกต่อไป และนับแต่นั้น ยุโรปกับสหรัฐฯ ก็จะไม่มีวันขาดการติดต่อสื่อสารกันอีกตลอดไป

หลังจากบอกเล่าเรื่องราวอันน่าทึ่งของคนที่อยู่เบื้องหลังโครงการประวัติศาสตร์นี้แล้ว Gordon ก็ได้ตอกย้ำความสำคัญของ เคเบิลข้ามแอตแลนติกสายแรกของโลกให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ด้วยการเปรียบเทียบขีดความสามารถและต้นทุนของเทคโนโลยีการสื่อสาร สมัยใหม่ในยุคนี้กับการส่งโทรเลข ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการสื่อสารในยุคแรกเริ่ม ท้ายสุด Gordon ยกย่อง Cyrus Field ว่าเป็นผู้ "วางรากฐานทางเทคโนโลยีของโลกไร้พรมแดน" ในปัจจุบัน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.